Business

ส่องเม็ดเงินโฆษณา ‘ทีวีดิจิทัล’ รอบ 5 ปี จับตาหลังคืน 7 ช่อง

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้จัดทำผลสำรวจเรื่อง มูลค่าตลาดโฆษณาทีวีดิจิตอลในรอบ 5 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นทิศทางของรายได้จากค่าโฆษณาของธุรกิจโทรทัศน์ที่มีการกระจายตัวไปหลากหลายช่องมากขึ้น โดยช่องทีวีดิจิทัลที่เกิดขึ้นใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งมูลค่าตลาดโฆษณาวงการโทรทัศน์จากผู้ประกอบการโทรทัศน์รายเดิมได้ในสัดส่วนที่มากขึ้น จากส่วนแบ่งเพียง12.69% ของมูลค่าโฆษณารวมในตลาด 7.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 42.29% ของมูลค่ารวม 6.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

โฆษณาทีวีดิจิทัล

ทั้งนี้จากข้อมูลมูลค่าตลาดโฆษณาที่ประมาณการจากทุกช่องของโทรทัศน์ภาคพื้นดิน จัดทำ โดยนีลเส็น ได้แบ่งมูลค่าตลาดโฆษณาของธุรกิจทีวีดิจิตอล ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มช่องเดิม ที่ประกอบไปด้วย ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 และช่อง NBT และกลุ่มทีวีดิจิทัลช่องใหม่ทั้งหมด พบว่า รายได้ของกลุ่มช่องเดิม มีสัดส่วนลดลงทุกปี จากปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่ทีวีดิจิทัลเปิดให้บริการ สัดส่วนรายได้ของกลุ่มฟรีทีวีเดิม คิดเป็น 87.31% หรือ มูลค่า 63,776.30 ล้านบาท ในขณะที่ช่องใหม่รวมกันมีมูลค่าเพียง 12.69% หรือ 9,265.77 ล้านบาทเท่านั้น

แต่ในปี 2561 มูลค่าตลาดของกลุ่มช่องเดิมลดลงเหลือเพียง 38,529.86 ล้านบาท หรือ 56.71% ส่วนกลุ่มช่องใหม่รวมกันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29,417.35 ล้านบาท หรือ 43.29% แสดงให้เห็นว่าทีวีดิจิทัลช่องใหม่ๆ เริ่มเข้ามาครองตลาดได้มากขึ้น

สำหรับกลุ่มช่องเดิมนั้น ช่อง 3 และ ช่อง 7 ยังคงเป็น 2 ช่องหลักที่มีมูลค่าโฆษณาสูงสุด สัดส่วน 60-80% ของมูลค่าโฆษณาในกลุ่มช่องเดิมทั้งหมด แต่รายได้ของทั้ง 2 ช่อง ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยเป็น 2 ช่องหลักของธุรกิจฟรีทีวี เริ่มมีการกระจายตัวออกไปยังช่องที่ได้รับความนิยมสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มช่องที่ติดอันดับเรตติ้งในกลุ่มท็อปไฟว์ ในแต่ละปี ซึ่งได้แก่ ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี และช่อง Mono 29 ที่มีตัวเลขมูลค่าโฆษณาเติบโตต่อเนื่องทุกปี

กราฟโฆษณาทีวีดิจิทัล

หากจัดมูลค่าโฆษณาของช่องทีวีดิจิตอลตามประเภทใบอนุญาตของ กสทช. ในช่อหงหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) ช่องหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ ช่องหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว และช่องทีวีสาธารณะ พบว่า มูลค่าโฆษณาในกลุ่มช่อง HD ยังคงเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าโฆษณาสูงสุด ซึ่งประกอบด้วย 2 ช่องใหญ่ ได้แก่ ช่อง 7HD และช่อง 3HD และอีก 5 ช่อง ได้แก่ ช่อง 9 MCOT HD ช่องไทยรัฐทีวี ช่อง One ช่อง AMARIN TV HD และช่อง PPTV โดยมูลค่าส่วนใหญ่ยังอยู่กับช่อง 3HD และช่อง 7HD เป็นหลัก แต่มีช่อง One และช่องไทยรัฐทีวี ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตา

ในช่วงปี 2557-2561 สัดส่วนมูลค่าของกลุ่มช่อง HD ไม่ได้ลดลงมากนัก โดยในปี 2557 มีมูลค่ารวมกัน 7 ช่องประมาณ 53,551.89 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 73.32% ของมูลค่ารวม และค่อยๆ ลดลงมาอยู่ที่ 42,170.34 ล้านบาท หรือ 62.06% ในปี 2561 ขณะที่กลุ่มช่อง SD จำนวน 7 ช่อง ที่ประกอบไปด้วย ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี ช่อง True4U ช่อง GMM 25 ช่อง SPRING 26 ช่อง 8 ช่อง 3SD และช่อง Mono 29 เป็นกลุ่มช่องที่มีการเติบโตของมูลค่าโฆษณาสูงสุด โดยในปี 2557 มีมูลค่า 4,536.83 ล้านบาท หรือ 6.21% ของมูลค่ารวม และค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกปีจนมีมูลค่ารวม 18,045.28 ล้านบาท หรือ 26.56% ของมูลค่ารวมในปี 2561 ซึ่งช่องรายการในกลุ่มช่อง SD ที่มีเติบโตต่อเนื่องมากที่สุด ในช่วงปีแรกๆ ของทีวีดิจิทัล คือ ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี ช่อง Mono 29 และช่อง 8

กลุ่มช่องข่าวสารและสาระ ในปี 2557 มีทั้งหมด 7 ช่อง ซึ่งได้แก่ ช่อง TNN ช่องไทยทีวี ช่อง NEW 18 ช่องสปริงนิวส์ ช่อง Bright TV ช่อง Voice TV และช่อง Nation TV โดยมีมูลค่าโฆษณารวมทั้งหมด 2,420.53 ล้านบาท หรือสัดส่วน 3.31 % ของมูลค่ารวม อย่างไรก็ดีในปีถัดมา ช่องข่าวสารและสาระเหลืออยู่เพียง 6 ช่อง เนื่องจากช่องไทยทีวีหยุดกิจการไป และมูลค่าการโฆษณาช่องข่าวสารและสาระที่เติบโตในช่วงปี 2558-2559 ค่อยๆ ลดลงจนเหลืออยู่เพียง 2,592.38 ล้านบาทในปี 2561

โฆษณา

กลุ่มช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีทั้งหมด 3 ช่องในปีแรกที่มีทีวีดิจิทัล ประกอบไปด้วยช่อง 3Family ช่อง MCOT Family และช่อง LOCA ของกลุ่มไทยทีวี โดยช่อง LOCA หยุดการออกอากาศไปในปี 2558 จึงเหลือช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัวอยู่เพียง 2 ช่องเท่านั้น ทั้งนี้ กลุ่มช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัวเป็นกลุ่มที่มูลค่าโฆษณาทรงตัว ไม่มีการเติบโตมากนัก

กลุ่มช่องหน่วยงานภาครัฐ มีทั้งหมด 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง 5 ช่อง NBT ช่องไทยพีบีเอส และช่องทีวี รัฐสภา แต่ช่องรายการที่สามารถโฆษณาได้มีเพียงสองช่อง คือ ช่อง 5 และช่อง NBT ซึ่งจากข้อมูลในปี 2557 พบว่า ช่องภาครัฐมีมูลค่าโฆษณารวมกันได้ 11,995.25 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มากจากช่อง 5 ที่มีผู้ผลิตรายการจำ นวนมากเช่าเวลาออกอากาศ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา บรรดาผู้ผลิตรายการของช่อง 5 ได้กลายเป็นผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จึงได้ถอดรายการของตนออกจากช่อง 5 แล้วมาออกอากาศที่ช่องดิจิทัลของตนเอง ส่งผลให้มูลค่าโฆษณาของช่อง 5 ลดลงมาก และกระทบต่อมูลค่าโฆษณาของช่องภาครัฐโดยรวม จนในปี 2561 ช่องภาครัฐมีมูลค่าโฆษณารวม 4,515.43 ล้านบาท ซึ่งลดลงมากกว่า 50% นับจากปี 2557

ภาพรวมของตลาดโฆษณาของธุรกิจทีวีดิจิทัลในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นทิศทางมูลค่าตลาดโฆษณาในแต่ละปี ที่เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการช่องใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด โดยในปี 2558 เป็นปีที่มีมูลค่าตลาดโฆษณาสูงสุดถึงกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท และค่อยๆ ลดลงมาอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 2561 อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

3 9

สิ่งที่ต้องจับตานับจากนี้คือ สถานการณ์ของทีวีดิจิทัลในปี 2562 ที่มีช่องดิจิทัล 7 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 Family ช่อง MCOT Family ช่อง Spring News ช่อง Bright TV ช่อง VOICE TV ช่อง Spring26 และช่อง 3 SD ขอคืนใบอนุญาต ทำให้เหลือช่องรายการทั้งหมด 19 ช่อง  ซึ่งแน่นอนว่า เม็ดเงินโฆษณาของช่องที่คืนใบอนุญาตย่อมกระจายไปยังช่องที่ยังออกอากาศอยู่ ส่วนจะไปอยู่ที่ค่ายไหนนั้น คาดว่าจะเริ่มเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงมูลค่าโฆษณาของแต่ละช่องได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงาน กสทช.

Avatar photo