“ไทยสมายล์” ยังเละ! ผลประกอบการปี 61 ขาดทุนเพิ่ม 976 ล้านบาท เป็น 2.6 พันล้านบาท ด้าน “การบินไทย” เตรียมตั้ง “ชาริตา ลีลายุทธ” จากรักษาการเป็น MD ตัวจริงคนแรกช่วยแก้ปัญหา ยืนยันจากนี้ลูกจะไม่กำพร้า การบินไทยพร้อมช่วยกำหนดทิศทางเต็มที่
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เปิดเผยว่า การบินไทยเห็นชอบผลการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (MD) สายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกเรียบร้อยแล้ว โดยนางชาริตา ลีลายุทธ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยสมายล์คนปัจจุบัน เป็นผู้ผ่านการคัดเลือก จากผู้สมัครจำนวน 2 ราย
ล่าสุดสายการบินไทยสมายล์ได้เจรจาค่าตอบแทนและร่างสัญญากับนางชาริตาแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาและจะมีการลงนามสัญญาต่อไป ซึ่งนางชาริตาจะนับเป็น MD ตัวจริงคนแรกของสายการบินไทยสมายล์
นายสุเมธกล่าวถึงการสรรหา MD สายการบินไทยสมายล์ต่อว่า สายการบินไทยสมายล์มีผลประกอบการขาดทุนจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาในตำแหน่ง MD ไทยสมายล์ไม่มากนัก และยอมรับว่า ที่ผ่านมาการบินไทยซึ่งเป็นบริษัทแม่ ไม่ได้กำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้ไทยสมายล์ แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป การบินไทยจะลงไปกำกับและทิศทางของไทยสมายล์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น
สำหรับนางชาริตานั้น ที่ผ่านมาก็ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรักษาการ MD ได้สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว เมื่อมาดำรงตำแหน่ง MD ตัวจริงก็ต้องทำงานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโครงสร้างของไทยสมายล์ไม่มีความซับซ้อน เพราะทำธุรกิจสายการบินเพียงอย่างเดียว หน้าที่หลักก็คือปฏิบัติงานให้ครบถ้วนตามนโยบายของการบินไทย
ทั้งนี้ นางชาริตามีวาระการตำแหน่ง MD ทั้งหมด 4 ปี แต่นางชาริตาอาจอยู่ไม่ครบวาระ เพราะเหตุผลด้านอายุ โดยหลังจากรับตำแหน่ง MD อย่างเป็นทางการแล้ว นางชาริตาก็ต้องเสนอแผนงานให้การบินไทยพิจารณาด้วย
อัตราใช้เครื่องบินดีขึ้นชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่การบินไทยก็ได้มอบนโยบายและกำหนดเป้าหมายให้ไทยสมายล์ดำเนินการอยู่แล้ว เป้าหมายหลักก็คือ การเพิ่มระยะเวลาการใช้งานของเครื่องบินจากเฉลี่ย 8 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวันในช่วงต้นปี 2561 เป็น 10 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน ซึ่งไทยสมายล์จะทำสำเร็จในช่วงปลายปีนี้ ด้วยการเพิ่มความถี่ในเส้นทางเดิมและเพิ่มเส้นทางใหม่ๆ ในตลาดจีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ ด้านอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) แม้จะลดลง แต่กำไรต่อหน่วย (Yield) ของไทยสมายล์ก็ดีขึ้นแล้ว
ขณะเดียวกันการบินไทยก็ต่อท่อการตลาดกับไทยสมายล์ 100% แล้ว นอกจากนี้ไทยสมายล์เพิ่งเข้าร่วมกับสตาร์อัลไลแอนซ์ (Star Alliance) เครือข่ายพันธมิตรสายการบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้ไทยสมายล์มี Cabin Factor เพิ่มขึ้น เพราะสามารถเชื่อมต่อกับสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full-service airline) ในเครือสตาร์อัลไลแอนซ์ได้
