Business

ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จาก ‘ไวรัสโควิด-19’ มากน้อยอยู่ที่ ‘ผู้นำ’

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เขียนบทความถึงผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลกเป็นวงกว้าง เริ่มต้นจากการมีผู้ติดเชื้อที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และแพร่กระจายไปทั่วโลก อันส่งผลให้เกิดผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นเจ้าไวรัสตัวนี้เองยังกระทบไปถึงการชะงักงันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ลามไปถึงการชะลอการผลิตในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่อยู่ภายใต้ระบบห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain) อันส่งผลต่อเนื่องไปสู่ผลกระทบด้านการค้าและการลงทุนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

coronavirus 4810201 1280

นอกจากนี้ยังรวมไปถึง การที่ประชาชนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการป้องกันการติดเชื้อ (เช่นต้องซื้อหน้ากากหรือเจลล้างมือ)  การที่คนจะต้องมีการกักตัวอยู่กับบ้านจนทำให้ขาดรายได้ จนลามมาถึงการเกิดความเครียดและปัญหาทางสุขภาพจิตตามมา

ในภาคการเงินเองการแพร่ระบาดของไวรัวโควิด-19 ก็ส่งผลต่อการตกลงในตลาดหุ้นทั่วโลก รวมไปถึงการที่อีกหลายประเทศเลือกที่จะทำการ “ปิดประเทศ” อันทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เศรษฐกิจโลกของเรากำลังเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ (Global Economic Crisis) ซึ่งมีที่มาจาก วิกฤติสุขภาพ (Global Health Crisis) เป็นสำคัญ

นักเศรษฐศาสตร์ได้วิเคราะห์ว่า ผลกระทบทางลบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้จะตกกับครอบครัวผู้ที่มีความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ (Vulnerable Families) เป็นหลัก โดยเฉพาะคนยากจนที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพเป็นวันๆ ซึ่งคนเหล่านี้จะต้องตกงาน สูญเสียรายได้ ซ้ำร้าย คนยากจนเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขได้เท่ากับคนที่มีฐานะ ทั้งการหาซื้อหน้ากากอนามัย การหาซื้อเจลล้างมือ รวมไปถึงแม้กระทั่งการเข้าถึงบริการของการตรวจโรค และอาจจะส่งผลต่อการเสียชีวิตตามมาได้

พิริยะ ผลพิรุฬห์
ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์

ดังนั้น ในการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 นี้จึงไม่สามารถวิเคราะห์ได้เพียงด้านใดด้านหนึ่ง เนื่องจากผลกระทบนี้มันเกิดขึ้นทั้งในเชิงเศรษฐกิจในหลากหลายสาขา ในเชิงสังคม และผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ สามารถวิเคราะห์ผลกระทบได้ดังนี้

1.ผลกระทบ จากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชน

สำหรับผลกระทบทางตรง  ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19  เริ่มจากผลกระทบด้านสุขภาพเป็นอย่างแรก ตั้งแต่ การที่มีผู้เจ็บป่วยจากการติดเชื้อจำนวนมาก อันนำมาสู่ค่าใช้จ่ายในการรักษา และร้ายที่สุดก็คือการเสียชีวิต ซึ่งการที่มีผู้เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นจำนวนมากนี้เองย่อมส่งผลกระทบทางอ้อม ถึงข้อจำกัดในการจัดสรรทรัพยากรด้านสาธารณสุขของประเทศ ทั้งทางด้านกำลังคน งบประมาณ สถานที่ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ จึงส่งผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะกับคนจนที่จะต้องเป็นผู้แบกรับปัญหาดังกล่าว

2. ผลกระทบจากพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยง เพื่อให้ห่างไกลจากโอกาสในการติดเชื้อไวรัส

ประชาชนตัดสินใจที่จะยกเลิกกิจกรรมที่จะส่งผลต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ตั้งแต่ รัฐบาลหลายประเทศตัดสินใจปิดประเทศ/ปิดเมืองและห้ามให้เกิดการเดินทางระหว่างกัน,  การประกาศให้ธุรกิจหรือสถานบริการที่โดยปกติจะต้องรับคนเป็นจำนวนมากต้องปิดทำการชั่วคราว,  สถาบันการศึกษาที่จำเป็นต้องหยุดการเรียนการสอน , และ ประชาชนที่ต้องกักตัวเองอยู่กับบ้านด้วยสาเหตุต่างๆ เพื่อพยายามที่จะควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิค-19 นี้

โลก

การหยุดกิจกรรมต่างๆ นี้จะกระทบไปสู่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว, การขนส่ง, และธุรกิจด้านการค้าปลีกต่างๆ และกระทบต่อยอดไปสู่ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ ของภาคบริการเหล่านี้ที่จะต้องเกิดปัญหาการชะงักงันตามมา ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเองก็ต้องประสบปัญหาการชะงักงันในการผลิต โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็นโรงงานการผลิตของโลก (The World’s Factory)

เมื่อภาคอุตสาหกรรมในประเทศจีนจำเป็นต้องหยุดการผลิตในโรงงานแล้ว ย่อมกระทบกับยอดการผลิตและการส่งออกจากภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยที่ระบบเศรษฐกิจจำต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ

3. ผลกระทบต่อการจ้างงาน, ค่าจ้าง, ความยากจน, และความเหลื่อมล้ำ

เมื่อมีผู้เจ็บป่วยจากการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก  ย่อมส่งผลไปสู่การสูญเสียรายได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปสู่ค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งจะมีแนวโน้มของการติดเชื้อไวรัสนี้มากที่สุด โดยการสูญเสียงานหรือเสียรายได้นี้จะมีโอกาสเกิดขึ้นกับคนทีมีฐานะยากจนที่เป็นแรงงานนอกระบบมากกว่าคนที่มีรายได้แน่นอนจากงานประจำ และมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา/กำลังพัฒนามากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิค-19 นี้จึงจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่ระดับความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นได้

4.  ผลกระทบทางลบด้านอุปทานการผลิต  อันจะส่งผลต่อสภาวะการเงินเฟื้อในสินค้าที่จำเป็นบางประเภทได้ เช่น หน้ากากอนามัย หรือเจลล้างมือ สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และผู้ขายเห็นช่องทางในการเก็งกำไร

ระบาด

5.ผลกระทบในระยะยาว ที่เกิดจากการสูญเสียทุนมนุษย์

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การตาย และการย้ายถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน ผลกระทบในระยะยาวนี้สามารถเกิดจากการที่ประเทศจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากจะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการป้องกันและรักษาเชื้อไวรัสโควิค-19  จนขาดแคลนทรัพยากรในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

นอกจากนี้ยังเกิดการสูญเสียทางด้านทุนมนุษย์ (Human Capital) ของประเทศ ที่จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเรื้อรัง (เช่นโรคที่เกี่ยวข้องกับปอด) หรือการที่เด็กนักเรียนนักศึกษาจะต้องหยุดเรียน โดยเฉพาะในประเทศที่มีฐานะยากจนที่ระบบการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างระบบสาธารณสุขและระบบการศึกษายังไม่ครอบคลุมทั่วถึงนัก

งานศึกษาของ Baker-McKenzie ได้พยากรณ์ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจนี้จะกระรายไปถึงประเทศในกลุ่มประเทศแอฟริกา เนื่องจากประเทศเหล่านึ้จะต้องทำหน้าที่ในการป้อนวัตถุดิบไปยังประเทศจีนและยุโรป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงาน ถ่านหิน นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ขณะที่งานศึกษาของ Asian Development Bank ได้พยากรณ์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาถึงผลกระทบต่อประเทศในกลุ่มเอเชีย โดยพยากรณ์ว่าประเทศที่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากที่สุดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากไวรัสโควิด-19 นี้ก็คือประเทศมัลดีฟ, กัมพูชา, และไทย อย่างไรก็ดี งานศึกษาดังกล่าวนี้เป็นเพียงการพยากรณ์จากผลกระทบของการที่เศรษฐกิจจีนเกิดการชะงักงันจากเชื้อไวรัสนี้เท่านั้น แต่เมื่อเชื้อไวรัสได้แพร่กระจายไปยังประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป แน่นอนว่า ผลกระทบดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นในวงกว้างอย่างมหาศาลกว่าที่ประมาณการณ์มากนัก

หุ้น 1

นักเศรษฐศาสตร์ได้วิเคราะห์ว่า ถ้าการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิค-19 นี้ไม่ได้บรรเทาลง เศรษฐกิจทั่วโลกจะประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยน่าจะมีความรุนแรงใกล้เคียงกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Great Depression) ที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1920 เลยทีเดียว

กรณีของประทศไทยเอง สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 ครั้งนี้ หากเป็นไปตามการพยากรณ์ในด้านเศรษฐกิจมหภาคของหลาย ๆ สำนัก ประเทศไทยคงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งในเชิงเทคนิค หมายถึง ภาวการณ์ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ณ ราคาที่แท้จริง หลังปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ติดลบติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส ซึ่งแน่นอนว่า ผลกระทบของโรคโควิค-19 ต่อผู้คนในสังคมในครั้งนี้ดูจะรุนแรงและแผ่ขยายเป็นวงกว้างยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540-2541

ทั้งนี้ International Monetary Fund (IMF) ได้นำเสนอวิธีการการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไว้ดังนี้

  • รัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะต้องจริงใจและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสนี้เป็นอันดับแรก และสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและแนวทางการแก้ไขของภาครัฐตลอดเวลา เพื่อลดการตื่นตระหนกของประชาชน อันส่งผลทำให้ประชาชนเกิดการป้องกัน อันมีส่วนช่วยในการลดการแพร่ระบาด โดยเร็ว และแน่นอนว่าประเทศที่มีการจัดการการแพร่กระจายได้ดี ประเทศนั้นก็จะสามารถฟื้นฟูประเทศจากการถดถอยทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น

covid 19 4987804 1280

  • รัฐบาลจะต้องพัฒนาระบบการช่วยเหลือผ่านช่องทางทางระบบสวัสดิการทางสังคม ไม่ควรที่จะช่วยเหลือกับทุกคนแบบหว่านแห แต่การช่วยเหลือควรกำหนดไปที่กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเชื้อไวรัสนี้ก่อน เช่นครัวเรือนที่มีฐานะยากจนหรือครัวเรือนที่ทำงานในสาขาที่สูญเสียงานหรือรายได้จากเชื้อไวรัสนี้โดยตรง โดยการช่วยเหลือควรที่จะเกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคไวรัสนี้เป็นหลัก เช่น การสนับสนุนการตรวจและการรักษาฟรี, การช่วยเหลือผู้ที่ตกงานผ่านระบบการสร้างงานสาธารณะ (Public Work Program) หรือการให้เงินช่วยเหลือแก่วิสาหกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบ
  • พัฒนาระบบการช่วยเหลือโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การเก็บข้อมูลในระบบ Just-in-Time ผ่าน Application ที่สามารถรวบรวมบุคลากรทางการแพทย์ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน การแชร์ข้อมูลข่าวสาร และการให้ข้อมูลข่าวสารในการเข้าถึงสินค้าที่จำเป็น (เช่นหน้ากากอนามัยหรือเจลล้างมือ) แบบ Real Time รวมไปถึงการรวบรวมสถิติการติดเชื้อและรักษาเพื่อที่จะนำมาปรับปรุงกระบวนการทำงานทางสาธารณสุขในประเทศต่อไป โดยในขณะนี้ประเทศจีนได้มีคู่มือ

ในทางปฏิบัติ นโยบายเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับ “ความเป็นผู้นำ” ในการแก้ไขปัญหาจากฝั่งรัฐบาล ทั้งการตัดสินใจที่ฉับไว การทำงานที่ประสานกัน และความจริงใจของคนในประเทศที่พร้อมจะแก้ปัญหานี้ด้วยกัน

Avatar photo