Business

ชี้โอกาส ‘เครื่องปรุงรสไทย’ ยุคโควิด-19 ‘Stay at Home’ พลิกพฤติกรรมผู้บริโภคจีน

เทรนด์ สเตย์ แอท โฮม อีโคโนมี (Stay at Home Economy) โตแรงในจีน หลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 ดันตลาดเครื่องปรุงรสโตตาม พาณิชย์แนะผู้ประกอบการพัฒนาช่องทางออนไลน์ นำบิ๊ก ดาต้า มาใช้กำหนดทิศทางและกลยุทธ์เจาะตลาด

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าเครื่องปรุงรสอาหารไทยได้รับความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว โดยจากสถิติการส่งออก 3 เดือนแรกของปี 2563 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารเป็นมูลค่าสูงถึง 207.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

เครื่องปรุงรส

ทั้งนี้พบว่า เอเชียเป็นตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยต้องเฝ้าจับตามองและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

สำหรับตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังซื้อสูง ซอสและเครื่องปรุงรสจากไทยได้รับความนิยมอย่างมาก อีกทั้งจีนเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ที่ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารจากไทย จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้สินค้าเครื่องปรุงรสอาหารของไทยเติบโต

“โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดรูปแบบทางเศรษฐกิจที่ใหม่อย่าง Stay at Home Economy ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาบริโภคที่บ้าน และประกอบอาหารรับประทานเองในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่งผลให้เครื่องปรุงรสได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย”นายสมเด็จกล่าว

เครื่องเทศ

ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ ชิงต่าว ประเทศจีน แสดงให้เห็นว่า แม้การระบาดของโรคโควิด 19 จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสอยู่บ้าง เนื่องจากต้องพึ่งพาร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยว แต่ก็ถือเป็นโอกาสจากการที่ผู้บริโภคที่ไม่สามารถออกจากบ้าน เริ่มหันมาประกอบอาหารรับประทานเอง ทำให้ความต้องการในการบริโภคเครื่องปรุงรสในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ช่องทางการจับจ่ายของผู้บริโภคผ่านทางออนไลน์ขยายตัวได้มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งแนวโน้มพฤติกรรมดังกล่าว จะยังคงติดตัวผู้บริโภคไปตลอดแม้ว่าสถานการณ์ของการระบาดจะสงบลง จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ไม่ควรมองข้ามพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนภายใต้สถานการณ์เหล่านี้

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเจาะตลาดเครื่องปรุงรสในจีน ควรวิเคราะห์และเจาะตลาด Stay at Home Economy เชิงลึก เพื่อพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค ยกระดับรูปแบบการจำหน่ายทางออนไลน์ให้มีความหลากหลาย รวมทั้งติดตามรูปแบบเทคโนโลยีที่ช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

อาหาร
side view beef noodle stir fry with grilled bell pepper carrot spring onion and beef

พร้อมกันนี้ ยังต้องนำบิ๊ก ดาต้า (Big Data) ที่เกิดขึ้นจากการซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในช่วงนี้ มาวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มของตลาด ความนิยม และพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้า ตลอดจนนำมาสร้างกลยุทธ์ในการพัฒนาองค์กรควบคู่กันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสของไทยสู่ตลาดโลก และสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณภาพของสินค้าที่จะต้องรักษามาต0000000รฐาน และการมีจุดยืนของผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างความแตกต่าง อาทิ ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคระดับสูง กลาง และระดับล่าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ขายในท้องถิ่นกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาให้เข้าสู่ช่องทางอีคอมเมิร์ซก็ย่อมมีความแตกต่างทั้งรูปลักษณ์และราคาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

Avatar photo