Business

‘ยูซิตี้’ เครือ ‘บีทีเอส’ ลุยซื้อโรงแรมยุโรป ดัน ‘เวียนนา เฮ้าส์’ ปั้น 3 แบรนด์ผงาด

จากความตั้งใจของ “คีรี กาญจนพาสน์” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หลังเข้าถือหุ้นใหญ่ 35.64% ในบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ในปี 2558 พร้อมเดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม

ทั้งนี้เป้าหมายของ ยู ซิตี้ คือการเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งคือ การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในต่างประเทศ และการมองหาแบรนด์ หรือธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมใหม่ๆ เพื่อต่อยอดการลงทุน

re VHE Potsdam HiRes 015 rz

จากเป้าหมายดังกล่าว ในปี 2559 ยู ซิตี้ จึงเริ่มขยายการลงทุนครั้งแรกในต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป ด้วยการเข้าลงทุนธุรกิจอาคารสำนักงาน 33 Gracechurch Street ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ต่อมาในปี 2560 ได้เข้าซื้อกิจการกลุ่มโรงแรม 24 แห่ง ภายใต้ชื่อ เวียนนา เฮ้าส์ รวมถึงธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมในยุโรป

ปี 2561 ถือเป็นปีที่สำคัญอีกปีหนึ่งของ ยู ซิตี้ จากการขยายธุรกิจเข้าสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการรับโอนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำจากบริษัท ยู นิคอร์น เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด รวมทั้งร่วมมือกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า

ยูซิตี้

จนถึงปัจจุบัน ยู ซิตี้ มีธุรกิจหลักประกอบด้วย

  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ประจำ ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมที่พัก, อาคารสำนักงาน และ ธุรกิจบริการอื่นๆ
  • ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ได้แก่ โครงการที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ ในกลุ่มโรงแรม ยู ซิตี้ เป็นผู้บริหารโรงแรมในเครือ ได้แก่ โรงแรมอีสติน ธนาซิตี้ กอล์ฟ รีสอร์ท ในโครงการธนาซิตี้ คันทรี คลับ, โรงแรมเวียนนา เฮ้าส์, แอ๊บโซลูท โฮเต็ล เซอร์วิส ประเทศไทย, โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ, โรงแรมยู สาทร กรุงเทพฯ, โรงแรมยู เชียงใหม่, โรงแรมยู อินจันทรี กาญจนบุรี, โรงแรมอนันตรา เชียงใหม่ รีสอร์ท แอนด์ สปา, โรงแรมอวานี ขอนแก่น

Khun Piyaporn Phanachet re
ปิยพร พรรณเชษฐ์

นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ล่าสุด ยู ซิตี้ เดินหน้าขยายพอร์ตธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศ ด้วยการใช้เงินลงทุนกว่า 890 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการโรงแรมรวม 19 แห่ง ผ่าน บริษัท เวียนนา เฮ้าส์ ในประเทศเยอรมนี  ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ยู ซิตี้ โดยมี 17 แห่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการอยู่ใจกลางเมือง และอีกสองแห่งเป็นโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง

สำหรับโรงแรมทั้ง 17 แห่งนั้นประกอบไปด้วยโรงแรมแบบบูทีคโฮเต็ลรวมทั้งสิ้น 12 แห่งที่เดิมเป็นแบรนด์อาร์โคน่า และอีก 5 แห่งเป็นโรงแรมที่ปัจจุบันยังดำเนินการอยู่ภายใต้แบรนด์ “สไตเกนเบอร์เกอร์” (Steigenberger) ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก้ และโรงแรมทั้งหมดนี้จะถูกดำเนินการในลักษณะเช่าบริหารภายใต้แบรนด์ของเวียนนา เฮ้าส์

การเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ทำให้ปัจจุบัน ยู ซิตี้ เป็นเจ้าของโรมแรมจำนวน 57 แห่ง มีห้องพักรวม 9,210 ห้อง รวมทั้ง ธุรกิจบริหารโรงแรม ภายใต้สี่แบรนด์ได้แก่ เวียนนา เฮ้าส์, ยู, อีสติน และ เทรฟลอดจ์ โดยมีโรงแรมในเครือรวมทั้งสิ้น 117 โรงแรม หรือ มากกว่า 30,000 ห้อง ซึ่งในจำนวนนี้มีจำนวนโรงแรมที่เปิดดำเนินการทั้งหมด 78 โรงแรม หรือ 11,720 ห้อง

