Business

ปตท.ปั้นโกลบอลแบรนด์‘คาเฟ่ อเมซอน’ 2หมื่นสาขาทั่วโลก

การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ด้วยการแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก มาอยู่ภายใต้บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ PTTOR  เป้าหมายเพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. สร้างการแข่งขันเสรีในธุรกิจน้ำมัน พร้อมรุกขยายธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีกในต่างประเทศ

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ปตท. pttor คาเฟ่ อเมซอน
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR กล่าวว่าธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเป็นเรื่องการแข่งขันเสรี ซึ่งธุรกิจน้ำมันอยู่ใน ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีมาตราที่ระบุว่า รัฐวิสาหกิจไม่ควรทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชน  ปตท.จึงแยกธุรกิจน้ำมันออกมาเป็นบริษัท PTTOR  เพื่อไม่ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ในฐานะรัฐวิสาหกิจ และแข่งขันในธุรกิจเสรี

PTTOR  ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และกระจายหุ้นในปี 2562  โดยจะเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคน ที่ต้องการถือหุ้น PTTOR  มีโอกาสได้รับหุ้นนี้  คือทุกคนที่จองหุ้นจะได้หุ้น PTTOR  โดยมีการกำหนดจำนวนหุ้นขั้นต่ำที่ทุกคนต้องได้ไว้ ไม่ว่าจะจองเข้ามาเท่าใดก็ตาม จะได้หุ้นขั้นต่ำในรอบแรก และหากจองมากกว่านั้น จะต้องไปสุ่มผู้ได้หุ้นเพิ่มในขั้นต่อไป

ดังนั้นกลุ่มรายย่อยหรือเอสเอ็มอี วัยเกษียณ คนที่มีเงินไม่มาก ก็จะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของหุ้น PTTOR  โดย ปตท. จะลดสัดส่วนการถือหุ้น PTTOR จาก 100%  เหลือต่ำกว่า 50%

ดันคาเฟ่ อเมซอนสู่โกลบอลแบรนด์

นายอรรถพล กล่าวว่าหลังจากนี้เป้าหมายของ PTTOR  คือการสร้าง “แบรนดิ้ง ไทยแลนด์” ดังนั้นแผนการตลาดของ PTTOR  คือการทำให้ “คาเฟ่ อเมซอน” ก้าวสู่ “โกลบอล แบรนด์” เป็นอีกแบรนด์ของประเทศไทยที่ก้าวสู่ระดับโลก มีการจัดตั้งทีมงานภายในองค์กรและที่ปรึกษาจากนอกองค์กรมาร่วมให้มุมมองการทำงานตามแผนดังกล่าว  ที่ผ่านมาการออกไปขยายสาขาต่างประเทศ เป็นการทดสอบตลาด การวางเป้าหมายสู่โกลบอลแบรนด์ จึงต้องมีทีมงานและที่ปรึกษาเพื่อเป้าหมายระยะยาว

คาเฟ่อเมซอน

ปัจจุบันคาเฟ่ อเมซอน ในประเทศไทยมีกว่า 2,000 สาขา หากรวมต่างประเทศจะอยู่ที่ 2,300-2,400 สาขา  โดยสาขาต่างประเทศอยู่ในภูมิภาคเอเชีย  คือ ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น  มาเลเซีย และสิงคโปร์ และปีนี้กำลังจะเปิดตลาดตะวันออกกลางที่โอมาน  ปัจจุบันคาเฟ่ อเมซอนจึงถือเป็น “ริจินัล แบรนด์”

ภายใต้นโยบายก้าวสู่ “โกลบอล แบรนด์” วางแผนขยายสาขา คาเฟ่ อเมซอน ไปต่างประเทศให้ได้มากที่สุด ช่วง  5-10 ปี  วางเป้าหมายไว้กว่า 2 หมื่นสาขาทั่วโลก  เริ่มขยายสาขาจากภูมิภาคเอเชีย หลังจากนี้ประเทศที่เป็นเป้าหมายหลักคือ จีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่

ช่วง 3-5 ปีแรกต้องขยายสาขาในเอเชียให้ได้มากที่สุด เดือนสิงหาคมนี้ จะเปิดสาขาที่ โอมาน  ซึ่งจะเป็น “ฮับ” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง  การขยายคาเฟ่ อเมซอน ในโอมาน มีพันธมิตรเดิม โอมาน ออยล์ ที่ต้องการขยายร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมัน และนอกสถานีบริการน้ำมัน  โดยโอมาน ออยล์ จะเข้ามาเป็นแฟรนไชส์คาเฟ่ อเมซอน หลังจากนั้นจะข้ามทวีปเอเชียและตะวันออกกลางสู่ภูมิภาคอื่นๆ

“ยุโรปเป็นสเต็ปไกลๆ หลังจาก 5 ปีไปแล้ว ที่จะมาประเมินอีกครั้งว่า แบรนด์มีความแข็งแรง ก็จะออกนอกภูมิภาคเอเชีย และก้าวสู่โกลบอล แบรนด์ ใน 5-10 ปี”

ปัจจุบันร้านกาแฟ “สตาร์บัคส์” มีสาขาทั่วโลกกว่า 2 หมื่นสาขา  เป้าหมายการทำให้ “คาเฟ่ อเมซอน” ก้าวสู่โกลบอล แบรนด์ จะต้องมีสาขาให้ได้ 1 ใน 3 ของสตาร์บัคส์  โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า สตาร์บัคส์ น่าจะมีสาขา 5-6 หมื่นสาขา ดังนั้นคาเฟ่ อเมซอน จึงวางเป้าหมายไว้ที่ 2 หมื่นสาขา

คาเฟ่ อเมซอน

ชูคอนเซปต์ ‘กรีน’ วางตำแหน่ง Popular Brand

นายอรรถพล กล่าวว่ารูปแบบการลงทุนคาเฟ่ อเมซอนในต่างประเทศ มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการลงทุนเอง, ร่วมลงทุนในรูปแบบมาสเตอร์ แฟรนไชส์,ขายมาสเตอร์ แฟรนไชส์ ให้กับนักลงทุนต่างประเทศ  ในช่วงแรกหากนักลงทุนต่างประเทศยังไม่มีศักยภาพลงทุนเอง  บริษัทพร้อมเข้าไปลงทุนเองก่อน หลังจากนั้นจึงขยายการลงทุนรูปแบบแฟรนไชส์ให้ผู้ที่สนใจ

เอกลักษณ์ของคาเฟ่ อเมซอน ที่สร้างความแตกต่าง คือ แนวคิดเรื่อง Green Oasis ทั้ง Value Chain ตั้งแต่สภาพแวดล้อม การดีไซน์ร้าน บรรยากาศร้าน สินค้า

“คาเฟ่ อเมซอน” วางตำแหน่งเป็น Popular Brand ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการดื่มกาแฟสด ราคาปานกลาง คุ้มค่าการจ่ายเงิน และเข้าถึงได้

“เปรียบเทียบให้เห็นว่า ทุกคนต้องการขับรถเฟอร์รารี่ บีเอ็มดับเบิลยู แต่ก็ซื้อโตโยต้า เพราะเป็นแบรนด์ที่ทุกคนรู้จักและเข้าถึงได้ คาเฟ่ อเมซอน ทั้งในไทยและต่างประเทศจะเป็นร้านกาแฟสดที่ทุกคนเข้าถึงได้”

Avatar photo