Business

ฉายภาพค้าปลีกปี 2563 ‘4 ความหวัง – 4 ความกังวล’

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยภาพรวมค้าปลีกของปี 2562 กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ฟื้น ดันค้าปลีกปีนี้โตแค่ 2.8% หดตัวต่อเนื่องจากปี 2561 ที่เติบโต 3.2% ชี้ซูเปอร์มาร์เก็ต – บิวตี้ ยังไปได้ ส่วนปีหน้าต้องจับตา “4 ความหวัง – 4 ความกังวล

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2562 ที่ผ่านมา มีสัญญาณการหดตัวในทุกหมวดสินค้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ จีดีพีประเทศตลอดปี 2562 คาดว่าน่าจะเติบโตเพียง ร้อยละ 2.6 โดยในส่วนของอุตสาหกรรมค้าปลีก คาดว่ามีการเติบโตเพียง 2.8% ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 3.2%

aisle 3105629 960 720

ทั้งนี้เป็นผลมาจากกำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางลงล่าง ที่ต้องอาศัยรายได้จากผลผลิตภาคเกษตรซึ่งยังคงมีกำลังซื้ออ่อนแอ และรอการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนให้เห็นในหมวดสินค้าไม่คงทน เช่น เครื่องดื่ม อาหาร ที่เติบโตลดลง ขณะที่ผู้บริโภคระดับกลางที่มีรายได้ประจำเริ่มแสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอลง ส่งผลให้การเติบโตการบริโภคหมวดสินค้ากึ่งคงทน อาทิ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา ซึ่งเคยเติบโต 8-12% ในช่วง 10 ปีผ่านมา กลับเติบโตเพียง 3.2%

อย่างไรก็ตามพบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ต ยังคงมีการเติบโต 4% สูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรม และกลุ่มค้าปลีกประเภทสุขภาพและความงาม เติบโตถึง 6% สะท้อนได้ว่ากลุ่มผู้บริโภคระดับกลางขึ้นบนยังมีกำลังซื้อสูงอยู่ และในจังหวัดที่เป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมถึงโครงสร้างประชากรชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น

ค้าปลีก

ขณะที่กลุ่มดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ยังคงได้รับผลกระทบจากบรรยากาศการจับจ่ายที่ยังไม่ปกติ และราคาสินค้าที่ไม่เอื้ออำนวยในการจับจ่ายแก่นักท่องเที่ยว เนื่องจากภาระภาษีนำเข้าของสินค้าแบรนด์หรูยังสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทำให้เติบโตเพียง 3.5% และกลุ่มค้าปลีกที่เติบโตน้อยที่สุดเป็นกลุ่มค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ที่โตเพียง 2% เป็นผลจากความซบเซาของอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังฉายภาพให้เห็น 4 ปัจจัยบวก ในการขับเคลื่อนการบริโภคภาคค้าปลีกในปี 2563 ได้แก่

  • น่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นจากนโยบายการคลังออกมาเพิ่มอีก ที่ผ่านมานโยบายการคลังเน้น “บรรเทา” ช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก่อน ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำในกลุ่มที่ยังมีกำลังจับจ่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้จ่ายให้กลุ่มคนชั้นกลาง ลูกจ้างประจำ ที่ยังไม่ถูกลดการทำงานเหมือนลูกจ้างชั่วคราว เช่น โครงการ “ชิม ช้อป ใช้” และโครงการ “100 บาท เที่ยวทั่วไทย”

แบ่งประเภท

 

  • การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2563 งบประมาณประจำปี 2563 ซึ่งถ้าเป็นภาวะปกติ งบประมาณประจำปี จะเริ่มเดือนตุลาคม แต่สำหรับปีนี้ ที่เพิ่งผ่านการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายน และส่งเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเดือนพฤศจิกายน คาดว่าน่าจะผ่านการพิจารณาอนุมัติราวเดือนมกราคม การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นผลราวปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งจะถูกเร่งรัดใช้ให้หมดภายในเดือนกันยายน งบประมาณปี 2563 จึงเป็นงบประมาณที่จะถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบภายใน 6 เดือน ซึ่งจะเป็นงบที่มาบรรเทาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวระยะสั้นได้
  • นโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ยังมีช่องว่างให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพีอยู่ที่ 42% ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จึงมีโอกาสที่จะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้น ก็เก็บภาษีมาใช้คืนหนี้ได้ตามนโยบายทางการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในไตรมาสแรกปี 2563 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% หากปรับลดก็จะเป็นดอกเบี้ยระดับต่ำที่สุดที่เคยมีมา การลดดอกเบี้ยจะช่วยประคองเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
  • ท่องเที่ยว ยังมีแนวโน้มเติบโต จากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทย พบว่าช่วง 2 เดือนนี้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาอย่างชัดเจน และประเทศไทยยังเป็นจุดหมายหลัก คือเป็น “จุดหมาย” อันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ประโยชน์ระยะสั้นจากเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง ที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เบนทิศทางมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น

