Business

‘คมนาคม’ ของบปี 64 เพิ่มขึ้นเท่าตัวทะลุ 5.14 แสนล้าน เหตุโครงการจำเป็น-ชาวบ้านเรียกร้อง

“ศักดิ์สยาม” ชงของบปี 64 ของคมนาคมเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทะลุ 5.14 แสนล้าน “รถไฟ-ทย.-จท.” ได้เพิ่มมากสุด เหตุมีโครงการจำเป็นและประชาชนกว่า 70% เรียกร้อง

173381

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1 วานนี้ (4 ม.ค.) ว่า วงเงินคำของบประมาณของ 8 ส่วนราชการ 6 รัฐวิสาหกิจอยู่ที่ 5.14 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประจำ 1.24 แสนล้านบาท คิดเป็น 24.12% และงบลงทุน 3.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 75.88%

ทั้งนี้ ระบบขนส่งทางบก มีคำของบมากที่สุด 3.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 66.13% รองลงมา ทางราง 1.41 แสนล้านบาท คิดเป็น 27.43% ทางอากาศ 1.88 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3.67% ทางน้ำ 1.25 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.45% และด้านนโยบาย 1.67 พันล้านบาท คิดเป็น 0.33%

 

โครงการจำเป็น-ประชาชนเรียกร้อง

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า คำของบประมาณปีงบประมาณ 64 จำนวน 5.14 แสนล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขที่สูงกว่างบประมาณที่ได้รับในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3.04 แสนล้านบาท คิดเป็น 146.27%

อย่างไรก็ตามตัวเลขคำขอที่สูงขึ้นนั้น ล้วนเป็นโครงการที่มีความจำเป็น และมาจากการหารือ และที่ประชาชนเรียกร้องมากกว่า 70% โดยกระทรวงคมนาคมพยายามตอบโจทย์ให้ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ บก น้ำ ราง อากาศ แต่ทั้งนี้ได้มอบให้แต่ละหน่วยงานไปปรับปรุงรายละเอียดของโครงการต่างๆ และจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยให้มานำเสนออีกครั้งวันที่ 14 มกราคม ก่อนเสนอสำนักงบประมาณในวันที่ 21 มกราคม 2563 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

173384

“รถไฟ” ได้เพิ่มมากสุด

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า สำหรับหน่วยงานที่มีคำของบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563 มากที่สุดคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 9.09 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.73 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 570% รองลงมาคือ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 1.68 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.12 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 197.72% และกรมเจ้าท่า (จท.) 1.25 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.22 พันล้านบาท คิดเป็น 188.21%

ในส่วนของการรถไฟฯ สาเหตุที่คำของบเพิ่มสูงขึ้นนั้น เนื่องจากมีโครงการลงทุนสำคัญ อาทิ โครงการรถไฟสายสีแดงเข้ม รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต), โครงการรถไฟสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และการชำระหนี้เงินกู้

173383

ขยาย “รันเวย์” สนามบินภูธร

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วน ทย. จะขยายทางวิ่ง (Runway) ท่าอากาศยานต่างๆ เพราะรันเวย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความยาวสั้นเกินไป ไม่สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ได้ อาทิ ท่าอากาศยานตรัง และท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช

อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศไทยรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว การเดินทางมาประเทศไทยของนักท่องเที่ยวกว่า 90% ใช้การเดินทางทางอากาศ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการ และจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่ได้สั่งการให้พิจารณาเรื่องของพื้นที่ที่จะใช้ขยายรันเวย์ หากมีอยู่แล้วให้ขอมาได้เลย แต่หากไม่มีให้ไปดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ และข้อกฎหมายก่อน เช่น การเวนคืนที่ดิน และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะหากยังไม่เรียบร้อยจะมีปัญหาเบิกจ่ายไม่ได้

ขณะที่ จท. ต้องใช้งบเพื่อพัฒนาศักยภาพทางน้ำ โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือต่างๆ นอกจากนี้จะขอใช้งบกลางปี 2563 ประมาณ 800 ล้านบาท ติดตั้งระบบควบคุมการจราจรทางน้ำ (VTS) ระยะที่ 3 ควบคุมพื้นที่ทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงไปถึงภาคใต้ เพื่อรองรับการตรวจจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่จะเข้ามาตรวจในเดือน กุมภาพันธ์ 2564

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight