Business

‘ทอท.’ เดินหน้า ‘เทอร์มินอล 2’ ดันโครงการเข้าบอร์ด 20 พ.ย. นี้

“นิตินัย” ปิดจ็อบ “เทอร์มินอล 2” สนามบินสุวรรณภูมิ หลังรับฟังความเห็นรอบด้าน กำหนดเสนอเรื่องเข้าบอร์ด 20 พ.ย. นี้ เชื่อผู้เกี่ยวข้องเข้าใจ พร้อมชี้แจง “ทอท.” ไม่ใช่เด็กดื้อ แตะต้องไม่ได้ เพราะยังต้องทำตามขั้นตอน

S 9281615
                        บรรยากาศการแถลงข่าว มีผู้สื่อข่าวและนักวิเคราะห์ให้ความสนใจจำนวนมาก

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าว “โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ” (North Expansion) ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ วันนี้ (15 พ.ย.) ว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้ ทอท. ดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็น และตอบข้อซักถามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน รอบด้าน ประกอบการตัดสินใจในโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือที่เดิมเรียกว่าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 (Terminal 2) นั้น

ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ทอท. ได้ดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็นและชี้แจงข้อซักถามกับผู้เกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าวแล้ว โดยฝ่ายสายการบินและผู้โดยสารต่างต้องการให้ ทอท. แก้ไขปัญหาความแออัดในอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 (Terminal 1) ด้านองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งดูแลความปลอดภัยด้านการบิน และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ซึ่งดูแลด้านโลจิสติกส์และการใช้งานของสนามบิน ก็แนะนำให้สนามบินทุกแห่งทบทวนผังแม่บท (Master Plan) ทุกๆ 5 ปีเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์

 

เชื่อ “คมนาคม-สภาพัฒน์” เข้าใจ

นายนิตินัยกล่าวว่า ทอท. จึงจะเสนอความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ประกอบข้อมูลโครงการ North Expansion ให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ถ้าบอร์ดเห็นชอบ ก็จะเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคม, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอน ทอท. ไม่ใช่เด็กดื้อ หรือแตะต้องไม่ได้อย่างที่มีคนพูดถึง

ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเห็นชอบโครงการนี้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละหน่วยงาน ทอท. ไม่สามารถก้าวล่วงได้ แต่ที่ผ่านมา ทอท. ก็ได้หารือกับกระทรวงคมนาคมและให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับสภาพัฒน์ จึงเชื่อว่าหน่วยงานต่างๆ น่าจะเข้าใจ

“ตอนนี้ปิดจ็อบงานของฝ่ายบริหาร ทอท. แล้ว จากนี้ต้องเสนอบอร์ดและให้หน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณา” นายนิตินัยกล่าว

สุวรรณภูมิ 2

เปิดใช้เร็วสุดปี 66

ถ้าหากโครงการ North Expansion สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ก็คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 25466-2567 มีความสามารถรองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคนต่อปี และเพิ่มหลุมจอดเครื่องบินระยะประชิดอีก 14 หลุดจอด

ขณะเดียวกันการเปิดโครงการ North Expansion จะส่งผลให้สนามบินสุวรรณภูมิ มีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 100 ล้านคนต่อปี ในปี 2566-2567 ขณะเดียวกันคาดว่าปริมาณผู้โดยสารภายในสนามบินสุวรรณภูมิจะเพิ่มจาก 65 ล้านคนต่อปี เป็น 82 ล้านคนปี แสดงว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะมีความแออัดลดลง มีมาตรฐานบริการดีขึ้น และมีพื้นที่รองรับการเติบโตเพิ่มได้อีก

อย่างไรก็ตาม หาก ทอท. ไม่สามารถผลักดันโครงการก่อสร้าง North Expansion ก็จะส่งผลกระทบให้พื้นที่นอกเขตการบิน (Landside) มีความหนาแน่นมากขึ้น เพราะการก่อสร้างทางวิ่ง (Runway) แห่งที่ 3 ภายในสนามบินสุวรรณภูมิจะแล้วเสร็จประมาณปี 2564-2566 ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการรองรับเครื่องบินภายในเขตการบิน (Airside) เพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถขยายพื้นที่ใน Landside เช่น เคาน์เตอร์เช็คอิน ได้ตามแผน

