Business

‘โค้ก’ ชิมลางลูกบ้าน ‘แสนสิริ’ พฤติกรรมแยกขยะ ‘สร้างได้’

โคคา-โคล่า จับมือ แสนสิริ และศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดผลการทดลองสร้างพฤติกรรมผู้พักอาศัยเพื่อส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทาง ที่เริ่มทดลองกับผู้อยู่อาศัยใน T77 Community ชี้สิ่งสำคัญถคือ “ต้องไม่ยุ่ง-ไม่ยาก”

นายนันทิวัต ธรรมหทัย 1
นันทิวัต ธรรมหทัย

นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการทดลองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมการแยกขยะนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ World Without Waste ของโคคา-โคล่าที่มีเป้าหมายในการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100% ก่อนปี 2573

ทั้งนี้เล็งเห็นว่า การแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทาง เนื่องด้วยการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคในประเทศไทยพบว่า บรรจุภัณฑ์ประเภทขวดพลาสติกใส หรือขวดเพ็ท และกระป๋องอลูมิเนียมมีเพียงไม่ถึงครึ่ง ที่ถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพราะไม่มีการแยกขยะอย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้น

003 TrashTalk

นอกจากนี้ โคคา-โคล่า ยังเชื่อว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาการไม่แยกขยะเป็นปัญหาพฤติกรรมของคน หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนแยกขยะตั้งแต่ต้นทางได้ ปริมาณขยะในภาพรวมก็จะลดลง วัสดุที่รีไซเคิลได้ก็จะถูกนำกลับมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้

โคคา-โคล่าจึงได้ร่วมมือกับแสนสิริ และศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทฤษฏีและการทดลองทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้ โดยร่วมกันดำเนินการทดลองเพื่อศึกษาและสร้างพฤติกรรมการแยกขยะในครัวเรือน ด้วยการใช้เทคนิคการ “สะกิด” (Nudge) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ตั้งอยู่บนการทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ ที่หลายครั้งก็เป็นเรื่องของนิสัยและความเคยชินมากกว่าความคิดเชิงเหตุผล และนำความเข้าใจนั้นมาสร้างมาตรการจูงใจแบบง่ายๆ แต่มีประสิทธิผลในการสร้างพฤติกรรมพึงประสงค์ ซึ่งในกรณีนี้คือการสร้างพฤติกรรมการแยกขยะที่ต้นทาง

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์

 

ด้าน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การรณรงค์เพื่อการแยกขยะที่ต้นทางไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนั้น มีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ ความ “ยุ่ง” คือคนไม่ต้องการทำอะไรที่สร้างความลำบากให้ตัวเอง และความ “ยาก” จากความซับซ้อนและเข้าใจยากของถังขยะที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงส่งผลให้คนไม่แยกขยะ

“หากต้องการส่งเสริมการแยกขยะอย่างจริงจังก็จำเป็นต้องกำจัดมูลเหตุทางพฤติกรรมทั้งสองข้อนี้ โดยศูนย์ฯ ได้นำแนวคิดการ“สะกิด” ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้ในการทดลองกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความตระหนัก และพฤติกรรมการแยกขยะ อันจะนำไปสู่การสร้างนิสัยการคัดแยกขยะในระยะยาว”ผศ.ดร.ธานี กล่าว

นางจริยา จันทร์เจิดศักดิ์
จริยา จันทร์เจิดศักดิ์

นางจริยา จันทร์เจิดศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แสนสิริเดินหน้าอย่างจริงจังในการผลักดันและเซตมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทยในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่าน Sansiri Green Mission โดยมี Waste Management เป็น 1 ใน 4 คำมั่นสัญญาหลัก เพื่อจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพและลดปริมาณขยะให้เหลือไปกำจัดในปริมาณน้อยที่สุด ตั้งแต่ภายในองค์กร โครงการที่อยู่อาศัย ไปถึงไซต์ก่อสร้าง

ความร่วมมือกับโคคา-โคล่า และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสร้างสรรค์ต้นแบบการแยกขยะอย่างยั่งยืนของวงการอสังหาฯ ตลอดจนอุตสาหกรรมไทยในวงกว้าง โดยจะนำผลการศึกษาในครั้งนี้ไปต่อยอดร่วมกับผลการศึกษาของแสนสิริ เพื่อออกแบบถังขยะใหม่ในทุกโครงการคอนโดมิเนียม ที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปีตั้งแต่ 2563 เป็นต้นไป

001 TrashTalk

การทดลองทฤษฎีการสะกิดครั้งนี้ดำเนินการครอบคลุมคอนโดมิเนียม 3 โครงการที่ T77 Community ได้แก่ THE BASE Park West, hasu HAUS และ mori HAUS รวม 246 ห้องชุด เป็นระยะเวลา 4 เดือน (พฤษภาคม-สิงหาคม 2562)

Avatar photo