Business

‘ไชน่า สเตท’ จับมือรายกลางลุยประมูล ‘รถไฟไทย-จีน’ ต่อตั้งเป้าคว้าเพิ่มอีก 2 สัญญา

“เอ.เอส.” จับมือ “ไชน่า สเตท-เนาวรัตน์” ลุยประมูล “ไฮสปีดไทย-จีน” ต่อเนื่อง ตั้งเป้าชนะประมูลเพิ่มอีก 1 – 2 สัญญา นอกจากนี้พร้อมซับคอนแทรคงานวางราง “รถไฟฟ้า 2 สาย”

รถไฟ ไฮสปีด ไทย จีน
ขอบคุณภาพจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

แหล่งข่าวจากบริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เปิดเผยว่า ล่าสุดบริษัทชนะการประมูลการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญาฉบับที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร – บ้านโพ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ราคากลาง 13,293 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทร่วมประมูลในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า CAN ประกอบบริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งคอร์ปอเรชั่น จำกัด จากประเทศจีน, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR และบริษัท เอ.เอส.ฯ โดยทางกลุ่มยื่นข้อเสนอด้านราคาต่ำสุดที่ 11,525 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,768 ล้านบาท คิดเป็น 15.34%

สำหรับกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้ทางกลุ่ม ชี้แจงเหตุผลที่ยื่นข้อเสนอต่ำกว่าราคากลางถึง 15% ต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า กลุ่ม CAN พิจารณาแล้วว่าต้นทุนดังกล่าวทำได้จริงและไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ

รถไฟ ไฮสปีด ไทย จีน 4
ขอบคุณภาพจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

เล็งงานโยธาอีก 2 ฉบับ

หลังจากนี้ บริษัทจะเข้าร่วมประมูลงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนอย่างต่อเนื่องและตั้งเป้าจะประมูลงานให้ได้อีก 1-2 สัญญา โดยบริษัทยังจับมือกับกลุ่มกิจการร่วมค้า CAN เหมือนเดิม เนื่องจากบริษัทคุ้นเคยกับ NWR เพราะเคยทำงานร่วมกันมาก่อน ส่วนบริษัท ไชน่า สเตท ก็เป็นผู้รับเหมาจีนที่มีนโยบายสอดคล้องกับบริษัทในด้านการร่วมทุน ผลตอบแทน อุปกรณ์ สามารถถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้

“ตอนนี้ก็ยังมองรถไฟไทย-จีนต่อ ขออีกสักสัญญา 2 สัญญา โดยเรายังร่วมกับพันมิตรรายเดิมคือ เนาวรัตน์และไชน่า สเตท ซึ่งการประมูลช่วงถัดไปจะอยู่ใกล้ๆ โคราช สำหรับเราตรงไหนก็ได้ แต่ได้ใกล้ๆ กันก็ดี” แหล่งข่าวกล่าว

บริษัท เอ.เอส.ฯ มองว่าการก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีน จะใช้เครื่องมือที่มีความซับซ้อนมากขึ้น บริษัทจึงหวังว่าการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน จะส่งผลให้บริษัทได้รับประสบการณ์ด้านเทคนิค การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงพัฒนาบุคลาการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

S 85680143

พร้อมลุยงานวางราง

แหล่งข่าวกล่าวว่า บริษัท เอ.เอส.ฯ เป็นผู้รับเหมาที่มีความถนัดเรื่องงานวางรางเป็นพิเศษ จึงมองโอกาสในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย ได้แก่ รถไฟฟ้าสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และโครงการวางรางรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ได้จับมือกับพันธมิตรรายใดเป็นพิเศษ เพราะมองว่าถ้าผู้ประกอบการรายใดชนะประมูลงานรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ทางบริษัทก็จะใช้วิธีเข้าไปรับเหมาช่วงต่อ (Subcontract)

รถไฟฟ้า MRT สีม่วง 181129 0003

ไฮสปีดเหลือลุ้นอีก 7 สัญญา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เหลืองานโยธาที่ยังไม่ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอจำนวน 7 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา  ประกอบด้วย สัญญาที่ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมประมูลแล้ว 4 สัญญา, สัญญาที่ต้องปรับปรุงเงื่อนไขการประมูล (TOR) 2 สัญญา และสัญญาที่ต้องรอเจรจากับผู้ชนะการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก่อน จึงเปิดประมูลได้ 1 สัญญา

ด้านโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว แต่ยังไม่เปิดประมูล ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดสาย อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการ

 

 

Avatar photo