สนามบินสวรรณภูมิ

ตอบ 3 ปมสงสัย

นอกจากนี้ นายนิตินัยได้อธิบายประเด็นที่มีการตั้งคำถามถึงโครงการ North Expansion จำนวน 3 ข้อ ดังนี้

1.ทำไม ทอท. จึงไม่ปฏิบัติตาม Master Plan ฉบับเดิม : ในประเด็นนี้ ทอท. ขอชี้แจงว่า ทอท. ปฏิบัติตามหลักการของ Master Plan เดิม แต่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงทุก 5 ปี ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล

ทอท. ได้เริ่มจัดทำ Master Plan ภายในสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่ปี 2536 ซึ่ง ICAO และ IATA ได้ศึกษา และแนะนำให้มีการปรับปรุงแผนแม่บทท่าอากาศยานทุกๆ 5 ปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจการบินที่เปลี่ยนแปลงไป

โดย ทอท. ได้เร่งรัดดำเนินการตามหลักการของ Master Plan เดิม ซึ่งยังคงดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานจากด้านทิศเหนือไปยังทิศใต้ โดยมิได้มีการชะลอโครงการแต่อย่างใด

แต่เมื่อ ICAO ได้ปรับปรุง Master Plan ตามเกณฑ์กรอบระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นในปี 2554 ซึ่งเป็นภาวะที่สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถนั้น ICAO ได้แนะนำให้ปรับปรุง Master Plan เดิม โดยมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรใน Master Plan ดังกล่าวว่า “จากข้อเสนอเดิมที่ให้ขยายอาคารที่ปลายทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกนั้น จะยากมากสำหรับการดำเนินการเมื่ออาคารยังถูกใช้งานที่เต็มขีดความสามารถอยู่ ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาคือการย้ายกระบวนการผู้โดยสารในประเทศไปยังบริเวณอื่น และปรับบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศทดแทน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริการน้อยกว่า”

โดย ICAO ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า “วิธีการที่ดีที่สุดในระยะสั้นคือ การพัฒนาอาคารที่แยกเป็นอิสระต่อเนื่องกับอาคารเทียบเครื่องบิน A เพื่อรองรับผู้โดยสารในประเทศทั้งขาเข้าและขาออก” ซึ่ง Master Plan ปัจจุบันที่เขียนขึ้นในภาวะที่สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถเช่นกัน แนวทางการก่อสร้างจึงยังยึดหลักการเดิมของ ICAO ที่แนะนำให้ต่อขยายอาคารเทียบเครื่องบิน A ออกไปในตำแหน่งเดิมที่ ICAO เคยแนะนำทางด้านทิศเหนือ จะมีปรับก็เพียงวิธีการบริหารจัดการอาคารดังกล่าวให้เหมาะสมกับจำนวนและแนวโน้มผู้โดยสารตามคำแนะนำของผู้ใช้งานโดยตรงรวมถึง IATA ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้มีการปรับปรุงแผนแม่บททุก 5 ปีด้วยเช่นกัน เท่านั้น

ดังนั้น ทอท. จึงขอยืนยันว่า ในอุตสาหกรรมทางการบิน จำเป็นต้องไม่ยึดติดกับ Master Plan ที่อาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยองค์กรระหว่างประเทศแนะนำให้ต้องปรับปรุงแผนแม่บทให้ทันสมัยทุก 5 ปี เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในอุตสาหกรรมการบินอย่างแท้จริง

