Business

รัฐบาลปล่อยมือการบินไทย ยื่นศาลขอล้มละลาย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู

นับถอยหลังการบินไทยเสนอครม.ลดทุนส่วนรัฐในการบินไทยลง 2% แปลงสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็น”บริษัท จำกัด” ก่อนยื่นศาลขอล้มละลาย เข้าสู่แผนกระบวนการฟื้นฟู รัฐหมดปัญญาใส่เงินอุ้มนับแสนล้าน หวั่นสร้างภาระ

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กำลังตกอยู่ในสภาพเหมือนคนป่วยหนัก  เพราะมีภาระหนี้สินล้นพ้น จนขาดสภาพคล่อง โดยสถานะการบินไทย ณ สิ้นปี 2562 มีสินทรัพย์รวม 256,665.15 ล้านบาท หนี้สินรวม 244,899.44 ล้านบาท รายได้รวม 188,954.45 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12,042.41 ล้านบาท เหลือส่วนของผู้ถือหุ้น 11,659.32 ล้านบาท คิดเป็นอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ถึง 21 เท่า  บริษัททั่วไปหาก D/E เกิน 5 เท่า  นับว่าอันตรายมากแล้ว

ส่วนผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 ปี พบส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดทุน ขณะภาระหนี้สินก็เพิ่มขึ้นทุกปี (ตามตาราง)

10May ผลกระทบการเงิน TG 2

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังกำลังดิ้นรนเยียวยา  หาเงินมาเสริมสภาพคล่องให้ 5.47 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ภายในองค์กรชั่วคราว

อย่างไรก็ดี ปีนี้ครบกำหนดชำระหุ้นกู้อีก 1 หมื่นล้านบาท รัฐบาลก็ต้องเข้าไปรับผิดชอบ เช่นเดียวกับปีหน้าการบินไทยจะต้องเพิ่มทุนอีก 8 หมื่นล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จ 1.4 แสนล้านบาท และยังมีหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดชำระอีก 6 หมื่นล้านบาท  ตัวเลขเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเข้ามารับผิดชอบทั้งหมดร่วม 2 แสนล้านบาท หากการบินไทยยังอยู่ในสภาพอย่างนี้

ผงะหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าทุนเท่าตัว  

จากข้อมูลพบว่า ปี 2562 การบินไทยขาดสภาพคล่องอย่างหนัก มีหนี้สินหมุนเวียนสูงถึง 84,367.07 ล้านบาท แต่มีเงินหมุนเวียน 49,534.13 ล้านบาท สภาพอย่างนี้ จ่ายเงินไม่ได้แล้ว เลวร้ายสุดวันนี้คือ ต้องล้มละลายแล้ว ถ้าเป็นบริษัทเอกชนคงล้มละลายไปแล้ว  จึงมีคำถามตามมามีอะไรดีกว่า ล้มละลาย ที่สำคัญหากแฟนฟื้นฟูการบินไทยไม่มีความชัดเจน การเอาเงินใส่เข้าไปกว่าแสนล้านบาทเป็นไปไม่ได้ สถานการณ์ตอนนี้ “ถ้าไม่ล้มละลาย แล้วมีอะไรดีกว่า”

ข้อเสนอต่อที่ประชุมคนร. ของบริษัทที่ปรึกษาครั้งล่าสุด ได้เสนอให้การบินไทย เปลี่ยนรูปแบบจากรัฐวิสาหกิจประเภท 2 เป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 ก่อน  ประเภทที่ 2 รัฐวิสาหกิจประเภทผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) และมีเป้าหมายในการแปรรูปในระยะยาว ส่วน ประเภทที่ 3 รัฐวิสาหกิจประเภทหารายได้ จากนั้นก็ให้รัฐวิสาหกิจอื่นเข้ามาถือหุ้นกู้ระยะสั้น 5.47 หมื่นล้าน คือกู้มาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในบริษัทที่กำลังขาดสภาพคล่องไปก่อน

ประยุทธ์74

การบินไทยหนีไม่พ้นเข้าสู่กระบวนฟื้นฟู  

แหล่งข่าวจากคนร. กล่าวว่าทางออกสำหรับการบินไทยวันนี้ น่าจะต้องให้ ล้มละลาย โดยเข้ากระบวนการฟื้นฟูภายใต้ศาลล้มละลายกลาง เพราะสถานะภาพของการบินไทยใส่เงินไปก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว สุดท้ายจะกลายเป็นภาระรัฐบาลในระยะต่อไป แต่ถ้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาล  สามารถหยุดดอกเบี้ยได้ เป็นโอกาสดีที่สามารถเข้าไปจัดการการการบินไทยได้ จะดำเนินการอะไรก็ต้องผ่านการอนุญาตจากศาล เท่ากับถูกควบคุมภายใต้คณะทำงานที่ศาลตั้งขึ้น

