Business

ชงมาตรการช่วย ‘17 สายการบิน’ ฝ่าวิกฤตไวรัสเข้า ‘ครม.เศรษฐกิจ’

“ศักดิ์สยาม” ชงมาตรการช่วย “17 สายการบิน” ฝ่าวิกฤตไวรัสเข้า “ครม.เศรษฐกิจ” 6 มี.ค.นี้ วอนสนามบินหยุดเก็บค่าธรรมเนียม 7 รายการ 100% ในปีแรก

DSC2697

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังหารือร่วมกับหน่วยงานด้านการบินในสังกัดและสายการบิน 17 แห่ง วันนี้ (4 มี.ค.) ว่า สายการบิน 17 แห่งได้ขอความอนุเคราะห์จากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณายกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบินจำนวน 7 รายการ เช่น ค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงของอากาศยาน (Landing Fee) ค่าธรรมเนียมจอดอากาศยาน (Parking Fee) ค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน เป็นต้น เพื่อให้สายการบินยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และยังเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยาว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสายการบินทั้ง 17 ราย ได้ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการดำเนินงานทั้ง 7 รายการ เป็นสัดส่วน 100% ในปีที่ 1 และ 50% ในปีที่ 2 โดยข้อเสนอนี้ ยังไม่รวมการขอสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน

สำหรับค่าธรรมเนียมแต่ละประเภทมีอัตราแตกต่างกัน เช่น กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงอากาศยานเที่ยวบินระหว่างประเทศ 10,425 บาท และในประเทศ 5,213 บาท ต่อการจอด 1 ครั้ง, ค่าธรรมเนียมที่จอดอากาศยานต่างประเทศ ราคา 1,230 บาท และในประเทศ 615 บาท ต่อการจอด 6 ชั่วโมง เป็นต้น

DSC2678

ชง ครม. เศรษฐกิจวันที่ 6 มี.ค.

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดูแลทุกหน่วยงานและทุกคนให้สามารถผ่านการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจะสรุปตัวเลขและมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือสายการบินต่างๆ ให้เสร็จภายในวันพรุ่งนี้ (5 มี.ค.) เพื่อที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจพิจารณาในการประชุมวันที่ 6 มีนาคมนี้

หากได้รับความเห็นชอบ ก็จะพิจารณาว่าอะไรที่หน่วยงานในความรับผิดชอบสามารถให้ความช่วยเหลือได้ ก็จะดำเนินการทันที แต่หากไม่ได้หรือไม่ไหว ก็อาจต้องขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐตามความจำเป็นต่อไป

fig 02 03 2020 07 33 38

ผู้โดยสารหาย 2.5 ล้านคน

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ทั้ง 17 สายการบินให้ข้อมูลตรงกันว่าสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีถึง 1 ปี 6 เดือน จึงสามารถฟื้นคืนสู่ภาวะปกติได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่เฉพาะเรื่องทางอากาศเท่านั้น แต่ทุกเรื่องต้องได้รับการฟื้นฟูไปพร้อมกัน

สถานการณ์วิกฤติในปัจจุบันส่งผลให้ตัวเลขผู้โดยสารในภาพรวมลดลงอย่างมากถึง 2,548,729 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นผู้โดยสารต่างประเทศลดลง 35.2 % และผู้โดยสารในประเทศลดลง 18.4% ส่งผลให้ต้นทุนสายการบินเพิ่มขึ้น 30-40% ต่อที่นั่ง ขณะที่อัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) ต่างประเทศลดลง 40-60% และในประเทศลดลง 70-80% มีเครื่องบินที่จอดไม่ได้ใช้งาน 10-15% รวมทั้งมีเครื่องบินที่ถูกยกเลิกแล้ว 7,879 เที่ยว แบ่งเป็นต่างประเทศ 6,960 เที่ยวและในประเทศ 919 เที่ยว

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ในส่วนขอสายการบินไทยและไทยสมายล์ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 17 สายการบินที่เข้าหารือในครั้งนี้ แต่จะนำข้อเสนอมาหารือในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.30 น. ที่กระทรวงคมนาคม

Avatar photo