Business

ACE มั่นใจ กวาดโรงไฟฟ้าชุมชน 400 เมกะวัตต์

ACE พร้อมเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 400 เมกะวัตต์ ลุ้นคว้า Quick Win มั่นใจความพร้อมวัตถุดิบ ชี้ทำงานร่วมกับชุมชนนับพันครัวเรือนมานาน ย้ำได้เปรียบเทคโนโลยี ใช้วัตถุดิบหลากหลายกว่า 50 ชนิด หวังผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง หลังกวาดโครงการรัฐ 1,100 เมกะวัตต์ สร้างการเติบโตปี 67 

IMG 20200127 122554

นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) (ACE) บริษัทผู้ผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนงานที่จะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ของภาครัฐ 2 โครงการ

ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่รัฐจะรับซื้อรวม 700 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะโครงการ Quick-Win ซึ่งเป็นเฟสแรกของโครงการ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก่อน รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ รวมแล้ว 1,100 เมกะวัตต์

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid จำนวน 4 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้ง 93 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการขอขยายเวลา การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในไตรมาสแรกของปีนี้

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน บริษัทมีความพร้อมทุกด้าน ทั้งประสบการณ์ในการพัฒนาและบริหารโรงไฟฟ้ากว่า 212 เมะวัตต์ ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยพัฒนา (R&D) เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ด้วยวัสดุการเกษตร และพืชพลังงาน รวมถึงขยะชุมชน ความพร้อมทางการเงิน ผู้บริหาร และวิศวกร จึงมั่นใจว่า บริษัทจะได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ

โดยปัจจุบันบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอยู่ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ มีการทำงานร่วมกับชุมชนนับพันครัวเรือน โดยโครงการที่เราจะเสนอเข้าไปนั้น จะมีขนาดหลากหลายตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์จนถึง 9.9 เมกะวัตต์ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่ ทั้งสายส่ง และวัตถุดิบที่จะป้อนโรงไฟฟ้า โดยเราจะเสนอเข้าไปเป็นโครงการ Quick-Win  รวม 350-400 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตที่รัฐจะรับซื้อรวม 600-700 เมกะวัตต์ และจะเข้าร่วมอีก หากมีเฟส 2

ทั้งนี้สิ่งที่เราต้องการนำเสนอรัฐ ในการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนก็คือ ต้องให้น้ำหนักกับ ที่มาของแหล่งวัตถุดิบที่จะเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชุมชน และต้องประกันราคาให้ชุมชนที่มาขายวัตถุดิบให้โรงไฟฟ้า ทั้งหมดจะทำให้เกิดความมั่นคงในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และช่วยเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง

ด้าน นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา กรรมการบริหาร ACE ระบุว่า จากการที่เราทำงานกับชุมชนมานาน ทำให้ทราบดีว่า สิ่งที่ชุมชนต้องการมากที่สุด คือ โรงไฟฟ้าที่ทำจริง และสามารถเดินหน้าได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวตลอดอายุของโรงไฟฟ้า ถ้าเป็นอย่างนี้เขาพร้อมเข้ามามีส่วนร่วม เราจึงมั่นใจในจุดแข็งของเรา ที่ทำงานกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ที่ป้อนวัตถุดิบให้เรา

ขณะเดียวกันบริษัทก็มีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี โดยปัจจุบัน มีการพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง สามารถรองรับเชื้อเพลิงชีวมวลได้กว่า 50 ชนิด และสามารถเผาเชื้อเพลิงเปียก อย่างเปลือกทุเรียน ที่มีความชื้นถึง 65% ได้ด้วย ซึ่งเราทำงานกับเกษตรกรที่มีวัตถุดิบหลากหลาย

นอกจากนี้ยังมีระบบดูแลสิ่งแวดล้อม โดยมีเครื่องกำจัดฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์ ( Electrostatic Precipitator :ESP ) ดังนั้นแม้ฝุ่นขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 ก็จะไม่เล็ดลอดออกไปแน่นอน

สำหรับศักยภาพโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย เราเคยศึกษาพบว่าประเทศไทย มีศักยภาพทางวัสดุทางการเกษตรและพืชพลังงานที่นำเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ถึง 12,000 เมกะวัตต์  ตอนนี้ประเทศทำได้เพียง 1,000 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงมั่นใจในศักยภาพที่จะทำโรงไฟฟ้าชีวมวลได้อีกมาก

ace natural gas gallery01

ด้านนายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ACE กล่าวเสริมว่า ACE มีโรงไฟฟ้า ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว กำลังการผลิต ติดตั้งรวม 212.18 เมกะวัตต์ และมีแผนงาน ขยายกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มขึ้น อีกประมาณ 1 เท่าตัว โดยจะมาจากโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา โครงการที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา และ โครงการในอนาคต

ทั้งโรงไฟฟ้าชุมชน และโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาว ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งรวมเป็นมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้ ACE เติบโตอย่างก้าวกระโดด และต่อเนื่องในช่วง 5 ปีนี้ แต่จริงๆหากเราได้รับการพิจารณาโครงการของรัฐทั้ง 2 โครงการ ก็คาดว่าเราจะถึงเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ ก่อนกำหนด โดยเงินลงทุนสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) ประมาณ 70-80 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ถ้าเป็นขนาดเล็ก (SPP) ประเภทไฮบริด ลงทุนประมาณ 40 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

ทั้งนี้ล่าสุด บริษัทประสบความสำเร็จ ในการลดค่าใช้จ่ายทางการเงิน กว่า 200 ล้านบาทต่อปี โดยการชำระคืนหุ้นกู้ก่อนกำหนดจำนวน 1,450 ล้านบาท และสามารถลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในอัตรากว่า 1.5% กับสถาบันการเงินชั้นนำ ซึ่งจะมีผลดี ต่อผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ และปีต่อไปอย่างมีนัย

และทำให้บริษัทมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยล่าสุดมีอัตราส่วน ทางการเงินที่ดีขึ้น มีอัตรากำไรขั้นต้น 32.4% และอัตรากำไรสุทธิ 17.6% อัตราส่วน หนี้สิน ที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (IBD/E) ต่ำ ประมาณ 0.50 เท่า ทำให้บริษัทมีศักยภาพในการลงทุน ขยายกิจการเพิ่มเติมได้อย่างมาก

ace kohkanun gallery01

สำหรับผลประกอบการของ ACE ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้รวม 3,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากรายได้รวม 3,261 ล้านบาท จากช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 กำไรสุทธิ 570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากกำไรสุทธิ 429 ล้านบาท จากช่วง 9 เดือนแรกปี 2561

ปัจจุบัน ACE มีทุนจดทะเบียน 5,088 ล้านบาท เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ของประเทศไทย และเป็น 1 ในผู้นำโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดของโลก ที่มีความสามารถผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลายประเภท มีความเชี่ยวชาญ ถือเป็นต้นแบบของโลกเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO 14001 , ISO 9001 และ OHSAS 18001

20190927 175807 02

และเรายังเป็นแบบอย่างของโลกในการดำเนินกิจการ โดยยึดหลัก ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล และเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิด positive Total Societal Impact (TSI) หรือผลลัพธ์เชิงบวกให้แก่สังคม จากการดำเนินงานของบริษัท

“นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ ของ ACE ช่วยลดมลภาวะ และเป็นประโยชน์ ต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน ป้องกันการเกิด PM 2.5 และ ลดปัญหาขยะชุมชน และ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนในชนบท” 

นางสาวจิรฐา กล่าวถึงกรณีราคาหุ้นของบริษัทที่ผันผวนรุนแรง โดยราคาระหว่างวันนี้ ขึ้นลงต่ำสุดอยู่ที่ 2.46 บาท สูงสุดอยู่ที่ 3.42 บาท โดยราคาหุ้นตกลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังเกิดกรณีโยกย้ายพล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผบ.ตร.มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ขอยืนยันว่า พล.ต.อ.วิระชัย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของ ACE แต่อย่างใด

Avatar photo