Business

‘CP’ อัดฉีด 1.4 แสนล้าน ปั้นที่ดิน ‘มักกะสัน’ เร่งระดมทุนรองรับ ‘ไฮสปีด’

 “รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน” เซ็นสัญญาแล้ว! “ศุภชัย เจียรวนนท์” ลั่นลุยตอกเสาเข็มใน 1 ปี เทเงิน 1.4 แสนล้านบาท ปลุก “พื้นที่มักกะสัน” แง้มคุยพันมิตรใหม่ เตรียมลดหุ้นเหลือ 51% เล็งระดมทุนผ่าน “กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน” มีโอกาสดันเป็นบริษัทมหาชน

รถไฟความเร็วสูง ลงนาม CP

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.45 น. วันนี้ (24 ต.ค.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ประธาน ลงนามสัญญาร่วมทุน (PPP) “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟฯ และ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร : CPH) โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)

รวมทั้งพิธีลงนาม “บันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน” ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, การรถไฟฯ โดยนายวรวุฒิ มาลา และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์

รถไฟความเร็วสูง ลงนาม CP

ลงทุน “ไฮสปีด” แบบ PPP ครั้งแรก

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังพิธีลงนามสัญญาว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลอย่างรัดกุมของ EEC และ “นับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการ รถไฟความเร็วสูง ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost)” ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท

โดยกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ มีมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 119,425 ล้านบาท ปรากฏว่ากลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงิน ที่รัฐร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันจำนวน 117,226 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน  50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

สำหรับกรณีที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายเปิดเผยสัญญา PPP ให้ประชาชนรับทราบนั้น นายวรวุฒิ กล่าวว่า การเปิดเผยสัญญาต้องดำเนินการตามขั้นตอน โดยฝ่ายกฎหมายของ EEC จะเป็นผู้ให้ความชัดเจนในเรื่องนี้ ขอให้ใจเย็นๆ “รับประกันตรงนี้ว่า เป็นไปตามมติ ครม., RFP, TOR ทุกประการ”

ด้านความคืบหน้าในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างนั้น ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้สรุปร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเสร็จแล้ว และคาดว่าจะเสนอให้ ครม. เห็นชอบในสัปดาห์หน้า ก่อนจะดำเนินการบังคับใช้และส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างต่อไป

S 91742322
วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

เป็นเกียรติและภาคภูมิใจ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่ม CPH เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ได้มีโอกาสร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการ รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน

โดย CP ถือหุ้น 70% ได้ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย

China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนถือหุ้น 10%

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ถือหุ้นร่วมกัน 15%

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ถือหุ้น 5%

จัดตั้ง “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด” หรือEastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.” เป็นตัวแทนลงนามในสัญญา PPP ในครั้งนี้

คีรี11
เปรมชัย กรรณสูต

ทั้งนี้ นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทย ที่ภาคเอกชนได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน PPP กับภาครัฐผลักดันให้เกิดโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็คระดับนานาชาตินี้ขึ้นมาได้สำเร็จ

โดย CP ต้องขอขอบคุณพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า รวมทั้งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (CDB) รวมทั้งได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากเอกอัครราชทูต 3 ประเทศ ประกอบด้วย

นายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

นายโลเรนโซ กาลันตี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนและร่วมเป็นสักขีพยานในโครงการนี้

S 15925401

รอพื้นที่ 1 ปี ก่อสร้างอีก 5 ปี

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ภายหลังการลงนามสัญญาแล้ว CPH จะเร่งเข้าไปบริหารจัดการบริษัทรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อจะได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจ/ออกแบบ เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และซัพพลายเออร์ (Suppliers) ต่างๆ รวมถึงเร่งจัดทำแผนก่อสร้างและเดินหน้าทันที

การก่อสร้างส่วนใหญ่จะเริ่มต้นภายใน 12 เดือนข้างหน้า  ที่สำคัญคือเกินกรอบ 24 เดือนไม่ได้ โดยยิ่งก่อสร้างได้เร็ว ก็จะยิ่งดี คาดว่าการก่อสร้าง “ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ” จะเริ่มได้เร็วที่สุด เพราะต้องมีการปรับปรุงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง

