Business

งบไม่พอขอเพิ่ม! ‘เราไม่ทิ้ง’แห่ลงทะเบียน19.8 ล้านราย รอรับ 5 พันบาท

“อุตตม” แจงมาตรการเยียวยา 5,000 บาท “เราไม่ทิ้งกัน” รับ 3 เดือน มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 19.8 ล้านราย ขอเวลาตรวจสอบและคัดกรองตามหลักเกณฑ์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าจากการเปิดรับลงทะเบียนตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) ที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.comตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 มีผู้มาลงทะเบียนแล้วรวม 19.8 ล้านราย (ข้อมูล ณ เวลา14.00 น.) ซึ่งในภาพรวมหลังการปรับเพิ่มสมรรถนะของระบบการลงทะเบียนแล้ว การลงทะเบียนดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

นายอุตตม ย้ำว่าคนทำงานที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส Covid-19 โดยเฉพาะแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ถูกเลิกจ้าง โดนลดเวลาทำงานที่ส่งผลต่อรายได้โดนลดเงินเดือน หรือสถานประกอบการถูกปิด มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยยังสามารถเข้ามาลงทะเบียนที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ยังไม่มีกำหนดปิดรับลงทะเบียน เพื่อให้มั่นใจว่าคนทำงานที่ได้รับความเดือดร้อนจะได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง 

อุตตม33

หลังจากลงทะเบียนสำเร็จ จะได้เอสเอ็มเอสยืนยัน ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับเงินโดยอัตโนมัติ ยังมีความเข้าใจผิด เนื่องจากผู้ลงทะเบียนต้องผ่านการตรวจสอบและคัดกรองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก่อนจึงจะได้รับสิทธิ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจ่ายเงินเยียวยาถูกต้องและถึงมือผู้ได้รับผลกระทบจริง โดยการประมวลผลจะใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 7 วันทำการ ในกรณีที่ข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่าหลังจากที่ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เสร็จสิ้นแล้ว และได้รับการยืนยันว่าส่งข้อมูลถูกต้อง ให้รอการตรวจสอบข้อมูลและแจ้งผลกลับไปยังเอสเอ็มเอสที่ได้ลงทะเบียนไว้ ไม่ต้องติดต่อกลับมาที่หน่วยงานรัฐ  ยอมรับว่าเดิมจะใช้เวลาตรวจสอบอย่างเร็วที่สุด 7 วันทำการ  คาดว่าจะมีผู้มาลงทะเบียนประมาณ 10 ล้านคน ล่าสุดตัวเลขไปกว่า 20 ล้านคน อาจจะต้องใช้เวลาตรวจสอบนานกว่าเดิม

นายลวรณ กล่าวว่างบประมาณที่เตรียมไว้  45,000 ล้านบาท เพียงพอที่จะจ่ายให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิ์ 9 ล้านราย หากมีผู้ผ่านคุณสมบัติเกินกว่าที่คาดไว้ 3 ล้านราย กระทรวงการคลังก็เตรียมของบประมาณเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ยอมรับว่าตัวเลขลงทะเบียนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเดิมไม่ได้รวมในส่วนของลูกจ้างประกันสังคมตามมาตรา 39-40 ไว้  มีอยู่กว่า 6 ล้านราย แต่ในจำนวนนี้ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ทั้งหมด

นายลวรณ กล่าวว่าเกณฑ์การพิจารณาว่าใครจะได้รับสิทธิ์มี 3 เกณฑ์ใหญ่

1. ต้องเป็นแรงงาน ลูกจ้าง หรือประกอบอาชีพอิสระ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ ร้านก๋วยเตี๋ยว ค้าขาย เป็นต้น แสดงว่าต้องมีงานทำ

2.ต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนสถานประกอบการขนาดเล็ก มีลูกจ้าง 2-3 คน เช่นร้านนวดแผนโบราณ ถ้าร้านถูกปิด แรงงานที่ทำงานในร้านนี้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 3.ท่านได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างไร จะต้องเป็นผลกระทบต่อรายได้ที่เป็นตัวเงิน เพราะมาตรการเป็นการชดเชยรายได้ที่หายไปจากโควิด

“ข้อมูลต้องชี้ให้เห็นว่าท่านถูกให้ออก หรือตกงาน รายได้หายไปจากงาน หรือว่าถูกลดวันทำงาน ถูกลดเงินเดือนลง ก็เข้าข่าย หรือสถานประกอบการถูกปิดบางกลุ่มอาชีพที่ชัดเจนว่าได้รับผลกระทบ เช่น แท็กซี่ คนอยู่บ้านมากขึ้นทำให้ลดการเดินทางลง ส่วนคนที่ยังไม่ชัดเจนจะมีการติดต่อสื่อสาร เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล และให้ข้อมูลเพิ่มเติม”

ลงทะเบียน30

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight