Business

‘คมนาคม’ สั่งทำรายละเอียดหั่นงบ 10% ยันไม่สะเทือนประมูล ‘รถไฟฟ้าสีส้ม’

“ศักดิ์สยาม” สั่งหน่วยงานคมนาคม เร่งทำรายละเอียดหั่นงบ 10% ช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 ให้เสร็จสัปดาห์หน้า ด้าน “รฟม.” ยันไม่กระทบประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.42 แสนล้าน “ทางหลวง” เด้งรับพร้อมหั่นงบ 1 หมื่นล้าน

DSC2697

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังประชุมกับหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ วันนี้ (31 มี.ค.) ว่า กระทรวงคมนาคมได้ขอให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาปรับลดงบประมาณของตัวเองประมาณ 10% เพื่อนำเงินไปช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 โดยยืนยันว่านโยบายดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ เพราะหน่วยงานต่างๆ สามารถขอจัดสรรงบประมาณผูกพัน 2 ปี เพื่อทดแทนได้

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้สูงมาก ท่านพูดกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องสุขภาพของพี่น้องประชาชนมาก่อนเรื่องอื่น เพราะฉะนั้นกระทรวงคมนาคมให้รีบไปดำเนินการ ภายในสัปดาห์หน้าแต่ละหน่วยจะต้องไปตกลงกับสำนักงานประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อทำแผนเรื่องการปรับลดงบประมาณของกระทรวงคมนาคมลง” นายศักดิ์สยามกล่าว

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) และประธานกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า นโยบายดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเดินรถตลอดสาย ช่วงบางขุนนท์-มีนบุรี มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท ซึ่งจะเปิดประมูลในช่วงกลางปีนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวใช้รูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนก่อน จากนั้นรัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนบางส่วนภายหลัง ดังนั้น จึงยังไม่ต้องใช้เม็ดเงินจากภาครัฐในเร็วๆ นี้

สำหรับกรมทางหลวงได้รับงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 113,883 ล้านบาท ซึ่งก็จะพิจารณาตัดลงงบประมาณลง 10% หรือประมาณ 10,000 ล้านบาทตามนโยบายของรัฐบาล

เบื้องต้นกรมทางหลวงจะไม่ตัดงบประมาณโครงการใหม่ ที่มีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี เพราะส่วนนี้ใช้งบประมาณไม่มาก แต่กรมทางหลวงจะพิจารณาจะตัดงบผูกพันข้ามปีและงบค้างท่อ เพราะโครงการที่ใช้งบผูกพันบางส่วนก่อสร้างล่าช้ากว่าแผน

โดยในปีงบประมาณ 2563 กรมทางหลวงได้รับงบผูกพันจำนวน 4.2 หมื่นล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงการจำนวน 200 โครงการ และมีงบค้างท่อเหลือประมาณ 8,000 ล้านบาท รวมแล้วประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งหากพบว่า โครงการใดก่อสร้างล่าช้าและมีแนวโน้มไม่สามารถเบิกงบประมาณได้ทันเดือนกันยายน 2563 กรมทางหลวงก็จะตัดงบประมาณไปให้รัฐบาลใช้แก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 จากนั้นกรมทางหลวงก็จะขอจัดสรรงบประมาณปีงบประมาณ 2564-2565 มาใช้ในโครงการดังกล่าวแทน

745114

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลไม่มาก อยู่ในระดับพันล้านบาท ด้านงบลงทุนส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีการกู้เงิน

อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ เพิ่งได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคมให้ตัดลดงบประมาณลง 10% จึงต้องไปพิจารณาในรายละเอียดก่อนว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่เบื้องต้นคาดว่า ประเด็นนี้คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนเมกะโปรเจ็คของการรถไฟฯ

Avatar photo