ส่วนพื้นที่ที่ยากที่สุด คือ “ช่วงพญาไท-ดอนเมือง” และพื้นที่ “ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา” เป็นพื้นที่ที่ยาวที่สุดในการส่งมอบ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนมีความท้าทายแตกต่างกัน จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

การก่อสร้างจะใช้เวลาทั้งหมด 5 ปี ด้านอัตราค่าโดยสารจะเป็นไปตามเอกสารการประมูล (TOR) คืออยู่ระหว่าง 115-490 บาท ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องหารือกับการรถไฟฯ เพราะเป็นนโยบายประเทศ แต่หลักการก็คือกำหนดเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้

ทั้งนี้ เมื่อ รถไฟความเร็วสูง เปิดให้บริการแล้วก็จะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า  รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโครงการด้วยเทคโนโลยีสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง และมีศักยภาพสูงเพียงพอ ที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

รถไฟความเร็วสูง
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก

คุยพันธมิตรใหม่ “รถไฟความเร็วสูง”

นายศุภชัย กล่าวถึงการแบ่งงานกลุ่มพันธมิตรว่า ITD และ CK เป็นผู้รับเหมาไทยที่มีความสามารถด้านการก่อสร้าง โดยเฉพาะก่อสร้างงานโยธา, ด้าน CRCC จากประเทศจีน มีความเชี่ยวชาญด้านระบบรางและรถไฟความเร็วสูง การจัดหาและเตรียมการดำเนินการ, บริษัท Ferrovie dello Stato Italiane (FS) จากประเทศอิตาลี จะเป็นผู้บริหารการเดินรถไฟความเร็วสูง ซึ่งพันธมิตรทุกรายต่างมีความเข้มแข็งแตกต่างกันและมีส่วนร่วมทำให้โครงการประสบความสำเร็จ

ส่วนผู้ผลิตขบวนรถยังไม่ได้สรุป  ต้องมีกระบวนการคัดเลือกก่อน แต่ตอนนี้ก็มีพันธมิตรด้าน รถไฟความเร็วสูง 3 ราย คือ อิตาลี จีน และญี่ปุ่น  ก็น่าจะพอเห็นภาพได้

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีแนวโน้มที่ทางกลุ่มจะมีพันธมิตรเพิ่มขึ้นอีก โดยขณะนี้มีนักลงทุนจากประเทศให้สนใจโครงการ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นนักลงทุนชาวไทย เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่ท้าทาย ถ้าผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะรู้สึกว่าเสี่ยงไปไหม แต่คนที่คุ้นเคยกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเป็นนักลงทุนระยะยาว ก็รู้สึกว่าไปได้

โดยโครงการจะต้องมีการเพิ่มทุนและระดมทุนเป็นเฟสๆ ตามระยะทาง ระยะเวลา และการระดมทุนในก่อสร้าง ซึ่งก็มีหลายจุด หลายจังหวะที่ให้ผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาได้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดใดๆ จนกว่าจะมีข้อสรุปเรื่องพันธมิตร และต้องเสนอให้การรถไฟฯ เห็นชอบด้วย

ด้าน CP ปัจจุบันถือหุ้นโครงการอยู่ 70% และในระหว่างการก่อสร้างก็ตั้งใจจะถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 51% เพราะเป็นช่วงที่ต้องการการตัดสินใจที่เด็ดขาด เพื่อผลักดันให้ทำงานได้ตามเวลา แต่หลังจากนั้นก็ต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 40% รวมถึงมีทางเลือกในการพัฒนาเป็นบริษัทมหาชน เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือทางอื่นๆ ในอนาคต “แต่ต้องสร้างให้เสร็จก่อน ดำเนินการระยะหนึ่ง เพื่อพิสูจน์ทุกอย่าง จึงมีโอกาสเป็น บมจ. ได้”

S 91742255
กลุ่มผู้บริหาร CPH กำลังพูดคุยกับพันธมิตรและแขกผู้มีเกียรติภายในงาน ท่ามกลางกองทัพสื่อมวลชนมารอทำข่าว

เล็งออก “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน”

สำหรับแหล่งเงินทุนในโครงการนั้น นายศุภชัยกล่าวว่า ประเทศต่างๆ แสดงความสนใจให้แหล่งเงินทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก แต่การลงทุนด้านรถไฟความเร็วสูงมีแหล่งเงินทุนค่อนข้างจำกัด เพราะเป็นสาธารณูปโภค ซึ่งที่ผ่านมา JBIC จากประเทศ และ CDB จากประเทศจีน ช่วยเป็นที่ปรึกษาโครงการมาโดยตลอด ทำให้บริษัทเข้าใจโครงสร้างรถไฟความเร็วสูงมากยิ่งขึ้น แต่ต่อไปก็ต้องขอการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย เพราะ JBIC และ CDB ต้องการช่วยด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ส่วนแหล่งเงินกู้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงก็จะพิจารณาตามค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายในประเทศก็จะกู้เป็นเงินบาท ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการนำเข้าอุปกรณ์และเทคโนโลยีก็จะต้องเป็นเงินดอลลาร์ โดยตามโครงสร้างเบื้องต้นแล้วจะเป็นค่าใช้จ่ายการก่อสร้างงานโยธา 65-70% และงานระบบและเทคโนโลยี 30-35%

สำหรับการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตอนนี้ถือว่า เป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัว เพราะต้องก่อสร้างและบริหารก่อน แต่ว่ากำลังพิจารณาการระดมทุนผ่าน “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน” เพราะมองว่าเป็นตัวช่วยที่ดีให้กับโครงการ

รถไฟความเร็วสูง ลงนาม CP
เวทีเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังพิธีลงนามสัญญาเสร็จสิ้น

ทุ่ม 1.4 แสนล้านบาทพัฒนา “มักกะสัน”

นายศุภชัย กล่าวถึงแผนพัฒนาพื้นที่มักกะสันขนาด 150 ไร่ว่า เบื้องต้นมีแผนในการพัฒนาสถานีรถไฟและอสังหาริมทรัพย์ขนาด 2 ล้านตารางเมตร ด้วยมูลค่าการลงทุน 1.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วยพื้นที่ค้าปลีก ศูนย์ประชุม โรงแรม ศูนย์วิจัยพัฒนารถไฟ และอื่นๆ  จะเน้นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป้าหมายหลักคือการรองรับผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว และนักธุรกิจ โดยเฉพาะจากพื้นที่ EEC และมีการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ

ด้านการออกแบบจะเน้นให้เป็นพื้นที่สีเขียวมากที่สุดและใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยจะพิจารณาการออกแบบทัศนียภาพให้มีความสวยงามและ “น่าภูมิใจของประเทศไทย”

S 91742326
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซ้าย)

 “สิ่งที่ภาคเอกชนกลัวที่สุด คือกลัวความเสี่ยง เราต้องลงทุนร่วมๆ แสนล้านบาท มี consortium หลายราย ธนาคารก็ต้องกู้เงินด้วย ถ้าดำเนินการแล้วขาดทุน มันจะไม่ใช่แสนล้าน ทุกๆ ปีที่ขาดทุนจะต้องระดมเงินเข้าไป เพราะฉะนั้นผมอยากจะเรียนว่า เรื่องนี้เราได้ศึกษาอย่างละเอียด เราก็มีความเชื่อมมั่นว่าเราจะทำให้สำเร็จได้ อันนี้เป็นสิ่งทางกลุ่มร่วมค้าพยายามจะทำเต็มที่

ผมก็อยากจะเรียนด้วยว่า ทางคณะกรรมการฯ ทำงานเข้มงวดมาก การเจรจาเป็นอย่างตรงไปตรงมา เรียกว่าหินจริงๆ เพราะว่าเราเป็นโครงแรกที่ TOR ออกมาเป็น PPP ด้วยขนาดที่ใหญ่โตกว่าที่เราเคยเห็นมาทั้งหมดหลายๆ เท่า มีต่างประเทศมาช่วยดูด้วย หลายประเทศเลย ดังนั้นผมก็หวังว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องที่จะนำไปสู่ PPP อื่นหรือแม้กระทั่ง รถไฟความเร็วสูง อื่นๆ

โดยการทำให้เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ ในการปฏิบัติจริงต้องการความยืดหยุ่นระหว่างภาครัฐและเอกชนมากทีเดียว เพื่อทำให้เป็นโครงการตัวอย่าง เอาสิ่งที่เป็นปัญหาและความสำเร็จไปใช้ในโครงการต่อไป” นายศุภชัย กล่าว

