Business

ซีพีเอฟดึงบิ๊กดาต้าเพิ่มศักยภาพซัพพลายเชนธุรกิจไก่เนื้อ

turkey hen 569069 1280

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารออกมาประกาศปฏิรูประบบข้อมูลซัพพลายเชนของธุรกิจการผลิตไก่เนื้อ โดยจับมือกับบริษัท JDA ซอฟต์แวร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทบริหารซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ระดับโลกและเคยบริหารให้แบรนด์อื่น ๆ เช่น Kroger, Hema ฯลฯ มาแล้ว หวังยกระดับการใช้ข้อมูลของซีพีเอฟไปสู่การใช้งานบิ๊กดาต้า โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินงานได้ 20% เตรียมใช้ระบบใหม่อย่างเป็นทางการเมษายนปีหน้า

เรียกว่าออกมาปรับทัพรับยุคดิจิทัลครั้งใหญ่เลยทีเดียวสำหรับซีพีเอฟ โดยนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจไก่เนื้อและการค้าระหว่างประเทศกล่าวถึงปัญหาที่ผ่านมาของซีพีเอฟว่า มาจากการมีหลายระบบเกินไป และแต่ละระบบไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ปัญหาเดิมของเราคือเรามีระบบที่ใหญ่มาก แต่ถ้าไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดีคอยควบคุม เราจะเสียเปรียบ ตรงกันข้าม ถ้าเรามีระบบบริหารจัดการที่ดีแล้ว จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเราได้อีกไกลเลย ตอนนี้เราจึงต้องการระบบใหม่เข้ามาเพื่อดึงข้อมูลจากระบบทั้งหมดขึ้นมาให้ส่วนกลางได้มองเห็น และที่สำคัญที่สุดคือมันค่อนข้างเรียลไทม์”

20180614 152935
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

ทั้งนี้ การแสดงผลแบบเรียลไทม์ในมุมของนายประสิทธิสามารถช่วยซีพีเอฟได้มาก เพราะที่ผ่านมา หากมีลูกค้าเปลี่ยนออเดอร์จะถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะทีมงานไม่มีข้อมูลเรียลไทม์ในมือ ทำให้ต้องเช็คใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถจัดส่งได้จริง

“สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ พนักงานของเราจะมีความสุขมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา การไม่ได้เห็นดาต้าทั้งหมด และต้องโทรเช็คตลอดมันมีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ หรืออาจทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจลดลง เพราะเราไม่สามารถตอบสนองเขาได้แบบทันที ทีมงานบริการลูกค้าก็ไม่มีความสุข แต่หลังจากนี้เราจะทำได้แล้ว และคาดว่าจะทำให้ทีมงานสามารถตอบลูกค้าได้เร็วขึ้นจากเดิมอาจใช้เวลาหลายวัน”

อีกด้านหนึ่ง ระบบใหม่ที่ซีพีเอฟจะพัฒนานั้นยังช่วยให้ทางบริษัทบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย  โดยปัจจุบัน ซีพีเอฟมีโรงงานสำหรับธุรกิจไก่เนื้อ 4 แห่ง ได้แก่ นครราชสีมา, สระบุรี, มีนบุรี และบางนา โดยแต่ละสัปดาห์จะรองรับการผลิตไก่เนื้อเฉลี่ย 8.5 ล้านตัว หรือคิดเป็นต่อปี 500 ล้านตัว ซึ่งในไก่หนึ่งตัวจะสามารถตัดแบ่งได้ 20 ชิ้น เท่ากับว่าในหนึ่งปี ซีพีเอฟจะมีสินค้าคงคลังที่เป็นเนื้อไก่ให้บริหารจัดการปีละ 10,000 ล้านชิ้นเป็นอย่างน้อย ในจุดนี้ นายประสิทธิ์เผยว่า หากไม่มีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพและเรียลไทม์มากพอ ในอนาคตอาจทำให้องค์กรไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ การปรับกลยุทธ์ครั้งใหม่ของซีพีเอฟยังหมายถึงการก้าวขึ้นไปเทียบชั้นกับการบริหารจัดการซัพพลายเชนของแบรนด์ดัง ๆ ที่บริษัทมองว่าระบบดิจิทัลจะเข้ามาช่วยให้สามารถจัดส่งสินค้าได้ด้วยความแม่นยำในระดับเดียวกันด้วย

สำหรับในภาพรวมของการแข่งขันนั้น ปัจจุบัน คู่แข่งของซีพีเอฟและประเทศไทยในด้านไก่เนื้อคือประเทศบราซิล

“ปัจจุบัน ไก่เนื้อของซีพีเอฟนอกจากขายในประเทศแล้ว ประเทศที่เราส่งออกมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ อังกฤษ ญี่ปุ่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์”

20180614 151318
นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ และนายอะมิท บักกา ขณะลงนามใน MOU

อย่างไรก็ดี การลงทุนพัฒนาระบบซัพพลายเชนในครั้งนี้ของซีพีเอฟ ไม่มีการเปิดเผยมูลค่าการลงทุนแต่อย่างใด โดยทางผู้บริหารระบุแต่เพียงว่าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจได้ประมาณ 20% รวมถึงทำให้พนักงานบางส่วนมีความสุขมากขึ้น และไม่ต้องทำงานภายใต้แรงกดดันเหมือนที่เคยเป็นมา

ด้านนายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า กาพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของบริษัท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และการผลิต รวมถึงการให้บริการลูกค้า ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปฏิรูประบบซัพพลายเชนธุรกิจไก่เนื้อ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย และสามารถส่งมอบได้ถึงมือผู้บริโภคได้ตรงเวลา”

โดยระบบใช้เวลาในการพัฒนา 12 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จเต็มรูปแบบในเดือนเมษายนปี 2562 ซึ่งก็ต้องมาคอยดูกันว่า ซีพีเอฟ 4.0 ในวันนั้นจะมีโฉมหน้าอย่างไร

Avatar photo