Business

‘ครม.’ ไฟเขียวหลักการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3 วงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท

“ครม.นัดพิเศษ” ไฟเขียวหลักการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3 นาน 6 เดือน วงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท โดยส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณ ไม่ได้กู้ทั้งหมด คาดเสนอ ครม. ใหญ่ให้เห็นชอบรายละเอียดได้สัปดาห์หน้า

สมคิด 456

วันนี้ (3 เม.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันแถลงมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เฟสที่ 3 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ได้นำเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เฟสที่ 3 ให้ที่ประชุม ครม. นัดพิเศษเห็นชอบในหลักการ

การดำเนินมาตรการเฟสที่ 3 ต้องใช้วงเงิน 10% ของจีดีพี บวกลบไม่มาก และครอบคลุมระยะเวลา 6 เดือน โดยมาตรการนี้จะแบ่งการดูแลออกเป็น 3 ส่วนคือ ประชาชนและธุรกิจซึ่งยังขาดการดูแล เพื่อให้ครอบคลุมครอบทุกด้าน, สภาพคล่องของเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงักในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า และภาคการเงิน

หลังจากวันนี้ กระทรวงการคลังและ ธปท. ต้องไปพิจารณาแหล่งเงินทุนอีกครั้ง เพราะวงเงินดำเนินมาตรการส่วนหนึ่งต้องมาจากงบประมาณ เพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยวันนี้ก็มีการหารือเรื่องการโยกงบประมาณของกระทรวงต่างๆ 10% เพื่อนำมาใช้ดูแลเศรษฐกิจ และวงเงินอีกส่วนหนึ่งก็ต้องมาจากการกู้ยืม

โดยถ้าหากสรุปรายละเอียดของมาตรการและวงเงินได้เร็ว ก็จะเร่งนำเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 7 เมษายน 2563 ซึ่งมาตรการนี้จะสร้างความมั่นใจให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจว่า ประเทศไทยจะก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปได้

“ที่เหลือที่งบประมาณไม่สามารถที่จะทำได้  ก็จะมีการจะกู้ยืม โดยเป็นการกู้ยืมโดยกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลประชาชน และอีกส่วนเป็นการออก พ.ร.ก. ให้แบงก์ชาติออก Soft Loan ได้ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนของระบบการเงิน ไปดูแลผู้ประกอบการ แต่จะเท่าไหร่ เป็นยังไง ก็ต้องรอให้ผ่าน ครม. ก่อน” นายสมคิดกล่าว

สตาร์ทอัพช่วยเกษตรกรเมียนมา

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดชุดมาตรการเป็นกลุ่มก้อน เริ่มจากการดูแลภาคประชาชน กลุ่มเกษตรกร ซึ่งถึงจุดนี้อาจจะยังไม่ได้รับการดูแล ด้านผู้ประกอบการ ลูกจ้างในระบบประกันสังคม อาชีพอิสระ ลูกจ้างชั่วคราว เราดูแลแล้วและจะดูแลต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะลดภาระการผ่อนสินเชื่อเพิ่มเติมจากมาตรการของ ธปท. ที่ออกมาก่อนหน้านี้ คือ ในส่วนของสถานบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Bank) เพราะมีประชาชนใช้บริการขอสินเชื่อจำนวนมาก โดยหวังให้ประโยชน์สุดท้ายตกไปถึงประชาชนและผู้ประกอบการได้รับการดูแลด้วย

ด้านการดูแลโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม จะครอบคลุมถึงงบประมาณในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 สาธารณสุข และงบประมาณอื่นที่เกี่ยวข้อง อีกส่วนคือการดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ (Local Economy) เพราะแรงงานกลับสู่พื้นที่จำนวนมาก “เมื่อเหตุการณ์ดีขึ้นแล้วสภาพธุรกิจ การทำธุรกิจ ก็อาจจะเปลี่ยนไป” ประชาชนไม่น้อยก็ยังอยู่ในพื้นที่ จึงต้องดูแลทันที และต้องเสริมสร้างอาชีพ โอกาส ทักษะใหม่ๆ ให้ประชาชน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง รวมถึงมีแนวความคิดจะดูแลเรื่องการลงทุนของภาครัฐเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมทั่วประเทศ

ด้านผู้ประกอบการ ภาระใหญ่ข้อหนึ่ง คือภาระที่เกิดจากการกู้ยืม ให้มีสภาพคล่องเพียงพอ ซึ่งก็จะมีมาตรการชุดเพิ่มเติมจากเฟส 1 และเฟส 2 ที่ออกไปแล้ว

S 44965941

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการของธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มาตรการชุดที่ผ่านมา ธปท. ได้ทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์เพื่อเน้นดูแลลูกค้าประชาชนรายย่อย พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ตามมาด้วยกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อีกชุด แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่แน่นอนและอาจขยายวงกว้างมากขึ้น จึงต้องขยายมาตรการมากขึ้น

ธปท. จึงเสนอ ครม. ขอความเห็นชอบในหลักการ การออก พ.ร.ก.เพื่อให้ ธปท. สามารถปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ด้วยเงินของตัวเองได้โดยตรง เหมือนกรณีวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2555 โดยโครงการนี้จะใหญ่กว่าโครงการของธนาคารออมสินที่ผ่านมา แต่รายละเอียดของมาตรการนี้และ พ.ร.ก. ต้องรอให้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ก่อนจึงสามารถเปิดเผยได้

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต. )และ ธปท. จะร่วมกันพิจารณากลไกสำคัญเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้เอกชน ที่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ถึง 3.5 ล้านล้านบาท เทียบกับสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยให้ภาคเศรษฐกิจขนาด 14 ล้านล้านบาท

เนื่องจากตลาดตลาดสารหนี้เอกชนในปัจจุบันครอบคลุมประชาชนและองค์กรหลากหลาย เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้, สหกรณ์, ประกันสังคม, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และธุรกิจจำนวนมาก แต่ขณะนี้ตลาดตราสารหนี้โลกมีสถานการณ์ไม่ดีนักและมีความไม่แน่นนอน

ธปท. จึงขออนุมัติหลักการ ครม. เพื่อสร้าง “หลังพิง” ให้ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนสามารถดำเนินต่อไปได้ ด้วยการออก พ.ร.ก. ให้อำนาจ ธปท. สามารถซื้อตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี ซึ่งถึงกำหนดชำระเงินกู้เดิมและออกใหม่ (Roll Over) ได้

fig 24 03 2020 10 36 12

นอกจากนี้ ธปท. จะขยายเวลาการลดอัตราการคุ้มครองเงินฝากออกไปก่อน จากเดิมอัตราการคุ้มครองเงินฝากจะลดลงจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคม 2563 ก็ให้เลื่อนเป็นเดือนสิงหาคม 2564 แทน เพื่อลดความกังวลของประชาชนต่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่ขอยืนยันว่าขณะนี้สถาบันการเงินของไทยมีความมั่นคงดีมาก

นอกจากนี้ ธปท. จะลดการนำส่งเงินสมทบของธนาคารพาณิชย์ เข้ากองทุนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Fee) ซึ่งนำไปใช้หนี้วิกฤติต้มย้ำกุ้งปี 2540 จากปัจจุบันอัตรา FIDF Fee อยู่ที่ 0.46% ก็ให้ลดเหลือ 0.23% เป็นเวลา 2 ปี

เนื่องจาก FIDF Fee เป็นต้นทุนที่ค้ำธนาคารพาณิชย์อยู่ แม้ ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโนบายไป 2 ครั้ง ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ยังส่งต่อดอกเบี้ยนโยบายได้ไม่มากนัก จึงหวังว่าเมื่อ ธปท. ลดอัตราการนำส่ง FIDF Fee แล้ว สถาบันการเงินจะสามารถปรับลด “อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง” ที่ภาคธุรกิจและประชาชนใช้กู้เงินลงได้อีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจีดีพีประมาณ 16 ล้านล้านบาทต่อปี เพราะฉะนั้นวงเงินที่รัฐบาลจะใช้ในมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เฟสที่ 3 จะมีมูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท

Avatar photo