Business

‘ฟาสต์ฟู้ด-สแน็ค-ค้าปลีก’เร่งแจงสินค้าปลอดไขมันทรานส์

จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561  เรื่อง ห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายอาหารที่มีส่วนประกอบหรือใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน  เนื่องจากปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids)  จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ประกาศดังกล่าวมีเวลาให้ผู้ประกอบการที่ใช้กรดไขมันทรานส์ปรับตัว 180 นับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2561  ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ที่ดำเนินเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ได้ออกมาย้ำมาตรฐานการผลิตอาหาร ตามประกาศ

ไขมันทรานส์ แมคโดนัลด์

แมคโดนัลด์ ชี้แจงว่า น้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร  ใช้น้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ปราศจากไขมันทรานส์ จากซัพพลายเออร์ภายในประเทศ โดยมีหลักปฏิบัติในตรวจสอบคุณภาพน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมคุณภาพอาหารให้ได้ตามมาตรฐานแมคโดนัลด์

แมคโดนัลด์เร่งตรวจสอบเมนู“เบเกอรี่”

สำหรับผลิตภัณฑ์ “พาย” ได้รับทราบล่วงหน้าถึงมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขจะออกมาบังคับใช้กับกรดไขมันทรานส์ จึงได้ร่วมมือกับซัพพลายเออร์คิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องจนได้พายที่ไร้ไขมันทรานส์และปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยวางจำหน่ายตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ส่วน “แมคคาเฟ่ เบเกอรี่” ได้นำเข้าเบเกอรี่พรีเมียมจากหลากหลายประเทศ และกำลังดำเนินการตรวจสอบวัตถุดิบรวมถึงส่วนประกอบต่างๆ ที่อยู่ในเบเกอรี่ หากพบว่าเมนูใดที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ก็จะยกเลิกนำเข้าทันที

“เคเอฟซี”แจงทุกเมนูปลอดไขมันทรานส์

สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายอาหารที่มีไขมันทรานส์ ทำให้เกิดกระแสความเป็นห่วงเกี่ยวกับอาหารร้านอาหารบริการด่วนว่า อาจจะมีไขมันทรานส์อยู่ในอาหารในปริมาณมากกว่ากฎหมายกำหนดนั้น

ไขมันทรานส์ เคเอฟซี
รูปเฟซบุ๊ก KFC

เคเอฟซี ประเทศไทย ยืนยันว่าอาหารทุกเมนูที่จำหน่ายในร้านเคเอฟซี ประเทศไทย ปลอดจากไขมันทรานส์ 100% โดยเคเอฟซี ได้ดำเนินตามนโยบายบริษัทแม่ในประเทศสหรัฐ บริษัท ยัม! แบรนด์ ในการยกเลิกการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์มาตั้งแต่ปี 2558 โดยได้ทำงานร่วมกับคู่ค้าผู้จำหน่ายวัตถุดิบทุกรายในการเลิกใช้ส่วนผสมที่สามารถทำให้เกิดไขมันทรานส์ออกไป

นอกจากนี้ เคเอฟซี ประเทศไทย ยังใช้น้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นน้ำมันที่ไม่มีไขมันทรานส์ในการประกอบอาหารเมนูไก่ทอดและเมนูอื่นๆ ของร้าน และยืนยันว่าทุกเมนูของเคเอฟซีไม่มีการเติมส่วนผสมพิเศษใดๆ อันทำให้เกิดไขมันทรานส์

ทางด้านบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวในเครือเป๊ปซี่โค ยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวทุกชนิดของบริษัทที่ผลิตในประเทศไทย อันได้แก่ มันฝรั่งทอดกรอบเลย์ ขนมขึ้นรูปตะวัน ซันไบทส์ ทวิสตี้ และชีโตส มิได้มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) เป็นส่วนประกอบแต่อย่างใด

เทสโก้โลตัสปรับสูตรเบเกอรี่

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์  ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท  เทสโก้ โลตัส  กล่าวว่าหลังจาก เทสโก้ โลตัส ได้ปรับสูตรเบเกอรี่แบรนด์เทสโก้ทุกรายการให้ปราศจากไขมันทรานส์ เพื่อเป็นทางเลือกสุขภาพให้กับผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าที่ปัจจุบันมีความใส่ใจดูแลสุขภาพ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ปราศจากไขมันทรานส์กว่า 25 รายการ  อาทิ แฟรงค์เฟิร์ต 4 ชีส, สวีทบัน, เค้กโรล, พาย, โดนัท ราคา 7-35 บาท จำหน่ายในเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส กว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ

ไขมันทรานส์ เทสโก้โลตัส

ปัจจุบันเทรนด์สำคัญในเรื่องอาหาร คือ free from หรืออาหารที่ปราศจากสารปรุงแต่งหรือสารอาหารต่างๆ เช่น ปราศจากสารกันบูด ปราศจากกลูเต็น ปราศจากน้ำตาลหรือไขมันทรานส์ เป็นต้น ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ทั้งจากการรณรงค์ของภาครัฐ ผนวกกับการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ

ไขมันทรานส์ คืออะไร

ไขมันทรานส์ คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีโครงสร้างชนิดทรานส์ (trans) แหล่งของไขมันชนิดนี้พบได้ในปริมาณเล็กน้อยตามธรรมชาติในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ส่วนใหญ่เกิดจากการสังเคราะห์ขึ้นผ่านวิธีแปรรูปโดยกระบวนการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืช ทำให้น้ำมันพืชแข็งตัวมากขึ้น ไขมันชนิดนี้เป็นไขมันที่มีลักษณะไม่เป็นไข และสามารถทนกับความร้อนได้สูง สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่มีกลิ่นเหม็นหืน และให้รสชาติเหมือนกับไขมันที่ได้จากสัตว์ มักพบไขมันทรานส์ในเนยเทียม มาร์การีน ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียม ฯลฯ

ไขมันทรานส์ ส่งผลต่อโดยตรงต่อระบบการทำงานของระบบเอนไซม์ในร่างกายของเรา ทำให้ไขมันชนิดดีในร่างกายของเราลดลงหรือถูกทำลายไป และเพิ่มจำนวนไขมันชนิดเลวให้แก่ร่างกาย และไม่สามารถย่อยสลาย ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight