Business

จำเป็นต้องรู้!! ‘ถูกเลิกจ้างกระทันหัน’ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ค่าชดเชยที่ควรได้รับคือ??

ถูกเลิกจ้างกระทันหัน ตกงานแบบไม่ได้ตั้งตัวในช่วงวิกฤติโควิด-19 ค่าชดเชยที่ลูกจ้างควรได้รับตามกฎหมาย จะได้เงินชดเชย 2 อย่างจากนายจ้าง คืออะไร

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เริ่มมีการเลิกจ้างพนักงาน มาตั้งแต่ต้นปี 2563 และเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงไปทั่วโลก ย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจโลก และเศรษกิจประเทศไทยโดยภาพรวม

ที่หนักสุดก็เป็นภาคธุรกิจไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ เหล่าบรรดานายจ้างที่ได้รับผลกระทบเริ่มออกอาการรับมือไม่ไหว และที่แย่สุดคือภาคแรงงาน-ลูกจ้าง ทั้งในระบบและนอกระบบที่ต้องตกงานกันระนาว

cover 013 1 1 e1633931883738

เมื่อภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาช่วยเหลือเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบควรต้องตรวจสอบสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ด้วย ดังนั้นมาดูกันว่าเรื่องใกล้ตัวอะไรบ้างที่คุณควรรู้ ควรทำ และมีสิทธิ เมื่อได้รับผลกระทบช่วงโควิด-19 รวมถึงนายจ้างเองเมื่อเลิกจ้างต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง

ถูกเลิกจ้าง

ค่าชดเชย เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง

ลูกจ้างรู้ไว้ เมื่อถูกให้ออกจากงานแบบกะทันหัน ตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว สามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเท่าไร อย่างไร เพื่อให้เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม

การตกงานเป็นสิ่งที่ลูกจ้างทุกคนไม่มีใครอยากเจอทั้งนั้น การถูกเลิกจ้า กะทันหันด้วยแล้ว หลายคนถึงกับตั้งตัวไม่ทันเลยทีเดียว ซึ่งหากใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ สิ่งที่ควรทำอย่างแรกเลยก็คือการรักษาผลประโยชน์ที่ตัวเองควรได้รับ มีอะไรบ้างนั้น เรามาดูกัน


ถูกเลิกจ้างแบบไหน ถึงจะได้เงินค่าชดเชย?

ลูกจ้างจะได้รับเงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้างจากนายจ้าง เมื่อทำงานครบ 120 วันขึ้นไป และถูกให้ออกจากงานทั้งที่ไม่สมัครใจ ไม่ว่านายจ้างจะแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ก็ตาม แต่มีข้อแม้ว่า ลูกจ้างต้องไม่ทำผิด หรือถูกให้ออกจากงาน ด้วยสาเหตุต่อไปนี้

  • ลาออกเองโดยสมัครใจ
  • ทุจริตต่อนายจ้าง หรือทำความผิดอาญา
  • จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  • ประมาทเลินเล่อจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  • ฝ่าฝืนระเบียบการทำงาน โดยที่นายจ้างได้ออกหนังสือเตือนไปแล้ว
  • ละทิ้งการทำงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร
  • ได้รับโทษจำคุก ตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
  • สัญญาจ้างงานมีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน
หากถูกเลิกจ้างด้วยสาเหตุที่กล่าวมา จะไม่ได้รับเงินชดเชยตามที่กฎหมายระบุไว้
ถูกเลิกจ้าง

ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ได้เงินชดเชยเท่าไหร่?

ค่าชดเชย (Severance Pay) คือเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือไปจากเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5
การถูกเลิกจ้างกะทันหัน ตามกฎหมายแล้วจะได้เงินชดเชย 2 อย่างจากนายจ้าง คือ ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง และ ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไข ดังนี้
1. ค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง
เมื่อถูกให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจและไม่มีความผิดใดๆ เงินชดเชยที่ได้จะขึ้นอยู่กับเงินเดือนและอายุงาน
  • ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (1 เดือน)
  • ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน (3 เดือน)
  • ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน (6 เดือน)
  • ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน (8 เดือน)
  • ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน (10 เดือน)
  • ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน

ตัวอย่างเช่น นายมานะทำงานมาแล้ว 4 ปี ได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 25,000 บาท และโดนบอกเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจ ดังนั้น นายมานะ จะได้รับเงินชดเชย 25,000 x 6 เดือน (180 วัน) เท่ากับ 150,000 บาท

ถูกเลิกจ้าง
2. ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

การเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้สมัครใจ แถมยังมีเซอร์ไพรส์โดยไม่บอกล่วงหน้าอีกด้วย ถ้าเป็นแบบนี้จะได้เงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่เรียกกันว่า ค่าตกใจ’ เพิ่มเติมด้วย ตามกรณีดังต่อไปนี้

  • กรณีเลิกจ้างทั่วไป 

กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง หมายความว่า ถ้าได้ค่าจ้างเป็นเงินเดือนรอบละ 30 วัน นายจ้างจะต้องแจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบอย่างน้อย 30 วัน ไม่เช่นนั้น จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน หรือถ้าได้รับค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ ก็ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ไม่เช่นนั้น จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับ 7 วัน

ตัวอย่างเช่น บริษัทจ่ายเงินให้ลูกจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน 

หากบริษัทบอกเลิกจ้างก่อนวันที่ 30 เมษายน ก็จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าถึงวันที่ 30 พฤษภาคม หรือ 30 วัน แต่ถ้าบริษัทบอกเลิกจ้างช้ากว่ารอบการจ่ายเงิน เช่น บอกในวันที่ 6 พฤษภาคม ก็จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าถึงงวดวันที่ 30 มิถุนายน
  • กรณีเลิกจ้าง เพราะการปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ เนื่องมาจากนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี จนต้องลดจำนวนลูกจ้างลง

ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้เงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน (2 เดือน) เช่น เงินเดือน 25,000 บาท ก็จะได้รับเงินชดเชย 25,000 x 2 เท่ากับ 50,000 บาท

อีกทั้งหากลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป จะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยพิเศษเพิ่มอีก ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วัน ต่อการทำงานครบ 1 ปี (รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน)

  • กรณีเลิกจ้าง เพราะย้ายสถานประกอบกิจการ

ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้รับเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (1 เดือน)

หรือหากมีการบอกล่วงหน้าถูกต้อง แต่ลูกจ้างไม่ต้องการย้ายไปทำงานที่ใหม่ด้วย ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 50% ของค่าชดเชยถูกเลิกจ้างที่มีสิทธิได้รับ

เงินชดเชยถูกเลิกจ้าง จะได้รับตอนไหน

ปกติแล้วนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างภายในวันสุดท้ายที่ทำงาน แต่หากถึงตอนนั้นแล้วยังไม่ได้เงินชดเชยดังกล่าว เราสามารถยื่นร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน ได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ ยื่นได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากถือว่าเป็นการเข้าข่ายการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

คนที่ต้องประสบพบเจอเหตุการณ์ตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ การมีสติ และอย่าเพิ่งหมดหวัง ปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอ แต่ที่สำคัญต้องมีความอดทนเพราะคาดเดาได้ยากมากว่าสถานการณืแบบนี้จะลากยาวไปนานขนาดไหน ดังนั้นจึงควรมีการวางแผนอย่างดีในการใช้เงินที่ได้รับมาจากค่าชดเชย เพื่อประคับประคองตัวเอง และครอบครัวไปจนกว่าจะสามารถหางานทำใหม่ได้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight