Business

กสิกรไทยส่อง ‘New Normal’ ธุรกิจ หลังวิกฤติ ‘โควิด-19’

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเทรนด์ธุรกิจหลังโควิด-19 ต้องทำใจรายได้ลด-ค่าใช้จ่ายเพิ่ม พร้อมแนะวิธีปรับตัวรับ New Normal พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐผ่อนปรนให้กิจการบางประเภท กลับมาดำเนินการได้อย่างระมัดระวัง โดยยังคงมาตรการ physical Distancing ไว้ จะทำให้แต่ละธุรกิจ จะดำเนินธุรกิจอยู่บนเงื่อนไขภาวะปกติใหม่ (New Normal)

ปก

สำหรับ New Normal ของแต่ละธุรกิจ จะกระทบผลการดำเนินงานของธุรกิจให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมใน 2 ด้านด้วยกัน นั่นคือ 1.ด้านของรายได้ ธุรกิจจะไม่ได้รับรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และ 2. ด้านของค่าใช้จ่าย ธุรกิจจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะต้องจัดเตรียมในเรื่องของอุปกรณ์ เช่น เจลแอลกอฮอล์ เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ หรืออาจต้องมีพนักงานมาดูแลในเรื่องเหล่านี้ ก็จะเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ทิศทางของธุรกิจหลังโควิด-19 โดยภาพรวมจะยังเหนื่อยอย่างต่อเนื่อง โดยอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศไทยในปี 2563 จะอยู่ในทิศทางที่หดตัวลง จากปัจจัยหลักๆ 2 ประการ คือ เรื่องของกำลังซื้อที่อ่อนแรงลง มีผลให้ผู้บริโภคยังคงเน้นตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ในส่วนของสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าที่มีรอบหมุนเวียนนาน อย่างเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์

อีกหมวดธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจาก มาตรการ physical Distancing คือ สถานที่ที่มีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก ก็อาจมีความเสี่ยงของการกลับมาเกิดโรคได้ เช่น สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ งานแสดงสินค้า หรือการแข่งขันกีฬา รวมไปถึงการท่องเที่ยวที่มีการเดินทางระหว่างประเทศ ระหว่างจังหวัด ซึ่งจะกระทบกับธุรกิจในห่วงโซ่อย่างสายการบิน รถทัวร์

1 2

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า New Normal จะทำให้ภาพการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้เปลี่ยนแปลงไป ประกอบด้วย

1.ธุรกิจที่เกาะไปกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

1.1 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือสินค้าเพื่อดำรงชีพของผู้บริโภค เช่น ร้านอาหาร และธุรกิจค้าปลีก

ในส่วนของร้านอาหาร แม้ว่าผู้ประกอบการร้านอาหารที่ให้บริการนั่งทานในร้านจะกลับมาเปิดให้บริการได้บ้างแล้ว แต่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ต้องจัดโต๊ะที่่นั่งที่เว้นระยะห่าง ทำให้จำนวนที่นั่ง ไม่ได้มากเท่าเมื่อก่อน จึงอาจไม่คุ้มค่าที่จะเปิดให้บริการเฉพาะการนั่งทานในร้านอย่างเดียว ฉะนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารควรจะให้ความสำคัญกับช่องทางเดลิเวอรี่และซื้อกลับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องเน้นความสะอาด คุณภาพของอาหาร การให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว ง่ายต่อผู้บริโภค

 

ขณะที่ช่องทางเดลิเวอรี่ ก็จะต้องไปอยู่บนแพลตฟอร์ม หรือมีบริการที่สะดวกและง่ายต่อการใช้งานของลูกค้า ถ้าเป็นบริการซื้อกลับ ต้องให้ลูกค้าไม่คอยนาน และมีเมนูราคาที่จูงใจ

supermarket 2158692 1280

สำหร้บร้านค้าปลีก ผู้บริโภคยังคงเน้นการซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์การดำรงชีพ แต่ถ้าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อมีบริการที่ส่งมอบไปถึงมือผู้บริโภคได้ ด้วยความรวดเร็ว มีช่องทางที่ง่าย ส่งมอบสินค้าที่ถูกต้อง ตรงกับที่ผู้บริโภคสั่งซื้อ มีการพิจารณาคุณภาพสินค้า อย่างวันหมดอายุ

นอกจากร้านค้าออฟไลน์อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อแล้ว แพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ หรือโซเชียล คอมเมิร์ซ พบว่าผู้บริโภคให้การตอบรับค่อนข้างดีในช่วงโควิด-19 และมีผู้ขายเข้าไปใช้บริการผ่านตัวกลางที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่มากมาย ช่องทางนี้น่าจะยังได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่จากจำนวนผู้ขายที่มากราย ทำให้การแข่งขันสูง

ฉะนั้นผู้ประกอบการค้าปลีกควรเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ และเน้นการหาจุดขายของสินค้า และบริการของตัวเองที่แตกต่าง เน้นการส่งมอบสินค้าตรงตามที่ลูกค้าสั่ง ส่งมอบตรงเวลา สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค จะทำให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อซ้ำและได้รับประสบการณ์ที่ดี

คลาวด์1

1.2 ธุรกิจที่สนับสนุน มาตรการ physical Distancing หรือการทำงานที่บ้านและการเรียนออนไลน์ ซึ่งเชื่อว่า ธุรกิจจะยังให้พนักงานทำงานที่บ้านอย่างต่อเนื่อง หรือภาคการศึกษาก็ยังต้องมีการเรียนออนไลน์อยู่ ฉะนั้น ธุรกิจที่สนับสนุนส่วนนี้ได้แก่ บริการคลาวด์ ซึ่งถ้ามีการสนับสนุนให้พนักงานสามารถใช้ข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา โดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูล มีการป้องกันการโจรกรรมต่างๆ ได้ดี

นอกจากนี้ยังมีบริการเรื่อง แอปพลิเคชั่น ผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ซึ่งตอบโจทย์ชีวิตที่ผู้บริโภคต้องอยู่ที่บ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบันเทิง หรือกีฬาที่อยู่ที่บ้าน สนับสนุนการทำงาน การเรียน

ทั้งนี้ คอนเทนต์ที่ออกแบบมาต้องคำนึงถึงความสอดรับกับการใช้งานที่บ้านได้อย่างสะดวก อาจมีโปรโมชั่นราคา หรือให้ทดลองใช้ฟรีเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคมาใช้

1.3 ธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทางหรือการพักผ่อน รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งจากการที่ภาครัฐเริ่มทยอยผ่อนปรน จะทำให้มีการเดินทางได้บ้าง สำหรับการเดินทางเพื่อการพักผ่อน คาดว่าผู้บริโภคจะเลือกเดินทางในละแวกใกล้เคียง และเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด

ท่องเที่ยว

ดังนั้น ผู้ให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางหรือการพักผ่อน เช่น ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว ต้องเน้นการสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย เช่น การให้บริการห้องเว้นห้อง ชั้นเว้นชั้น มีการจัดส่งอาหารเช้า กลางวันถึงที่พัก มีบริการตอบโจทย์ลูกค้า เช่น นวด สปา ถึงห้องพักของนักท่องเที่ยว

2.ธุรกิจที่สนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการ

เมื่องภาคธุรกิจจะทยอยกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งหนึ่ง ภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการต้องเตรียมการเพื่อไม่ให้เกิดการสะดุด เช่น การลงทุนระบบโซลูชั่นต่างๆ ระบบการจัดเก็บฐานข้อมูล ดาต้าเซ็นเตอร์ ขณะที่ในส่วนของธุรกิจเอง คงมีการปรับในเรื่องของเวลาในการทำงานของพนักงาน มีการปรับเปลี่ยนกะให้เข้ามาเป็นรอบตามระยะเวลา มีการทำงานจากที่บ้านอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนลงทุนระบบอัตโนมัติ เครื่องจักร หุ่นยนต์เข้ามาเสริม

ร้านอาหาร

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถลงทุนในโซลูชั่นหรือเครื่องจักรอุปกรณ์เหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ในปัจจุบันมีซอฟท์แวร์ หรือโซลูชั่น แอปพลิเคชั่น ที่ให้บริการด้วยต้นทุนต่ำ หรือแม้กระทั่งให้ใช้งานฟรี อีกทั้งเครื่องจักร หุ่นยนต์ ยังมีการให้เช่าใช้ โดยไม่ต้องลงทุนซื้อ

ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องคำนึงถึงเรื่องของศักยภาพทางการเงิน ความเหมาะสมในเรื่องของประสิทธิภาพการผลิตประกอบการพิจารณาลงทุนในสินค้าเหล่านี้ได้

โดยสรุปแล้ว โควิด เข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค และการดำเนินการของธุรกิจ ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เทรนด์ต่างๆที่จริงๆเรามองว่ามันจะมา จริงๆ มันมาด้วยอัตราที่เร่งเร็วขึ้นหลายเท่าตัว และมีความซับซ้อนมากขึ้น ทุกธุรกิจก็ต้องมีการตั้งรับที่ดี มีการปรับตัวเร็วขึ้น ล้มเร็ว เรียนรู้เร็ว คือ ลุกขึ้นมาได้เร็ว ก็จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้

Avatar photo