shopping 2615482 960 720

อย่างไรก็ตามในปีหน้ายังมี 4 ปัจจัยลบที่ต้องจับตาได้แก่

  • ผลกระทบจากการเลิกจ้างและลดการผลิต ปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่กระทบคู่ค้าตลาดส่งออกทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย, การถูกสหรัฐตัดสิทธิประโยชน์ GSP สินค้าไทย อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบเต็มๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากสถิติ อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มีการจ้างงานราว 2.5 ล้านคน หรือราว 40% ของการจ้างงานภาคการผลิตทั้งหมด ปรากฏการณ์การปิดหรือการลดกำลังการผลิต การลดกำลังคน การยกเลิกโอที จนถึง การเลิกจ้างงาน มีให้เห็นเป็นรายวัน ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลงอย่างน่าตระหนกใจ
  • ผลจากภัยแล้งปี 2562 คาดว่ากระทบผลผลิตและรายได้ทางการเกษตรลดลง 16% จากปี 2561 สำหรับปี 2563 คาดว่ารายได้ทางการเกษตรจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย ในกรอบ -0.5% ถึง 0.0%
  • ผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 5-6 บาทต่อวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 มีผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงานภาคบริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และก่อสร้าง จะได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากยังต้องใช้แรงงานทักษะต่ำเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนได้ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ การจ้างงานของภาคบริการ โดยเฉพาะการจ้างงานในธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และการก่อสร้าง มีจำนวนมากกว่า 11 ล้านคน
  • ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรอบนี้เป็นวงกว้างและเป็นเวลานาน โดยมีผลต่อชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนราว 70% ของประชากร หนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ครัวเรือน ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อเป็นสำคัญ ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้มีผลกระทบเป็นวงกว้างและต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูกลับมา

shopping

จากปัจจัยต่างๆ ที่คาดการณ์ไว้ในปี 2563 ทำให้คาดการณ์ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกในปีหน้า จะได้อานิสงส์จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 เนื่องจากรอบในการหมุนของวัฎจักรจากการลงทุนการจ้างงานจนถึงการบริโภค อยู่ในช่วง 8-18 เดือน ซึ่งจะเป็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคค้าปลีกอย่างชัดเจนในราวปี 2565

ปัจจุบันตลาดการบริโภคค้าปลีกในไทยคาดว่าจะมีมูลค่าราว 3.8 ล้านล้านบาท ซึ่งการเติบโตจากนี้ไปของอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย จะมาจากค้าปลีกภูธรแถวสองเป็นหลัก ที่จะมีการขยายตัวมากกว่า จีดีพีของประเทศเป็นสองเท่า และจะขยายตัวออกนอกพื้นที่นอกจังหวัดมากขึ้น ส่วนกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ ก็จะพุ่งเป้าขยายตัวไปสู่ภูมิภาคพื้นบ้านและต่างประเทศมากขึ้น การเติบโตภาคค้าปลีกในประเทศจะค่อยๆ ชะลอตัวและทรงตัวในที่สุด

ขณะเดียวกัน ภาพของโมเดลธุรกิจใหม่ที่เป็นดิจิทัล กำลังชัดเจนมากขึ้น เห็นได้จากในช่วง 2-3 ปีนี้ ภาคค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่ได้เริ่มลงทุนเทคโนโลยี ดิจิทัล เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกกันว่า อี-บิสซิเนส เช่น ออมนิชาแนล จะเริ่มให้ผลเป็นรูปธรรมการเชื่อมออฟไลน์กับออนไลน์อย่างไร้รอยต่ออย่างชัดเจนไม่เกินปี 2565

การปฏิวัติการช้อปปิ้งสมัยใหม่ จะทำให้ผู้ประกอบการการค้าการขายแบบร้านดั้งเดิม ร้านค้าปลีกอิสระขนาดกลางขนาดเล็กๆ อาจจะได้ผลกระทบถึงขั้นล้มเลิกกิจการ ในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการแจ้งเกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มองภัยคุกคามในรูปแบบเทคโนโลยีผสมผสานกับพฤติกรรม เป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ โดยพัฒนากลายเป็นคู่แข่งใหม่ที่ไม่ต้องการทำเลที่ตั้งหน้าร้าน ไม่ต้องมีสต็อก สามารถเข้าหาลูกค้าได้ทั่วทุกสารทิศ ไม่สนใจเรื่องระยะทางและขนาดของธุรกิจ

“บิ๊กดาต้า ถ้าไม่เริ่มวันนี้ ก็อาจจะสายไปแล้ว แต่อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยยังขาดโนวเลจ และ โนวฮาว โดยพบว่า ห้างค้าปลีกไทย กว่า 91% ขาดความสามารถ เทคโนโลยี บุคลากร และกระบวนการต่างๆ ที่จำเป็นในการนำ “ข้อมูลเชิงลึก” (Insights) ของลูกค้ามาใช้เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า

Avatar photo