Business

ความท้าทายแม่ทัพใหม่ ‘ซีพีเอฟ’ โชว์วิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนรายได้ 8 แสนล้านใน 5 ปี

หลังจาก เข้ารับตำแหน่ง ประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ แม่ทัพใหญ่คนใหม่สดๆ ร้อนๆ ก็พร้อมออกมาประกาศวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของซีพีเอฟ โดยเฉพาะแผนงาน 5 ปี (2562-2566) ที่จะบรรลุเป้าหมายรายได้ 8 แสนล้านบาทจากปัจจุบัน 5 แสนล้านบาท

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ความท้าทายสำคัญของซีพีเอฟคือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เฉพาะผู้บริโภคไทยเท่านั้น แต่เป็นผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากซีพีเอฟเข้าไปขยายการลงทุนใน 17 ประเทศทั่วโลกที่มีสำนักงานของบริษัท และมีสำนักงานขายใน 19 ประเทศทั่วโลก จึงต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทุกประเทศที่เข้าไปทำตลาด

30231
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

ความท้าทายดังกล่าว ยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของซีพีเอฟ ที่จะเป็น “ครัวของโลก” ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นได้ระดับหนึ่งแล้ว หากพิจารณาจากสาขาที่มีทั่วโลก สิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อคือ การพัฒนาอาหารที่เป็นระดับโลก หรือ ฟู้ด โกลบอล ซึ่งทำได้ยากมาก เพราะอาหารถือเป็นวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ดังนั้น ซีพีเอฟจะเริ่มจากการออกแบบและพัฒนาอาหารที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศที่เข้าไปทำตลาด ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าต่อยอดธุรกิจเนื้อสัตว์ที่เป็นธุรกิจหลักอีกด้วย

“พอร์ตของซีพีเอฟ หลักยังเป็นกลุ่มเนื้อสัตว์ ซึ่งแบ่งเป็นฟาร์ม 41% อาหารสัตว์ สัดส่วน 41% กลุ่มอาหารสัตว์  42% ขณะที่กลุ่มอาหาร สร้างสัดส่วนรายได้เพียง 17% ซึ่งนับจากนี้ ซีพีเอฟจะให้ความสำคัญและรุกสู่ธุรกิจอาหารมากขึ้นเพราะมีพื้นฐานจากการมีวัตถุดิบเนื้อสัตว์ที่ดีและสามารถนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่มได้ โดยจะใช้กลยุทธ์โลคอลไลซ์ให้เหมาะกับแต่ละประเทศ”นายประสิทธิ์กล่าว

30140

ทั้งนี้ หากสามารถพัฒนากลุ่มอาหารในแต่ละประเทศที่เข้าไปทำตลาดให้ประสบความสำเร็จได้ จะเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล และเป็นการเพิ่มสัดส่วนรายได้ของกลุ่มอาหารรวมถึงรายได้รวมของธุรกิจให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าภายใน 5 ปีนับจากนี้ สัดส่วนกลุ่มอาหารจะเพิ่มเป็น 1 ใน 3 ของรายได้รวมซีพีเอฟ

ปัจจุบัน จากรายได้รวม 5 แสนล้านบาท เป็นรายได้จากการส่งออก 30-33% แต่ในอนาคตรายได้จากต่างประเทศจะพลิกกลับมามากกว่า หรือคาดว่าจะเพิ่มเป็น 75% และรายได้จากการขายในประเทศเหลือ 25% เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีโอกาสขยายธุรกิจได้อีกมาก จากขนาดตลาดที่ใหญ่กว่า เช่น จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ที่มีจำนวนประชากรสูงกว่าไทยเยอะมาก ดังนั้นหากสามารถเดินหน้าธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่จะพัฒนาอาหารเพื่อคนในแต่ละประเทศได้ตามเป้าหมาย จะทำให้ซีพีเอฟเติบโตได้อีกมากเช่นกัน

อีกการเปลี่ยนแปลงสำคัญของซีพีเอฟคือ การเปิดกว้างให้สาขาในต่างประเทศ สามารถซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์รรายอื่นได้ หากต้นทุนหรือข้อเสนอดีกว่าสินค้าในเครือ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจซีพีเอฟให้แต่ละประเทศ พร้อมทั้งวางเป้าหมายให้สาขาในแต่ละประเทศเป็น โกลบอล ฟู้ด ดิสตริบิวเตอร์ เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าทั้งในเครือและนอกเครือ รวมถึงซื้อขายสินค้าระหว่างสาขาในแต่ละประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

30235 1

นายประสิทธิ์กล่าวว่า ในยุคของเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้ซีพีเอฟต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบไอทีเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก โดยสิ่งสำคัญไม่ใช่เรื่องเงิน เพราะใครมีเงินก็ซื้อระบบได้ แต่สำคัญที่การนำระบบมาปรับให้เหมาะกับธุรกิจและองค์กร รวมถึงสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องความต้องการของผู้บริโภคได้ตามเป้าหมาย โดยใช้บิ๊กดาต้าและการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ ซึ่งต้องมีคนเก่งด้านไอที

“ระบบไอทีที่นำมาใช้ต้องมีทีมงานด้านไอทีที่สามารถปรับระบบให้ฟิตกับองค์กร ซึ่งไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่หมายถึงการเชื่อมโยงกับสาขาที่มีทั่วโลก นั่นหมายความว่าไม่ใช่เสร็จในวันนี้ แต่ต้องทำต่อเนื่อง และพัฒนาต่อเนื่องเพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาไม่หยุดยั้ง โดยที่ผ่านมาเราลงทุนระบบไอทีไปแล้วกว่า 1,000 -2,000 ล้านบาทและพร้อมลงทุนต่อเนื่อง”นายประสิทธิ์กล่าว

การให้ความสำคัญกับระบบไอที เนื่องจากเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรยุค 4.0 ด้วยการนำแนวคิดนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจและทุกผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟ โดยจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น เอไอ คลาวด์ บิ๊กดาต้า ไอโอที ตลอดจนระบบอัตโนมัติ เพื่อยกระดับและเชื่อมโยงกระบวนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ เช่น การพัฒนาเกษตรกรอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ เป็นต้น รวมถึงพัฒนาอาหารนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น อาหารเพื่อผู้ป่วย “สมาร์ทซุป” อาหารมังสวิรัติ “สมาร์ทมีล” ฯลฯ

cp 1

ในแต่ละปี ซีพีเอฟจะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องอีก 1-2 ปี จะเป็นการลงทุนในจีนและเวียดนามมากสุด ภายใต้โมเดลเดียวกับธุรกิจในไทย นั่นคือ การรุกขยายธุรกิจอาหาร หลังจากลงทุนธุรกิจฟาร์มและอาหารสัตว์แล้ว ซึ่งทุกประเทศจะใช้โมเดลเดียวกันนี้ไปปรับให้เข้ากับแต่ละประเทศ รวมถึงมองการซื้อกิจการที่มีโอกาส ซึ่งเป็นงบลงทุนพิเศษที่ไม่รวมกับเงินลงทุนประจำปี

ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนธุรกิจของซีพีเอฟ ยังเน้นการสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก 9 เทรนด์ได้แก่ อาหารปลอดภัย, วัตถุดิบอาหารที่ยั่งยืน, เศรษฐกิจหมุนเวียน, การจัดส่งอาหารหรือเดลิเวอรี่, อาหารเพื่อสุขภาพ, ระบบการผลิตอัตโนมัติ, อาหารที่ออกแบบเฉพาะหรือ เพอร์ซันนอลไลซ์ ฟู้ด เช่นอาหารสำหรับผู้สูงอายุ, การใช้วัตถุดิบธรรมชาติ และอาหารพรีเมียม

Avatar photo