“องค์กรที่เป็นรัฐวิสาหกิจคนส่วนใหญ่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ดูแลผลประโยชน์องค์กร ดูแลแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก แต่การบินไทยเป็นบริษัทมหาชน ควรยึดผลประโยชน์องค์กรเป็นหลัก”แหล่งข่าว กล่าวและว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะได้จัดการกับการบินไทย

tg 2

เสนอครม.ลดทุนส่วนรัฐลง2%

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่จะเกิดขึ้นกับการบินไทย สิ่งแรกคือ เสนอครม.ลดทุนในส่วนของรัฐ นั่นหมายถึง ลดสัดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลง 2% เป้าหมาย ปลดล็อกความเป็นรัฐวิสาหกิจ คาดว่าน่าจะเป็นกองทุนวายุภักดิ์ จะเป็นผู้เข้ามาซื้อหุ้นส่วนนี้ออกไปแทน การบินไทยก็จะได้เงินประมาณ 4,000 ล้านบาท

การบินไทย9 1

จุดจบยื่นฟื้นฟูต่อศาลล้มละลาย

การบินไทยก็จะเป็นบริษัทจำกัดทันที จากนั้นก็ยื่นขอฟื้นฟูต่อศาลล้มละลาย เพื่อให้การบินไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้ศาล เมื่อแผนฟื้นฟูได้รับอนุมัติ ก็จะมีผู้บริหารแผนขึ้นมา  ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ถือหุ้น ในส่วนของการบินไทยผู้ที่เข้าไปบริหารแผนฟื้นฟูน่าจะเป็นบอร์ดการบินไทย เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู แล้วค่อยใส่เงินเข้าไป ในฐานะเจ้าหนี้ ก็จะได้เป็นลำดับแรกในการที่จะได้รับชำระคืน เป็นการใส่เงินเข้าไปหลังล้มละลายแล้ว แต่หากใส่เงินเข้าไปก่อนก็จะเสียบเปรียบมีสิทธิเท่ากับคนอื่น

เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้ศาล การแปลงหนี้เป็นทุน แฮร์คัทหนี้ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว  ในส่วนของการบินไทยก็จะต้องทำ Due Diligence หรือตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ อะไรควรหยุดอะไรควรทำต่อ ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูของศาล จะมีพนักงานเหลือเท่าไหร่ ธุรกิจจะเป็นอย่างไร

“เราจะต้องให้ล้มละลายภายใต้บริษัทจำกัด ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ในส่วนของพนักงานที่ต้องเลิกจ้างก็จ่ายตามกฎหมายแรงงาน ไม่ใช่จ่ายตามพรบ.แรงงานสัมพันธ์ของรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป การเลือกล้มละลาย ข้อดีรัฐไม่ต้องเป็นหนี้อีก เพราะใส่เข้าไปเท่าไหร่ก็ล้มละลายวันยังค่ำ ใส่เท่าไหร่ก็ต้องล้มละลาย ตอนนี้มีหนี้อยู่กว่า 2.4 แสนล้านบาท ใส่เข้าไปอยู่ได้ยังไง สัดส่วนของผู้ถือหุ้น สัดส่วนของทุนติดลบแล้ว  เจ้าหนี้การบินไทยก็ต้องมารับสภาพหนี้ด้วยกัน” แหล่งข่าว ระบุ

ในส่วนของบอร์ดการบินไทย คาดว่าในไม่ช้าจะมีการปรับเปลี่ยนบอร์ดเกิดขึ้น เพื่อรองรับการเข้าไปบริหารแผนฟื้นฟู ขณะนี้บอร์ดการบินไทยยังมีตำแหน่งว่างอีกที่หลาย โดยผู้ที่คาดว่าจะมีการมาเป็นบอร์ดการบินไทยคือนายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตซีอีโอปตท.และนายชาติชาย พยุหนาวีชัย  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และคาดว่าจะมีผู้อื่นอีกจำนวนหนึ่ง

สำหรับข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการบินไทย ขณะนี้มีกลุ่มคนจำนวนมากออกมาเสนอความคิดเห็น เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้รัฐบาลใส่เงินเข้ามาอุ้มการิบนไทยอีกต่อไป เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีหนี้สินจำนวนมาก ประกอบกับใส่เงินเข้าไปเท่าไหร่ก็จะไม่เพียงพอ สุดท้ายจะกลายเป็นภาระของรัฐบาลในระยะยาว จึงมีข้อเสนอต่างๆออกมา เช่น ปล่อยให้ล้มละลาย เสนอให้เอกชนเข้ามาซื้อหุ้นแทนสัก 4-5 ราย ทั้งหมดไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้าไปอุ้มอีกต่อไป

Avatar photo