การขยายธุรกิจในประเทศเยอรมันนีในครั้งนี้ เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในตลาดนักเดินทางเพื่อธุรกิจ ถือเป็นตลาดกลุ่มใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคยุโรป รวมถึงการเน้นจุดเด่นของแบรนด์ด้วยการลงทุนในโรงแรมซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นสเน่ห์ไม่เหมือนใคร ทั้งโครงสร้างภายนอกและที่ตั้งซึ่งอยู่ใจกลางเมืองของอาคาร ไปจนถึงการออกแบบห้องพักที่มีรูปแบบไม่ซ้ำกัน

ยู ซิตี้ งบ

ด้านนายรูเพิร์ท ซิมอนเนอร์ ประธานคณะผู้บริหารของเวียนนา เฮ้าส์ กล่าวว่า เหตุผลหลักในการตัดสินใจของ เวียนนา เฮ้าส์ ในครั้งนี้ประกอบไปด้วยที่ตั้งของโรงแรม ลักษณะของโรงแรมเอง รวมถึงบุคลากรที่มีอยู่แล้วของโรงแรมดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมองเห็นโอกาสจากตลาดท่องเที่ยวเยอรมัน ทั้งที่เป็นอินบาวด์ และเอาท์บาวด์ นับว่าเป็นตลาดที่สำคัญมากสำหรับบริษัท ขณะที่ตัวโรงแรมรวมไปถึงดีไซน์ก็สามารถเข้ากันกับแบรนด์ของเวียนนาเฮ้าส์ได้อย่างดี รวมถึงบุคลากรที่มีหัวใจการบริการในแบบอย่างที่บริษัทต้องการ

Rupert Simoner CEO Vienna House cVienna House re
รูเพิร์ท ซิมอนเนอร์

ภายหลังการเข้าซื้อกิจการและบริหาร คาดว่าจะได้เห็นการเติบโตไม่ต่ำกว่า 3% ในช่วง 18 เดือนแรกที่เข้าไปบริหาร ซึ่งโรงแรมใหม่ทั้งหมดที่เข้ามาอยู่ภายใต้เครือเวียนนา เฮ้าส์ นี้จะตอบโจทย์ความต้องการของทั้งกลุ่มนักเดินทางเพื่อธุรกิจ และกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยวางตำแหน่งทางการตลาดไว้เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ที่เป็นแนวบูทีคไลฟ์สไตล์

ขณะเดียวกัน ในปี 2563 แบรนด์เวียนนา เฮ้าส์จะสยายปีกในหลายเมืองทั่วออสเตรีย เยอรมันนี และสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ว่าจะเป็น สตุทการ์ท, เว็ตสลาร์, ออสนาบรุค, มิวนิค, เบรเมน,
ชาฟเฮาเซ่น, ไลป์ซิก, บาเดน-บาเดน, พ็อตส์ดัม, เบอร์ลิน, สตราลซุนด์, โรสต็อค, บราวน์ชวิค, วิสมาร์ และไอเซอนัค โดยโรงแรมเหล่านี้จะถูกรีแบรนด์ใหม่ภายใต้ 3 แบรนด์ของเวียนนา เฮ้าส์ ได้แก่ “เวียนนา เฮ้าส์”, “เวียนนา เฮ้าส์ อีซี่” และ “เวียนนา ทาวน์เฮ้าส์” ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

re Vienna Townhouse Bach Leipzig Rezeption Eingang MG 9829
Hotel, Detail, Emotion

แผนขยายธุรกิจของเวียนนา เฮ้าส์ ปกติจะมีอัตราการเติบโต 7-9% ต่อปี หรือจะชซื้อโรงแรมใหม่ๆ เฉลี่ยปีละ 5 โรงแรม

“ทวีปเอเชียเป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและด้วยพันธมิตรของเราอย่าง “ยู ซิตี้” ปัจจุบันเรามีออฟฟิศอยู่ทั่วเอเชีย ดังนั้น จะต้องมีชื่อของเวียนนา เฮ้าส์ ในการเริ่มต้นลงหลักปักฐานในเมืองหลวงของเอเชียไม่หนึ่งก็สองแห่งอย่างแน่นอน” นายรูเพิร์ท กล่าวเสริม

Avatar photo