Business

Sell in May and Go Away 10 ปีที่ผ่านมา เป็นจริงแค่ไหน? 

เวลาเข้าสู่ช่วงเดือนพฤษภาคมทีไร วลียอดฮิตที่ทุกคนพูดถึงคงหนีไม่พ้น “Sell in May and Go Away” สำหรับใครอาจไม่ทราบว่าคำนี้หมายความอะไร อธิบายคร่าวๆ ก็คือการบอกว่าให้เราขายหุ้นในเดือนพฤษภาคม แล้วออกจากตลาดไปซะ

เนื่องจากมีทฤษฎีที่เชื่อว่าช่วงเดือนพฤษภาคม ตลาดหุ้นนั้นให้ผลตอบแทนที่แย่ที่สุดของปี จึงแนะนำให้นักลงทุนขายหุ้นทำกำไรไปก่อน แล้วหันไปเก็บเงินในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำแทน เช่น ตลาดเงิน ตราสารหนี้ หรือเงินสด เป็นต้น เมื่อเห็นสัญญาณตลาดฟื้นตัว ค่อยเริ่มกลับมาซื้อหุ้นอีกครั้งหนึ่ง

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็มีหลายปัจจัยประกอบกัน อาทิ ไตรมาสแรกของปีมักเป็นช่วงที่ตลาดสดใสที่สุด, เป็นเดือนที่เริ่มทยอยประกาศงบ, ตัวเลขคาดการณ์ต่างๆ เริ่มชัดเจน, บริษัทส่วนใหญ่ประกาศจ่ายปันผลประจำปีไปแล้ว รวมถึงเกิดเหตุการณ์ Sell on Fact จากกองทุน เป็นต้น 

คำถาม คือ Sell in May and Go Away เป็นจริงแค่ไหนกับตลาดหุ้นไทย

เหตุการณ์ Sell in May and Go Away เป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และฝั่งยุโรป อย่างไรก็ดี สำหรับตลาดหุ้นไทยแล้ว (SET Index) เป็นไปตามทฤษฎีดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน ?

เราเลยลองเช็คสถิติย้อนหลังผลตอบแทน SET Index ในรอบ 10 ที่ผ่านมา พบว่า มีถึง 8 ใน 10 ครั้งที่ดัชนีปรับลดลง โดยติดลบเฉลี่ยประมาณ 2% ซึ่งตัวเลขสถิติก็ยืนยันออกมาตรงกันว่าเดือนพฤษภาคม เป็นเดือนที่ตลาดหุ้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด ดังนี้

หุ้น5

นอกจากนี้ ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย ยังสำรวจไปถึงราย Sector พบว่ากลุ่มที่ติดลบมากที่สุด ได้แก่

1. กลุ่มพลังงาน ผลตอบแทนติดลบ 3.8%

2. กลุ่มธนาคาร ผลตอบแทนติดลบ -2.85%

3. กลุ่มอสังหาฯ ผลตอบแทนติดลบ -1.58%

4. กลุ่ม ICT ผลตอบแทนติดลบ -1.04%

หุ้น33

ทั้งนี้ มีเพียง 2 Sector เท่านั้นที่สร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ นั่นก็คือธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และค้าปลีก

สรุปแล้วเราจะเห็นว่าในแง่สถิติแล้ว Sell In May and Go Away ดูมีความสอดคล้องกับความเป็นจริงทีเดียว เพราะในเดือนนี้ “หุ้นลง มากกว่าขึ้น” ยิ่งในปีนี้ที่ภาพของ Sell in May ดูจะชัดเจนขึ้นกว่าปกติ เพราะมีปัจจัยลบจากวิกฤติ COVID-19 รวมถึงเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเกือบทุกตัวที่แทบหยุดทั้งหมด 

ดังนั้น การลงทุนในเดือนพฤษภาคมนี้ จึงต้องมีความระมัดระวังให้มาก และติดตามตลาดแบบใกล้ชิดเลยครับ เพราะถึงแม้หลายคนอาจจะเชียร์ว่านี่เป็นโอกาสช้อนซื้อ จากการที่ตลาดสะท้อนปัจจัยลบไปหมดแล้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า “ความเสี่ยง” ยังคงมากอยู่ จากโอกาสเกิดคลื่นลูกที่ 2 ในอนาคต

Avatar photo