Business

สิ้นยุค‘มาร์เก็ตเพลส’ไทย Tarad.com ปรับสู่ ‘ยู-คอมเมิร์ซ’

ช่วง 19 ปีที่ผ่านมา “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ”  ผู้บุกเบิกธุรกิจ สตาร์ทอัพและอีคอมเมิร์ซ ยุคแรก ด้วยการเปิดตัวเว็บไซต์ ThaiSecondhand.com  ในปี 2542  ตามมาด้วย  Tarad.com ในปี 2544

จุดเปลี่ยนของ “ตลาดดอทคอม”  คือการเข้ามาลงทุนของ Rakuten จากญี่ปุ่นในปี 2552 ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายเว็บมาร์เก็ตเพลส  ที่เริ่มเข้าสู่สมรภูมิการแข่งขันรุนแรง จากยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ ที่ใช้เงินทำการตลาดระดับ 1,000-2,000 ล้านต่อปี  ทำให้ในปี 2559  Rakuten  ประกาศนโยบายเลิกธุรกิจมาร์เก็ตเพลส  ขณะนั้น “ภาวุธ” จึงซื้อคืนธุรกิจ “ตลาดดอทคอม” กลับสู่ธุรกิจมาร์เก็ตเพลส สัญชาติไทยอีกครั้ง

แต่สถานการณ์ในธุรกิจมาร์เก็ตเพลส ยังคงแข่งขันรุนแรงต่อไป จากต่างชาติที่มีเงินทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ลาซาด้า ช้อปปี้ อีเลฟเว่น สตรีท  ปีนี้ “เจดีดอทคอม และเซ็นทรัล”  จะเข้ามาทำตลาด มาร์เก็ตเพลส เต็มรูปแบบอีกราย

สิ้นยุค‘มาร์เก็ตเพลส’ไทย Tarad.com ปรับสู่ ‘ยู-คอมเมิร์ซ’
มารุต บูรณะเศรษฐกุล-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ส่งผลให้ “ตลาดดอทคอม” ต้องปรับบิซิเนส โมเดล อีกครั้ง  โดย ตลาดดอทคอม  เปิดทางให้  “ทีสเปซ ดิจิตอล”  ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “อเดลฟอล” ภายใต้กลุ่มทีซีซี  ของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เข้ามาถือหุ้น 51%  พร้อมพลิกโฉม “ตลาดดอทคอม” สู่ธุรกิจออนไลน์ครบวงจร

โซเชียลคอมเมิร์ซพุ่ง

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด ให้มุมมองว่าทิศทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยยังเติบโตต่อเนื่อง  โดยปี 2558 มีมูลค่า  2.2 ล้านล้านบาท เติบโต  10.41%

ปี 2559 มูลค่า  2.5 ล้านล้านบาท เติบโต  14.03%  และปี 2560 มูลค่า  2.8 ล้านล้านบาท เติบโต   9.86%

ปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย มี 3 ช่องทางหลัก คือ  Brand Site , มาร์เก็ตเพลส และโซเชียลมีเดีย  พบว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซ กลุ่มค้าปลีกและค้าส่ง ในปี 2559  มูลค่า 3.45 แสนล้านบาท

มาจาก เว็บไซต์ต่างประเทศ มูลค้า 1.57 หมื่นล้านบาท  อีคอมเมิร์ซ มูลค่า 9.88 หมื่นล้านบาท   เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นของสินค้าและแบรนด์เอง มูลค่า 9.38 หมื่นล้านบาท  และ โซเชียล มีเดีย มูลค่า 1.37 แสนล้านบาท  ถือเป็นช่องทางที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดอีคอมเมิร์ซ

ชูโมเดล “ยู-คอมเมิร์ซ”

หลังจาก ทีสเปซ เข้ามาร่วมถือหุ้นตลาดดอทคอม ได้ปรับบิซิเนส โมเดลใหม่ ภายใต้ 6E  คือ อี-คอมเมิร์ซ  , อี-มาร์เก็ตเพลส ,อี-มาร์เก็ตติ้ง ,อี-เพย์เม้นต์ ,อี-โลจิสติกส์ และ แวร์เฮ้าส์ และ อี-โนวเลจ

โดยจะเป็นบริการธุรกิจออนไลน์ครบวงจร  ภายใต้แพลตฟอร์ม U-Commerce (Universal Commerce) ที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยไปเปิดตลาดระดับโลกผ่านแพลตฟอร์มครบวงจร  ทั้งช่องทางโซเชียล มีเดียต่างๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง

รวมทั้งร่วมเป็นพันธมิตรกับ “มาร์เก็ตเพลส”รายใหญ่ เช่น ช้อปปี้ อีเลฟเว่นสตรีท เพื่อเชื่อมโยงร้านค้าในตลาดดอทคอม ที่มีกว่า 2.7 แสนราย  ให้มีช่องทางการขายที่หลากหลาย ปีนี้ตั้งเป้าจำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้น 150%  โดยตลาดดอทคอมจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ผู้ประกอบการมาใช้บริการ

ภาวุธ กล่าวว่ารูปแบบธุรกิจใหม่ของ ตลาดดอทคอม  จะไม่ทำธุรกิจมาร์เก็ตเพลส ในกลุ่มผู้บริโภค แต่จะให้บริการกับร้านค้า และเชื่อมโยงร้านค้าไปกับ มาร์เก็ตเพลสต่างชาติ เนื่องจากธุรกิจมาร์เก็ตเพลส เป็นของผู้เล่นรายใหญ่ จากต่างประเทศ ที่ต้องใช้เงินทุนด้านการตลาด ส่งเสริมการขาย แจกคูปองปีละ 1,000-2,000 ล้านบาท  เพื่อดึงผู้บริโภคมาใช้บริการในแพลตฟอร์ม  ปีนี้ “เจดี-เซ็นทรัล” จะเข้าสู่ตลาดอีกราย ทำให้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น

เชื่อว่าหลังจากนี้ จะไม่มีมาร์เก็ตเพลส สัญชาติไทยเหลือแข่งขันในตลาดอีก  และเป็นตลาดที่ยักษ์ใหญ่ต่างชาติแข่งขันกันเอง

ทีสเปซฯ รุกธุรกิจดิจิทัล

ทางด้าน มารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บรัท ทีสเปซ ดิจิตอล จำกัด กล่าวว่า อเดลฟอซ ได้จัดบริษัท ทีสเปซ ในเดือนมีนาคมนี้ ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท  เป็นบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจดิจิทัลและออนไลน์  เพื่อพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจใหม่ รวมทั้ง สตาร์ทอัพ  เพื่อเชื่อมโยงกับผู้บริโภคในทุกช่องทาง

“เราเล็งเห็นศักยภาพของคนไทยและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ต้องการขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซและออนไลน์ ทีสเปซฯ จะเข้ามาสนับสนุนและสร้างโอกาสการเติบโตไปพร้อมกัน”

สำหรับความร่วมมือกับตลาดดอทคอม เพราะเห็นศักยภาพและจุดแข็งด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่เป็นรายแรกของไทยมาเกือบ 20ปี  การร่วมมือกันจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ทั้ง 2 บริษัท

 

Avatar photo