Business

ฟุ้ง! รื้อแผนฟื้นฟู ‘ขสมก.’ ประหยัดเงินหมื่นล้าน จากนี้ขอแค่พออยู่ได้ ไม่หวังฟันกำไร

ถก “แผนฟื้นฟู ขสมก.” ผ่านฉลุย! สหภาพฯ กลับลำส่งเสียงหนุนเต็มที่ ขอบคุณ “ศักดิ์สยาม” ช่วยดูแลค่าโดยสารประชาชน ด้าน “สุระชัย’ ฟุ้งแผนใหม่ลดเงินลงทุนได้หมื่นล้าน แนวทางต่อจากนี้ไม่หวังฟันกำไร ขอแค่พออยู่ได้เท่านั้น

614158

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่อง “การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)” วันนี้ (15 ม.ค.) ว่า กระทรวงคมนาคมและ ขสมก. ได้ร่วมกันปรับปรุงแผนฟื้นฟู ขสมก. อีกครั้ง เพราะเห็นว่าแผนฟื้นฟูฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2562 อาจส่งผลให้ ขสมก. มีผลประกอบการที่ดีในระยะสั้น แต่หลังจากนั้นก็จะกลับไปสู่วงจรเดิม ดังนั้น จึงควรทบทวนแผนอีกครั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

เป้าหมายของแผนฟื้นฟูฉบับใหม่มีหลายด้าน ทั้งการแก้ปัญหาเรื่องจราจรติดขัด ลดมลภาวะ พัฒนาคุณภาพบริการ ลดภาระค่าโดยสารให้ประชาชน โดยในวันนี้ ขสมก. ได้นำแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงมารับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย จากนั้นจะเสนอเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. จะพิจารณาการทบทวนแผนฟื้นฟูได้ในเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นจะส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงคมนาคมจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ก็จะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ตามขั้นตอน

S 85680154

เปลี่ยนจากซื้อเป็นเช่ารถ

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล  ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เปิดเผยว่า ขสมก. ได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์และข้อดีของการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการฯ ให้กับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. และพนักงานทุกระดับรับทราบแล้ว

โดยแผนฟื้นฟูฉบับใหม่มีเป้าหมายสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ การแก้ไขปัญหาขาดทุนของ ขสมก., ลดภาระค่าครองชีพประชาชน, ไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ, ลดมลภาวะ และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด

ประเด็นหลักๆ ที่มีการปรับปรุงในแผนฟื้นฟู ได้แก่ การเปลี่ยนวิธีการจัดหารถโดยสาร 3,000 คัน จากวิธีการซื้อ/ปรับปรุงรถเก่า เป็นวิธีการเช่าทั้งหมด โดยจ่ายค่าเช่าตามระยะทางที่วิ่งให้บริการจริง (บาท/กิโลเมตร) เพื่อลดต้นทุนในการวิ่งให้บริการในปัจจุบันซึ่งอยู่ในระดับสูง ประมาณ 50 บาทต่อกิโลเมตร

ทั้งนี้ ขสมก. จะเน้นเช่ารถเมล์ปรับอากาศที่ใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ รถไฮบริด, รถไฟฟ้า (EV) และรถที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) มาวิ่งให้บริการประชาชน ทดแทนรถโดยสาร (รถเมล์) เก่าที่มีสภาพทรุดโทรม เนื่องจากรถเมล์เก่าในฟลีทในปัจจุบันมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 20 ปี และบางคันมีอายุถึง 30 ปี

อีกทั้ง เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการเดินรถ ให้เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งจัดเก็บค่าโดยสารในรูปแบบตั๋วรายวัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) ในราคา 30 บาทต่อวัน  ตั๋วรายเดือน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) และตั๋วรายเที่ยว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน

นอกจากนี้ จะปรับปรุงเส้นทางเดินรถจาก 269 เส้นทาง เหลือ 104 เส้นทาง เพื่อไม่ให้มีความทับซ้อน และจัดเดินรถในลักษณะ Feeder (ป้อนผู้ใช้บริการเข้าสู่ระบบราง)  Liner  และ Circle (วิ่งเป็นวงกลม) ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลักได้อย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถหมุนเวียนรถมาให้บริการได้มากขึ้น ผู้ใช้บริการใช้เวลารอคอยรถ ไม่เกิน 5 – 10 นาที รวมถึงจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาใช้ในการบริหารจัดการเดินรถ ได้แก่ ระบบ GPS และ E-ticket

รถเมล์ 1

ลดเงินลงทุนหมื่นล้านบาท

นายสุระชัยกล่าวต่อว่า การปรับปรุงแผนฟื้นฟูยังส่งผลให้วงเงินลงทุนของ ขสมก. ลดลง โดยแผนฟื้นฟูฉบับเดิมใช้วงเงินลงทุน 27,214.434 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินที่ใช้ในการซื้อรถใหม่/ปรับปรุงสภาพรถเก่า 14,111.959 ล้านบาท เช่ารถ 7,098.384  ล้านบาท และดำเนินโครงการสมัครใจจาก (Early Retirement) 6,0004.00 บาท

