Business

‘อีไอซี’ ส่องทางรอด ‘ธุรกิจการบิน’ ฝ่ามรสุมโควิด-19

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกในวงกว้างทั้งในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างสูงคงหนีไม่พ้นธุรกิจสายการบิน

ทั้งนี้เห็นได้จากการที่หลายประเทศทั่วโลก เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย เป็นต้น ใช้มาตรการปิดเมือง (lock-down) หรือกระทั่งปิดประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเดินทางเข้ามาแพร่เชื้อโรค ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เข้าหรือออกจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนมีนาคม 2563 ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจีนปรับลดลงกว่า 82% เกาหลีใต้ลดลง 70% และอิตาลีลดลง 60% เป็นต้น

cover 01

นอกจากนี้ยังทำให้หลายสายการบินทั่วโลกได้ยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางระหว่างประเทศกว่า 80-90% ตั้งแต่เดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 เป็นอย่างน้อย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ : IATA ได้ประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ต่อธุรกิจการบินทั่วโลก (14 เม.ย.) ภายใต้สมมติฐานที่จะมีการยกเลิกการล็อกดาวน์ การเดินทางภายในประเทศหลังไตรมาสที่ 2 ในปีนี้ แต่การเดินทางระหว่างประเทศฟื้นตัวเพียง 50% ในไตรมาส 4 ปีนี้ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยคาดว่าจะทำให้ปริมาณการขนส่งด้านผู้โดยสารทั่วโลกในปี 2563 ลดลงกว่า 48% ขณะที่รายได้ของสายการบินทั่วโลกจะหายไปมูลค่า 3.14 แสนล้านดอลลาร์  หรือหดตัวราว 55%

ในส่วนของประเทศไทย ไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจการบิน จนทำให้หลายสายการบินต้องหยุดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่เดือน มีนาคม 2563 โดยในเส้นทางระหว่างประเทศ สายการบินสัญชาติไทยต่างหยุดให้บริการบินทั้งหมด เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางระหว่างประเทศปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 จนลดลงเกือบ 100% ในปัจจุบัน

ขณะที่เส้นทางภายในประเทศ สายการบิน ไทยแอร์เอเชีย และไทยไลอ้อน แอร์ ที่มีส่วนแบ่งตลาดจากปริมาณผู้โดยสารรวมกันกว่า 50% ได้เริ่มหยุดบินตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มีนาคม 2563 จนถึงต้นเดือน เมษายน พบว่า ปริมาณผู้โดยสารในสนามบินภูมิภาค 22 แห่งลดลงกว่า 98% ต่อวัน

01 01

จากปัจจัยข้างต้น EIC ประเมินว่า รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวราว 60% มาอยู่ที่ราว 1.21 แสนล้านบาท ภายใต้สมมติฐานการฟื้นตัวในธุรกิจสายการบินอย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบ U-Shape โดยคาดว่ารายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยจากเส้นทางระหว่างประเทศจะหดตัวกว่า 65% มาอยู่ที่ราว 8.2 หมื่นล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยจะลดลงราว 67% จาก 39.8 ล้านคนในปี 2562 เหลือเพียง 13.1 ล้านคนในปี 2563

สำหรับรายได้จากเส้นทางบินภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง 45% มาอยู่ที่ราว 3.9 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศลดลงและอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของการเดินทางภายในประเทศของชาวไทยจากความกังวลในการระบาดของโรคโควิด-19 รายได้ที่ลดลงของเส้นทางบินในต่างประเทศและภายในประเทศ มาจากไวรัสโควิด-19 และปัญหาสภาวะเศรษฐกิจ

การขาดรายได้จากการหยุดให้บริการจะส่งผลให้สภาพคล่องของสายการบินสัญชาติไทยส่วนใหญ่ลดลงมากและสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ซึ่งมีสัดส่วนราว 30% ของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้เพียงประมาณ 3 เดือนเท่านั้น ทั้งในส่วนของต้นทุนผันแปร เช่น ค่าเชื้อเพลิง ค่าบริการต่างๆ เป็นต้น คิดเป็น 2 ใน 3 ของต้นทุนทั้งหมด ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่ กับต้นทุนกึ่งคงที่ คิดเป็นราว 1ใน3 ของต้นทุนทั้งหมด เช่น ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าซ่อมและบำรุงเครื่องบิน เป็นต้น

02 01

จากสภาพดังกล่าว ทำให้สายการบินสัญชาติไทยหลายสายการบินได้เร่งปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายพร้อมทั้งหารายได้เพิ่มเติมเพื่อรักษาตัวให้อยู่รอดผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 โดยพบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 25-30% และพยายามหารายได้เพิ่มเช่น การเน้นให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้น การขายอาหารและเบเกอรี่ การเปิดขายตั๋วล่วงหน้า ฯลฯ