วีซ่า ตม. 5

2.North Expansion แก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่ : ในการขยายอาคารไปทางทิศเหนือตามคำแนะนำของ ICAO นี้ ทอท. ได้มุ่งแก้ปัญหาความแออัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเอาปัญหา (pain point) ของผู้ใช้งานเป็นที่ตั้ง เพื่อรวบรวมความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างครบถ้วน จึงมั่นใจได้ว่า จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยยังได้มุ่งเน้นการบรรเทาที่เกิดขึ้นจาก Master Plan ฉบับก่อนหน้าควบคู่กันไปด้วย

ทอท. ได้พูดคุยกับผู้ใช้บริการ สายการบิน และผู้ประกอบการในสนามบินสุวรรณภูมิถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการใช้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น การจราจรติดขัดบริเวณชานชาลาอาคารผู้โดยสาร การใช้เวลารอนานทั้งในขั้นตอนการตรวจหนังสือเดินทาง ซึ่งมีจำนวนเคาน์เตอร์จำกัด จุดรับกระเป๋าและเคาน์เตอร์เช็คอินไม่เพียงพอ

โดย ทอท.ได้เร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยมีการหารือร่วมกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติที่มีสัดส่วนเที่ยวบินมากที่สุด, IATA, คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน ( AOC), Board of Airline Representatives Business Association (BAR), คณะกรรมการที่ปรึกษาท่าอากาศยาน (ACC) และประชุมหารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (กยผ.) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และสภาพัฒน์

ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบ เรื่องการพัฒนาที่ดินแปลงด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) เป็นอาคารผู้โดยสาร (Optional Terminal) ตามที่ระบุใน Master Plan สนามบินสุวรรณภูมิของ ICAO ฉบับ 2552 และ 2554 และมีความเห็นสอดคล้องกับ ทอท.ในการดำเนินการก่อสร้าง North Expansion ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดำเนินการได้รวดเร็วและส่งผลกระทบน้อยที่สุด

นอกจากการแก้ปัญหาจากคำแนะนำของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงข้างต้นแล้ว North Expansion ยังบรรเทาปัญหาที่มีอยู่เดิม เช่น การมีหลุมจอดด้านตะวันออก (จุดที่จะมีการต่อขยาย) แต่เครื่องบินต้องไปขึ้นทางทิศตะวันตก ซึ่งเดิมจะทำให้เกิดการตัดของการจราจรทั้งรถบัสที่ไปส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องฯ และเกิดการตัดของการจราจรอีกครั้งเมื่อเครื่องฯ จะมาขึ้นในทางวิ่ง (Runway) ด้านตะวันออก เมื่อมี North Expansion แล้ว ก็จะสามารถลดปัญหาเดิมที่จะต้องนำรถบัสไปส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องได้ เป็นต้น

ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ สนามบิน2

3.ทอท.ไม่ได้เมินหน่วยงานรัฐ : ทอท. ยืนยันดำเนินการตามกระบวนการ โดยหลังจากนี้จะต้องขอความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป มิได้ข้ามขั้นตอน หรือสามารถจะมีอภิสิทธิ์เหนือกฎเกณฑ์ใดๆ

สำหรับประเด็นที่ว่า ทอท.ไม่สนใจคำทักท้วงและข้อเสนอแนะนั้น ทอท. ขอยืนยันว่า นอกจาก ทอท. ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว ทอท. ได้ดำเนินการโครงการนี้ตามสั่งการของรัฐมนตรีว่าการ

กระทรวงคมนาคมที่ให้มุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ อันนำมาซึ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และรวบรวมข้อเสนอแนะจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องข้างต้น และยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามกระบวนการลงทุนของประเทศทุกขั้นตอน

โดยหลังจากนี้ ฝ่ายบริหาร ทอท. จะนำข้อมูลประกอบการตัดสินใจนี้เสนอที่ประชุมบอร์ด ทอท.

ในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562 หากบอร์ดเห็นชอบก็จะนำเสนอกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นกระทรวงต้นสังกัด และสภาพัฒน์เพื่อกลั่นกรองความเหมาะสม และนำเสนอ ครม. ต่อไป

Avatar photo