S 91742323
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ซ้าย)

ความร่วมมือยุคใหม่ของเอเชีย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เลือกการลงทุนรูปแบบ PPP เป็นวิธีการลงทุนเพื่อลดการ ใช้งบประมาณรัฐ และไม่ต้องก่อหนี้สาธารณะ เพื่อให้เกิดผลบวกกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยรัฐรับภาระน้อยที่สุด นอกจากนั้นโครงการนี้ ได้รับเกียรติให้เป็นโครงการแรกภายใต้ความร่วมมือ “ญี่ปุ่น-จีน” ร่วมลงทุนประเทศที่สาม  ทำให้โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ “ความร่วมมือยุคใหม่ของเอเชีย”

โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน ทำงานต่อเนื่องมา 22 เดือน จึงถือว่าสำเร็จได้ โดยการร่วมมือของหน่วยงานจำนวนมาก ซึ่งเป็น Spirit ของ EEC รวมถึงต้องขอขอบคุณภาคเอกชนทุกรายที่สนใจเข้าร่วมทำงานโครงการนี้ให้ประเทศ และขอแสดงความยินดีกับ CPH สุดท้ายขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบาย EEC มาทั้งสิ้น 22 ครั้ง และเป็นที่พึ่งให้ในการแก้ปัญหาต่างๆ มาตลอดจนกระทั่งมีการลงนามสัญญาในวันนี้

fig 09 05 2019 10 22 11

อัยการเตือนเรื่องส่งมอบพื้นที่

นายคณิศ กล่าวต่อว่า ในการลงทุนโครงการนี้ ทางอัยการสูงสุดก็ได้เตือนคณะกรรมการนโยบาย EEC ตั้งแต่แรกแล้วว่า หลายโครงการมีปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า เพราะฉะนั้นคณะกรรมการนโยบาย EEC จึงดึงเรื่องนี้มาทำเอง เพื่อให้ส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดได้ทันเวลา โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

  • ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ หรือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ในปัจจุบัน ซึ่งพร้อมส่งมอบได้เลย
  • ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทางยาวที่สุด 170 กิโลเมตร จะต้องส่งมอบให้ได้ภายใน 2 ปี แต่จะพยายามส่งมอบให้ได้ก่อนภายใน 1 ปี 3 เดือน
  • ช่วงพญาไท-สนามบินดอนเมือง จะต้องส่งมอบไม่เกิน 4 ปี แต่จะพยายามทำให้สำเร็จภายใน 2 ปี 3 เดือน

fig 12 04 2019 12 50 50

ด้านการนำโครงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นนโยบายของ EEC เอง ว่าเมื่อมีโครงการขนาดใหญ่ก็ต้องนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยขณะนี้นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังเข้ามาดูแลและเตรียมการเรื่องนี้ เพื่อระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อย่างไรก็ตาม การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่จะต้องมีรายได้ระดับหนึ่ง เพื่อให้เห็นรายได้และราคาที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นในราคาสูง ส่วนจะระดมทุนได้เมื่อไหร่นั้น ก็แล้วแต่ความเหมาะสม

สำหรับการจ่ายเงินอุดหนุนโครงการ รถไฟความเร็วสูง ให้ CPH นั้น ก็จะดำเนินการเมื่อโครงการสำเร็จ มีการตรวจรับงาน และเริ่มให้บริการแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องรอให้แล้วเสร็จทั้งโครงการ สามารถทยอยจ่ายเงินได้เป็นเฟสๆ เช่น เปิดให้บริการช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภาก่อน ก็ทยอยจ่ายเงินช่วงนี้ได้ก่อน

สำหรับสถานีมักกะสันก็จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางรถไฟความเร็วสูง มีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าในเมือง ต่อไปสามารถเดินทางถึงกันได้สะดวก ไม่ต้องมีสกายวอร์คและมีทางให้รถยนต์เข้า-ออกได้หลายทาง รวมถึงเมื่อมีการนำประสิทธิภาพของเอกชนมาบริหารการเดินรถ ก็จะส่งผลให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีความถี่มากขึ้น

Avatar photo