ขณะที่ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ หลายสายการบินได้เตรียมกลับมาให้บริการเส้นทางในประเทศบางส่วน ซึ่งอาจจะช่วยได้เล็กน้อย แต่มาตรการเว้นระยะห่างที่นั่งตาม social distancing จะกดดันให้การขนส่งผู้โดยสารต่อเที่ยวลดลงอีก  สายการบินจะได้อานิสงส์จากต้นทุนที่ลดลงตามราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรุนแรง พร้อมทั้งส่วนลดค่าบริการของทางภาครัฐ เช่น ค่าบริการเดินอากาศ ค่าจอดเครื่องบิน

นอกจากนี้ สายการบินอาจใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการปรับแผนการให้บริการให้สอดคล้องกับแผนในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านเส้นทางที่จะให้บริการเพื่อให้เกิดการกระจายความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น จากในอดีตที่พึ่งพิงการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งมากเกินไป รวมถึงปรับแผนการใช้เครื่องบินให้เหมาะสมกับเส้นทางที่ต้องการให้บริการ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนการบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการเดินทางได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

airport 1822133 1280

ในต่างประเทศ ภาครัฐของแต่ละประเทศได้ให้ความช่วยเหลือธุรกิจสายการบินในหลายรูปแบบ ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในธุรกิจการบิน การสนับสนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการบิน และการพิจารณาให้เงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง

ในส่วนของประเทศไทย EIC คาดว่า รูปแบบการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปี 2563 ตามการป้องกันแพร่ระบาดและแรงกดดันจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเริ่มจากเส้นทางบินภายในประเทศหากยกเลิกล็อกดาวน์ เหมือนกับในจีนและเกาหลีใต้ ที่สายการบินเริ่มเปิดให้บริการภายในประเทศ โดยเฉพาะตามความต้องการเดินทางเพื่อทำธุรกิจ ซึ่งบางส่วนอาจลดลงจากการใช้ วิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์

จากนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นและความกังวลในการติดเชื้อลดลงจะทำให้ประชาชนซึ่งอยู่ที่บ้านเป็นระยะเวลานานต้องการเดินทางท่องเที่ยวและทำให้การเดินทางเพิ่มขึ้น ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ การฟื้นตัวคาดว่าจะช้ากว่าเนื่องจากมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศจะกินระยะเวลานานก่อนยกเลิก โดยความต้องการเดินทางเพื่อธุรกิจและการศึกษาจะฟื้นตัวก่อนเช่นกัน

airport 3511342 1280

ส่วนความต้องการเดินทางท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นในเส้นทางระยะสั้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวใช้เวลาวางแผนล่วงหน้าไม่นานนักหรือในเส้นทางที่เดินทางไปยังประเทศที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดและอนุมัติฟรีวีซ่า และสุดท้ายการเดินทางในเส้นทางระยะยาว จะเริ่มฟื้นตัว และทำให้การเดินทางในเส้นทางระหว่างประเทศฟื้นตัวเพียง 50% ในช่วงปลายปี 2563

ขณะเดียวกัน ภาครัฐอาจขอความร่วมมือกับสายการบินในการให้บริการเดินอากาศในเส้นทางที่จำเป็นและครอบคลุมจุดหมายปลายทางที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของธุรกิจอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งช่วยแก้ไขและอำนวยความสะดวกในด้านกฎระเบียบต่าง ๆ

ควรสร้างกลไกความร่วมมือของภาครัฐ ภาคธุรกิจสายการบินและภาคสาธารณสุขเพื่อช่วยกันในการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดและหาข้อสรุปแนวทางการเดินอากาศในช่วงฟื้นตัวที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดซ้ำ เช่น การวางแผนคัดกรองผู้โดยสาร การจัดทำแผนที่นั่งเพื่อเว้นระยะห่างที่นั่งและการปรับปรุงแพ็กเกจอาหารบนเครื่องบิน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ภาครัฐยังต้องพิจารณารายละเอียดในหลายมิติถึงความเหมาะสมและรูปแบบในการให้ความช่วยเหลือแก่สายการบินของไทยที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องพิจารณาในอีกหลายประเด็นให้รอบคอบก่อน หากจะให้ความช่วยเหลือ ทั้งรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ระดับความเหมาะสมในการช่วยเหลือ และประโยชน์ที่จะได้รับ อีกทั้งต้องพิจารณาถึงฐานะการคลังของประเทศซึ่งจะต้องนำไปช่วยเหลือแก่ธุรกิจอื่น ๆ และประชาชนอีกจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดเช่นเดียวกัน

Avatar photo