Business

ยอดขาย ‘เซเว่นฯ’ หายไปแค่ไหน ? หลังประกาศเคอร์ฟิว 1 เดือน

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 เม.ย.) รัฐบาลได้ยกระดับมาตรการสำหรับควบคุมการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 เพิ่มเติม โดยกำหนดช่วงเวลาเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 1 เดือน 

เรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-ELEVEN ซึ่งเป็นธุรกิจเรือธงหลักของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด มหาชน หรือหุ้น CPALL เพราะระหว่าง 1 เดือนนับจากนี้ 7-ELEVEN จากที่เคยเปิดขาย 24 ชั่วโมง จะไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว

คำถาม คือ การที่เวลาเปิดบริการของ 7-ELEVEN หายไปวันละ 5 – 6 ชั่วโมงแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อยอดขายขนาดไหน และจะมีผลต่อ CPALL หรือไม่ ?

สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น CPALL ตั้งแต่มีข่าวนี้ออกมา ก็ปรับลดลง 1.62% จากราคา 61.75 บาท สู่ระดับ 60.75 บาท ซึ่งเป็นการปรับลดสวนตลาดในวันนั้น เนื่องจากในวันที่ 3 เมษายน 2563 ดัชนี SET Index ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.05% 

ทั้งนี้ เราจึงได้รวบรวมบทวิเคราะห์ของกรณีมาฝาก ถึงผลกระทบต่อ CPALL จากยอดขายที่หายไปของ  7-ELEVEN 

เซเว่น

เริ่มกันที่ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ ประเมินว่าหากรัฐบาลเคอร์ฟิว 1 เดือน จะทำให้ยอดขายของร้านค้าทั้งหมดของ CPALL มียอดขายลดลง 4 – 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน และหากคิดเป็นยอดของไตรมาส 2 ปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 1- 2% หรือคิดเป็นลดลง 0.5% ของยอดขายทั้งปี ซึ่งมองว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก เนื่องจากเป็นช่วง Off-peak ของร้านสะดวกซื้อ 

อย่างไรก็ดี ผมได้ลองกดเครื่องคิดเลขคำนวณออกมาให้เห็นชัดๆ คิดเป็นมูลค่าประมาณเท่าไหร่ โดยอ้างอิงยอดขายปี 2562 ของ 7-ELEVEN เฉลี่ยอยู่ที่ 571,110 ล้านบาท แปลว่ายอดขายจะหายไปประมาณ 2,855 ล้านบาทนั่นเอง ถามว่าเยอะไหม ก็ลองพิจารณากันดูเอาเองครับ 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน มองว่าจะกระทบต่อยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sales Growth) ในปี 2563 ลดลงประมาณ  7-8% และหากอ้างอิงจากช่วงรัฐประหารที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศเคอร์ฟิว เมื่อวันที่ 22 พ.ค. – 13 มิ.ย. 2557 เป็นเวลา 22 วัน ตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น. ยอดขายของบรรดาร้านสะดวกซื้อไม่ได้หายไปมากนัก

 

7 11 e1586150596686

สุดท้ายเป็นของบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ ระบุว่า หากย้อนไปเมื่อปี 2557 ที่ 7-ELEVEN ต้องหยุดตามมาตรการเคอร์ฟิว ปรากฏว่ายอดขายสาขาเดิมของ CPALL ในไตรมาส 2 ปี 2557 ยังเป็นบวก แสดงให้เห็นว่ารายได้ช่วงกลางคืนที่หายไป ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อยอดขายรวม

เหตุผลน่าจะมาจากร้านสะดวกซื้อถือเป็นร้านค้าที่เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด มีสินค้ามากมายหลากหลายชนิดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แม้เวลาในการเปิดร้านจะลดลง แต่เป็นช่วงเวลากลางคืนจึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อยอดขายในภาพรวมมากเท่าไหร่

ทั้งนี้ ในระยะยาวเราคงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปว่า มาตรการเคอร์ฟิวจะคงยืดเยื้อไหม เพราะหากนานกว่า 1 เดือน และสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ก็คงส่งผลกระทบมากกว่านี้แน่นอน 

ที่สำคัญ คือ พฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเริ่มเปลี่ยนไวขึ้น ด้วยการปรับตัวทั้งสั่งอาหารผ่าน App สั่งซื้อของออนไลน์ จนเป็นเรื่องน่าคิดว่าเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ ธุรกิจแบบเดิมๆ อย่างร้านสะดวกซื้อ จะยังคงได้รับความนิยมไหม หรือจะโดน Disrupt จากวิกฤติครั้งนี้ก็เป็นได้ 

Avatar photo