Business

ผู้ว่าแบงก์ชาติหนุนสถาบันการเงินทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ในงาน “Bangkok Sustainable Banking Forum” ว่าเพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนในภาคการเงินของไทย เน้นบทบาทของภาคการเงินในการร่วมกันจัดการ กับความท้าทายของสังคมไทย เช่น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการคอร์รัปชั่น

แม้ว่าการแก้โจทย์ในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย  ดูเหมือนไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของสถาบันการเงิน แต่ในฐานะของผู้จัดสรรทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สถาบันการเงินสามารถมีส่วนเสริมสร้างความยั่งยืนทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคมระยะยาวได้

ทั้งนี้ แนวคิดความยั่งยืนไม่ใช่เพียง เรื่องกิจกรรมเพื่อสังคมหรือการกุศล ความยั่งยืน คือ การคำนึงถึงธุรกิจระยะยาว หากสถาบันการเงินสนใจแค่กำไรระยะสั้น ไม่คำนึงถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากกิจกรรมของธุรกิจ อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจจากสาธารณชน และฐานะทางการเงินของธุรกิจในระยะยาว เช่น การเปิดบัญชีลูกค้าโดยพลการของธนาคาร Wells Fargo

1565668657596 960x0

เมื่อปี 2559 จากวัฒนธรรมการทำยอดแบบสุดโต่ง สิงคโปร์กับปัญหาหมอกควัน จากการลักลอบเผาป่าของโรงงานปาล์มน้ำมัน และเยื่อกระดาษในอินโดนีเซีย นำไปสู่กฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง

จากการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินไทย และสินเชื่อเงินทอนนำไปสู่การกู้เกินความจำเป็น  หลายครั้งสถาบันการเงินจะหลีกเลี่ยงการขาดทุนได้ แต่ยังคงบั่นทอนความไว้วางใจจากประชาชน

นอกจากนี้ การละเลยประเด็นความยั่งยืนตามกรอบ ESG ในการทำธุรกิจของภาคสถาบันการเงินอาจก่อให้เกิดความเสี่ยง ได้แก่ ความเสี่ยงด้านเครดิต เกิดจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อผลผลิตและธุรกิจ ทำให้ผู้กู้ขาดรายได้และไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือปัญหาช่องว่างทางสังคม นำไปสู่สถานการณ์ความไม่สงบ และความเสี่ยงด้านชื่อเสียง สถาบันการบันการเงินมีความเสี่ยง พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็ว หันมาใส่ใจความยั่งยืนมากขึ้น ถ้าผู้ผลิตไม่ปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงไม่สามารถชำระหนี้ได้

สถาบันการเงินไม่ควรละเลยความเสี่ยงในมิติของ ESG และภายในองค์กรเองควรมีการพิจารณาเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง รวมถึงคำนวณมูลค่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยควรเริ่มต้นตั้งแต่การให้คำมั่น (Commitment) และการกระทำ (Action) ของผู้บริหารระดับสูง เพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความยั่งยืน แนวปฏิบัติที่อาจเริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมายและกลยุทธ์เพื่อจัดการกับประเด็นด้านความยั่งยืน การตั้งเกณฑ์การควบคุมกิจกรรมที่อาจส่งผลทางลบ และการขยายขอบเขตการพิจารณาความเสี่ยงด้านความยั่งยืน

เป็นเรื่องน่ายินดีที่สถาบันการเงินไทย เริ่มให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกรอบและคำนึงถึงความเสี่ยง ESG มากขึ้น สถาบันการเงินหลายรายศึกษาแนวทางประเมินและบรรเทาความเสี่ยง การปรับปรุงกระบวนการทำงาน และการนำมาตรฐานเรื่องความยั่งยืนระดับสากลมาใช้ให้เหมาะสม

ธปท.และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ พัฒนาศักยภาพของธุรกิจ และสนับสนุนการให้คำมั่นที่จะปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร

ข้อมูล-ภาพ (สำนักข่าวไทย) 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight