Business

ตลาดอุปโภคบริโภคเจอศึกหนัก กำลังซื้อส่อ ‘ร่วง’ยาวปี62

แม้เศรษฐกิจไทยมีทิศทางเติบโต โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2560 ขยายตัว 3.9% คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 เติบโต 3.6-4.6%

แต่ดูเหมือนกำลังซื้อกลุ่มสินค้าอุบโภคบริโภค (FMCG) ยังไม่สะท้อนการฟื้นตัว ตามทิศทางจีดีพี  ทั้งปีที่ผ่านมาและปีนี้

กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) ผู้วิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอัตราการหมุนเวียนสูง หรือ FMCG  (Fast  Moving Consumer Goods)  รายงาน กำลังซื้ออุปโภคบริโภค ปี 2557  เติบโต 2.6 %   ปี 2558  เติบโต 2.2%  ปี 2559 เติบโต 1.7%   และปี 2560  ติดลบ 0.4%     

Brand Footprint 2018 กันตาร์
อิษณาติ วุฒิธนากุล

k1

อิษณาติ  วุฒิธนากุล  ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท  กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) กล่าวว่าในภาวะเศรษฐกิจไทยและกำลังซื้อขยายตัวปกติ ตลาดอุปโภคบริโภคจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 3%  แต่นับตั้งแต่ปี 2557  การขยายตัวต่ำกว่า 3% มาอย่างต่อเนื่อง

ตลาดอุปโภคบริโภค ปี 2560 ติดลบ 0.4% จากตลาดรวม 4.42 แสนล้านบาท  เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 10  ปี หรือนับจากปี  หากแยกตามกลุ่มสินค้า พบว่า กลุ่มของใช้ในครัวเรือน  (Home Care) เติบโต  4.1%  กลุ่มสินค้าส่วนบุคคล  เติบโต 2.6%  และ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม  ติดลบ 2.4%

DSC 5725
กลุ่มสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างเด่นชัด จากครัวเรือนไทยโดยภาพรวมทั้งตลาดตัวเมืองและชนบท

แม้คาดการณ์จีดีพี ปีนี้ เติบโต 4% เป็นการขยายตัวจากการลงทุนเมกะ โปรเจค ภาครัฐ  ซึ่งยังไม่สะท้อนมายังครัวเรือนไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น  จึงมองว่ากำลังซื้ออุปโภคบริโภคปีนี้ ยังไม่กลับมาฟื้นตัว

ในปี 2561 และปี 2562  ยังจะเป็นปีที่ยากลำบาก  โดยเฉพาะธุรกิจ 2 กลุ่มหลัก คือ  ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและผู้ประกอบการค้าปลีก จากกำลังซื้อครัวเรือนไทยยังไม่ฟื้นตัว  คาดว่าช่วง 2 ปีจากนี้ ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค จะเติบโตสูงสุด 2% และต่ำสุด ติดลบ 1%

 ปีนี้จะเป็นปีที่มีอัตราเติบโตต่ำอีกปีหนึ่ง  เป็นผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคใน  3 ปัจจัย สำคัญ  คือ

1.การลดจำนวนทริปในการออกไปจับจ่าย ถึงแม้ผู้ค้าปลีกจำเป็นต้องออกโปรโมชั่นมากขึ้น  ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นให้เพิ่มความถี่ในการออกมาจับจ่ายได้  เพราะกลุ่มนักช้อปมีพฤติกรรมชอบเปลี่ยนแหล่งช้อปปิงไปเรื่อยๆ  เพื่อแสวงหา สินค้าและโปรโมชั่น  ตลอดจนจุดจับจ่ายที่ให้   ความคุ้มและประหยัดเงินที่สุด

2.การขยายสาขาของผู้ประกอบการค้าปลีก  ทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้นเป็นเหตุให้เกิดการแข่งขันอย่างหนักในการนำเสนอโปรโมชั่น  เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจเลือกจุดจับจ่าย

3.ตัดกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นออก เหล่านักช้อปยุคปัจจุบันมีการวางแผนการซื้อมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภท Package Grocery  โดยจะเลือกซื้อกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีความต่าง  และหลากหลาย  ที่จะส่งผลกระทบต่อยอดขายของแบรนด์สินค้า โดยตรง

ส่วนตลาดตัวเมืองและตลาดชนบท นั้น จากผลสำรวจพบว่า  เหล่านักช้อป โดยเฉพาะ ผู้ที่อยู่ในตัวเมืองนิยมทำการจับจ่ายไปทั่ว เพื่อให้ประหยัดที่สุด  ผู้ประกอบการค้าปลีก รวมถึง รูปแบบการค้าปลีกขนาดใหญ่ ยังคงใช้กลยุทธ์การอัดโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดเหล่านักช้อป

ขณะที่การแย่งชิงผู้บริโภคด้วยการขยายสาขาเพื่อบริการที่ครอบคลุมเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อ ให้เกิดความสะดวกสบายที่สุด  เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มนักช้อปในตัวเมืองนั้น  นอกเหนือจะลดความถี่ในการออกไปจับจ่ายแล้วก็ตาม  เขาก็ยังคงไม่ยึดติดกับการซื้อในจุดเดิมๆ  แต่กลับเลือกจุดจับจ่ายไปทั่ว   ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้เหล่าผู้ค้าปลีกเกิดการแข่งขันในการขยายจุดขาย

Avatar photo