แต่แผนที่ปรับปรุงใหม่ใช้วงเงินลงทุนเพียง 16,004 ล้านบาท หรือลดลง 11,210.343 ล้านบาท แบ่งเป็นการขอรับเงินอุดหนุน (PSO) จากรัฐบาลเป็นเวลา 5 ปี ปีละ 2,000 ล้านบาท หรือรวมแล้ว 10,000 ล้านบาท และโครงการเออร์รี่รีไทร์ 6,004 ล้านบาท โดยไม่มีการใช้เงินในการจัดซื้อรถเมล์ใหม่แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ขสมก. ยังต้องขอให้รัฐบาลช่วยรับภาระหนี้สินสะสมขององค์กรจำนวน 110,199.199 ล้านบาทเหมือนแผนฟื้นฟูฉบับเดิม เนื่องจาก ขสมก. ไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้สินจำนวนดังกล่าว

“แผนฟื้นฟูฉบับใหม่จะช่วยประหยัดงบลงทุนไปได้ 10,000 ล้านบาท ส่วนหนี้สินสะสม 1.1 แสนล้านบาท ก็ต้องขอให้รัฐบาลช่วยรับภาระ เพราะ ขสมก. ไม่สามารถจ่ายหนี้เองได้ โดยหลังจากนี้ ขสมก. ก็หวังว่าจะเดินได้ อยู่ได้แบบเพียงพอ ในระยะแรกก็ต้องขอเงิน PSO เป็นเวลา 5 ปีก่อน แต่หลังจากนั้นก็หวังว่าดีมานด์จะสูงขึ้น จากนั้นการขอ PSO จะลดลงและไม่ต้องขออีก อย่างไรก็ตาม ขสมก. ไม่หวังกำไร ระบบขนส่งไม่มีใครมีกำไร ส่วนใหญ่อยู่ได้เพราะรัฐบาลสนับสนุน” นายสุระชัย

ขณะเดียว ขสมก. ตั้งเป้าจะชวนรถร่วมบริการ ขสมก. (รถร่วมฯ) ที่มีใบอนุญาตมาวิ่งให้บริการเป็นเครือข่ายเดียวกันและเก็บค่าโดยสาร 30 บาทตลอดวัน เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดและลดปัญหาการจราจร แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องการเชิญชวนภาคสมัครใจ ไม่มีการบังคับ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าถ้าหากรถร่วมฯ ที่มีใบอนุญาตไม่เข้าร่วมเครือข่าย ก็สามารถเก็บค่าโดยสารรถเมล์ใหม่ในอัตรา 15-25 บาทต่อเที่ยวเท่าเดิม ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนต้องเสียค่าโดยสาร 2 ต่อ แต่ก็มองว่าเรื่องนี้เป็นทางเลือกของประชาชนมากกว่า

614156

“รถร่วม-สหภาพ” หนุนแผนใหม่

นางภัทรวดี กล่อมจรูญ ผู้ประกอบการรถร่วมฯ และอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (สมาคมรถร่วมฯ) เปิดเผยว่า กลุ่มรถร่วมฯ สนับสนุนแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงและพร้อมเข้าร่วมเป็นเครือข่ายรถเมล์กับ ขสมก. โดยจะนำรถเมล์กว่า 1,500 คันใน 50 เส้นทางเข้าร่วมกับ ขสมก. เนื่องจากแนวทางนี้ทำให้กลุ่มรถร่วมฯ มีความเสี่ยงต่ำ มีรายได้แน่นอน ไม่เกิดปัญหาขาดทุน ผู้ประกอบการจะรับผิดเฉพาะต้นทุนค่าบำรุงรักษาอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม รถร่วมฯ มีความเป็นห่วงเรื่องหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ ว่าจะมีข้อกำหนดอย่างไร โดยเฉพาะเกณฑ์ด้านคุณภาพรถและคุณภาพพนักงาน ซึ่ง ขสมก. ก็ต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ แต่มั่นใจว่าทางกลุ่มพร้อมเข้าร่วม เพราะมีรถเมล์ใหม่ตรงตามเงื่อนไข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเสียงคัดค้านจากสหภาพฯ เหมือนครั้งก่อน ซึ่งมีพนักงาน ขสมก. จำนวนมากมาชุมนุมหน้ากระทรวงคมนาคมและขอบุกเข้าไปรับฟังการชี้แจงข้อมูลด้วย จนทำให้การประชุมเชิงปฏิบัติการต้องล่มกลางอากาศ

ในครั้งนี้ สหภาพฯ ขสมก. ได้แสดงความเห็นด้วยกับแนวทางการปรับปรุงแผนฟื้นฟูและขอบคุณนายศักดิ์สยาม ที่มีนโยบายดูแลภาระค่าโดยสารให้ประชาชน พร้อมเสนอให้มีช่องทางจราจรเฉพาะสำหรับรถเมล์ (Bus lane) และดูแลพนักงานขับรถให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งผู้บริหาร ขสมก. และกระทรวงคมนาคมก็ตอบรับต่อเรื่องดังกล่าว

Avatar photo