Business

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจไทย‘สัญญาณบวก’

แกรนท์ ธอนตัน
เอียน แพสโค-ธันวา มหิทธิวาณิชชา

ผลสำรวจธุรกิจนานาชาติของ แกรนท์ ธอนตัน (Grant Thornton’s International Business Report – IBR) นำเสนอข้อมูลมุมมองและความคาดหวังของภาคธุรกิจ ทำการสำรวจกว่า 1 หมื่นบริษัท ใน 36 ประเทศ ครอบคลุมบริษัทจดทะเบียนและบริษัทเอกชน  โดยการสัมภาษณ์ผู้บริหารกว่า 2,500 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหาร, กรรมการผู้จัดการ ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงจากทุกภาคอุตสาหกรรม สำรวจช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ปี 2561

เอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า รายงานจากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ไตรมาสแรกปี 2561 ระดับโลกมีมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้น จากระดับ 58%  ไตรมาส 4 ปีก่อน ขยับเป็น 61% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 15 ปีของการสำรวจที่ผ่านมา

ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตัวเลขไตรมาสแรกอยู่ที่ 52% ลดลงจาก 58% จากไตรมาสก่อนหน้า รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงมุมมอง 2 ด้าน คือ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วนั้น “ลดลง”

ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งประเทศไทย มีระดับความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจ “สูงขึ้น”

แกรนท์ ธอนตัน

กลุ่มอาเซียนดัชนีเชื่อมั่นพุ่ง

ผลสำรวจ IBR ระบุว่าไตรมาสแรกปีนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในกลุ่มอาเซียนสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 61% สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2560 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก ในหลายประเทศหากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยมาเลเซีย อยู่ที่ 28% เพิ่มขึ้น 22% ,สิงคโปร์ ดัชนีอยู่ที่ 34% เพิ่มขึ้น 12% และไทย อยู่ที่ 16% เพิ่มขึ้น 6%

แกรนท์ ธอนตัน

“จีน-ญี่ปุ่น”ฉุดดัชนีเอเชียลดลง

อย่างไรก็ตามการที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยรวม “ลดลง” เนื่องจากการลดลงของดัชนีดังกล่าวในจีนและญี่ปุ่น ทำให้ค่าเฉลี่ยสุทธิของภูมิภาคลงมาที่ 52%

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของจีนลดลงจากค่าสูงสุดในไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมา จาก 78% มาอยู่ที่ 65% ในไตรมาสแรกของปีนี้  ส่วน “ญี่ปุ่น” ดัชนีดังกล่าวเคยอยู่ในแดนบวกในไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 3% แต่ลดลงมาเป็นติดลบ 8% ในไตรมาสแรกปีนี้

“คาดว่าการย้ายภาคการผลิตต้นทุนต่ำจากจีนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาจมีผลกระทบเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน”

เชื่อมั่นธุรกิจไทย“สัญญาณบวก”

ทางด้านผลสำรวจ IBR  ดัชนีต่างๆ ของประเทศไทยมีค่ามากกว่าศูนย์ในทุกคำถาม แสดงถึงผลตอบรับ “เชิงบวก”ด้านความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่มีมากกว่าเชิงลบ

แนวโน้มโดยรวมของประเทศไทย จัดว่าเป็นเชิงบวกเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับข้อมูลจากประเทศอื่นๆ และข้อมูลของประเทศไทยในบางหัวข้อบ่งชี้ ถึงการคาดการณ์เชิงบวกที่สูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนๆ เช่น ความเชื่อมั่นการส่งออก ไตรมาสแรกอยู่ที่ 12% ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ติดลบ 6%

ขณะที่บางหัวข้อบ่งชี้ว่าลดลง แม้การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น หากนับจากไตรมาส 4 ปี 2560 เป็นต้นมา รายได้ของธุรกิจต่างๆ คาดว่าจะลดลง 10% จากดัชนีความเชื่อมั่นที่ระดับ 36% เหลือ 26% ขณะที่การปรับเพิ่มราคาขาย ลดลงจาก ดัชนีระดับ 14% เหลือ 8%

แกรนท์ ธอนตัน

เศรษฐกิจดิจิทัลหนุนเชื่อมั่น

เอียน ตั้งข้อสังเกตจากผลสำรวจดังกล่าวว่า เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยส่วนใหญ่ขึ้นกับเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ สถานภาพทางการเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่เป็นที่แน่นอน ทั้งความไม่มั่นคงและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้การเติบโตหยุดชะงักบ่อยครั้ง

“ไทยยังมีโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตอยู่อีกมาก เพียงแต่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าในระยะยาวแล้ว ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือ รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินการปฏิรูปมาเป็นลำดับเพื่อให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น”

ขณะที่ข้อมูลหลายส่วนในผลสำรวจฯ ได้บ่งชี้ถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน แต่ดัชนีโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับดัชนีการเติบโตที่แท้จริงของประเทศไทยในปัจจุบัน  คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตที่ 3.9-4%

แกรนท์ ธอนตัน
เอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทย

ส่วนภาคการผลิตซึ่งเติบโตเป็นอย่างดี ได้นำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้นในนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0”  โดย “อาลีบาบา”กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนได้ประกาศนโยบายการลงทุนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย

เอียน อธิบายว่าอุปสรรคของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดสำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วเป็นปัจจัยภายในประเทศ  สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจไทย แม้จะสูงขึ้นแต่ก็ยังตามหลังประเทศต่างๆ อยู่มาก ซึ่งมาจากองค์ประกอบที่ขาดหายไปของประเทศไทยคือความเชื่อมั่น

“ดัชนีพื้นฐานหลายตัวบ่งชี้ว่าประเทศไทยมาถูกทางแล้ว แต่วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาทำให้นักลงทุนบางส่วนกลัว แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากส่งผลออกมาดีเท่าไหร่ ก็น่าจะยิ่งเห็นธุรกิจต่างๆ เข้ามาลงทุนมากขึ้น”

“ทุนจีน”ดาวรุ่งลงทุนไทย

ธันวา มหิทธิวาณิชชา หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาด้านภาษี  แกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย กล่าวว่าปัจจัยความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ มาจากความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งการกำหนดการเลือกตั้งในปีหน้าของไทย ถือเป็นสัญญาณที่ดี นอกจากนี้นักลงทุนยังมองเรื่องการจัดเก็บภาษีใหม่ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ไม่ยุ่งยากและมีความสะดวกในการดำเนินงาน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะ “จีน” ยังสนใจลงทุนในประเทศไทย ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น โซลาเซลล์ ,อุตฯไฟฟ้า,รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

“เชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จีน จะเป็นดาวรุ่งนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย จากเงินทุนจำนวนมาก อุตสาหกรรมที่มาลงทุนส่วนใหญ่เพื่อรองรับกำลังซื้อคนจีน”

แกรนท์ ธอนตัน
ธันวา มหิทธิวาณิชชา หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาด้านภาษี แกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย

 

Avatar photo