Business

ผู้โดยสาร ‘รถไฟ’ เพิ่มเป็นวันละ 8 พันคน หลังไวรัสเริ่มคลี่คลาย

“การรถไฟฯ” เผยปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 8 พันคน หลังสถานการณ์ “โควิด-19” ในประเทศเริ่มคลี่คลาย โดยจุดต่ำสุด คนเดินทางเคยลดเหลือวันละ 4 พันคน

c1f1ece3 6fb0 4ea0 87ba c5b9d96dbdc1

นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปริมาณการเดินทางทางรถไฟก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่อยู่ในระดับร้อยคนต่อวัน จำนวนผู้โดยสารรถไฟทั่วประเทศก็ลดลงต่ำสุดเหลือเพียง 4,000 คนต่อวัน

โดยล่าสุดการรถไฟฯ เหลือรถโดยสารให้บริการอยู่เพียง 40 ขบวน จากปกติมีทั้งหมด 236 ขบวน แบ่งเป็นรถชานเมือง 38 ขบวนและรถเชิงพาณิชย์ไป-กลับ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานีอีก 2 ขบวน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการเคอร์ฟิวและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส

S 8585224

ผู้โดยสารเริ่มกลับมา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ผู้โดยสารรถไฟเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 คนต่อวันและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก การรถไฟฯ จึงได้จัดรถเสริมและพยายามเพิ่มความถี่ เพื่อรักษามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตามนโยบายของรัฐบาล

ส่วนหลังจากนี้ การรถไฟฯ จะเพิ่มขบวนรถให้กลับมาวิ่งมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการเคอร์ฟิวและนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก ถ้าหากนโยบายเปิดกว้างให้เกิดการเดินทางมากขึ้น รถไฟก็จะพิจารณากลับมาเดินรถระหว่างจังหวัดและพยายามเปิดเดินรถให้ถึงปลายทางครบทุกสาย เช่น เชียงใหม่, หนองคาย, สุไหงโก-ลก

สำหรับการดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงที่ผ่านมานั้น นายฐากูรกล่าว่า ไม่มีประชาชนต่อต้าน แต่หากรถขบวนใดมีผู้โดยสารจำนวนมาก ก็อาจไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการได้ 100% การรถไฟฯ จึงพยายามเสริมรถเพื่อแก้ปัญหาและต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วย

000051233

“ผู้ว่าใหม่” ถกด่วนเตรียมรับผ่อนปรนการเดินทาง

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยคนใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (26 เม.ย.) ได้เรียกประชุมด่วนผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อรองรับกรณีจะต้องเปิดเดินขบวนรถไฟ หลังจากหยุดให้บริการไปในช่วงของการแพร่ระบาด ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเสนอแผนและมาตรการผ่อนปรนด้านการขนส่งทางรถไฟให้สอดคล้องกับแผนผ่อนปรนของรัฐบาล

การที่ต้องเรียกประชุมผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องด่วนในวันหยุด เนื่องจากมีความต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหาและหาวิธีป้องกันการแพร่ระบาดให้กับประชาชนที่จะกลับเข้ามาใช้บริการระบบขนส่งทางราง รวมทั้งการหาวิธีป้องกันพนักงานรถไฟที่ต้องให้บริการที่สถานีและบนขบวนรถ ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมโดยรัดกุม อีกทั้งการเตรียมแผนการรองรับการผ่อนปรนของรัฐบาล

โดยหากสถานการณ์คลี่คลายลง อาจจำแนกการดำเนินการออกเป็น 3 ระดับ คือ ขั้นวิกฤต ขั้นมีความเสี่ยง และขั้นควบคุมได้ตามสถานการณ์ของการแพร่ระบาด ซึ่งแผนงานจะแยกออกเป็นรายกิจกรรม เช่น การคัดกรองพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ การคัดกรองผู้โดยสาร การรักษาระยะห่างทางสังคม การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค การทำความสะอาด การบริการแอลกอฮอล์ เจลล้างมือ การให้บริการอาหาร/เครื่องดื่ม เป็นต้น และยังต้องเตรียมการในเรื่องของการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเป็นการล่วงหน้าอีกด้วย

Avatar photo