ใช้กลยุทธ์ต่อท่อพันธมิตร
โดยไทยสมายล์มีฐานะเป็นสายการบิน Full-service ถ้าหากผู้โดยสารเดินทางผ่านเครือสตาร์อัลไลแอนซ์มายังไทยสมายล์ ก็สามารถเชื่อมต่อเครื่องได้สะดวกสบาย ไม่ต้องเช็คอินสัมภาระใหม่ (Check Through) มีเพดานน้ำหนักสัมภาระอยู่ที่ 23 กิโลกรัมเท่ากับมาตรฐาน Full-service มีการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มเต็มรูปแบบ เป็นต้น
“ไทยสมายล์เมื่อเข้าสตาร์อัลไลแอนซ์ มันถูกเขียนไว้ชัดเจนว่า เราไม่ใช่สายการบินราคาประหยัด (Low-cost airline) พอไม่ใช่ Low Cost ปุ๊บ สายการบิน Full-service ก็จะใช้บริการ เพราะเขาจะเดินทางแบบ Full-service to Full-service เช่น สายการบินแอร์ฟรานซ์แม้อยู่นอก Full-service ก็จะเริ่มเชื่อมต่อกับเราในต้นปีหน้า เราไม่ต้องการกวาดตลาดทั้งหมด เราแค่ต้องการผู้โดยสารที่มันมีบนเครื่องอยู่แล้ว” นายสุเมธกล่าว
สำหรับกรณีที่มีผู้มองว่าไทยสมายล์ไม่ใช่สายการบิน Full-service เป็นคู่แข่งกับสายการบิน Low Cost นั้น นายสุเมธกล่าวว่าเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ต้องแก้ไข แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ไทยสมายล์กำลังปรับโครงสร้างอยู่ วันนี้จึงยังไม่จำเป็นต้องเอาเงินไปละลายกับโฆษณาที่บอกว่าตัวเองไม่ใช่ Low-Cost แต่จะใช้วิธีการเชื่อมต่อกับพันธมิตร Full-service ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างที่มีต้นทุนไม่มากแทน
แก้ปัญหาด้วยโมเดลไทยๆ
นายสุเมธยังเปิดเผยการเข้าพบรัฐมนตรีใหม่ทั้ง 3 คนของกระทรวงคมนาคมในวันนี้ (19 ก.ค.) ว่า ตนได้รายงานผลการดำเนินงานของการบินไทยและไทยสมายล์ให้รัฐมนตรีทั้ง 3 คนรับทราบแล้ว
ด้านการบินไทยนั้น ตนได้รายงานประเด็นหลัก 3 ประเด็นให้รัฐมนตรีรับทราบ ได้แก่ การจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) และปัญหาทั่วๆ โดยการจัดซื้อเครื่องบิน 38 ลำนั้นเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก ต้องเล่าถึงที่มาที่ไป ความจำเป็นในการจัดหา ซึ่งรัฐมนตรีก็จะนัดตนเข้ามาหารืออีกครั้งในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้รัฐมนตรีได้สอบถามว่า การบินไทยจะใช้โมเดลเจแปนแอร์ไลน์ในการแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ นายสุเมธจึงตอบว่า ปัญหาของเจแปนแอร์ไลน์แตกต่างจากการบินไทย เพราะขณะนั้นเจแปนแอร์ไลน์ล้มละลาย ถูกยึดตารางบินคืน และปลดพนักงานออก แต่ปัญหาของการบินไทยแตกต่างกัน จึงสามารถใช้โมเดลแบบไทยๆ แก้ไขปัญหาได้
ปี 61 ขาดทุน 2.6 พันล้านบาท
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สายการบินไทยสมายล์ก่อตั้งในปี 2555 และมีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปีงบประมาณ 2562 ไทยสมายล์มีรายได้รวม 11,063 ล้านบาท, รายจ่ายรวม 13,649 ล้านบาท, กำไรหลักก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) และผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 2,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 976 ล้านบาทจากปี 2560 ที่ขาดทุนสุทธิ 1,626 ล้านบาท