Business

เปิดตัว ‘ยูนุสประเทศไทย’ ดึงองค์กรใหญ่พลิกโฉมแก้ปัญหาสังคม

“มูฮัมหมัด ยูนุส” เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมเปิดตัว “ยูนุสประเทศไทย” ดึงองค์กรยักษ์ใหญ่ พลิกโฉมการแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยกลไกทางธุรกิจ พร้อมสร้างนิยามใหม่ “ความสุขที่แท้จริง” คือการสร้างความสุขให้ผู้อื่น

GAP 9629
ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส

 ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส  (Muhammad Yunus) นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้ริเริ่มแนวคิด “ธุรกิจเพื่อสังคม” (Social Business) และมูลนิธิยูนุส (Yunus Foundation) ได้ร่วมกับศูนย์ยูนุสเซ็นเตอร์ ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Yunus Center at AIT) ศูนย์ยูนุสเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Thailand Social Business Initiative:TSBI) จัดการประชุม Social Business Day 2019 ครั้งที่ 9  ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562

เป้าหมายสำคัญคือ การผลักดันให้เกิดชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกและเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนแนวคิด Social Business ให้เป็นต้นแบบในการช่วยแก้ปัญหาสังคมและตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในงานมีผู้นำทางสังคม องค์กรภาคประชาสังคมชั้นนำ องค์กรธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคมทั้งในระดับนานาชาติ และในระดับท้องถิ่น รวมทั้งนวัตกร นักศึกษา และผู้คร่ำหวอดด้านการนำปรัชญาของธุรกิจเพื่อสังคมเข้าร่วมประชุมด้วย

ZMN 9430
บรรยากาศภายในงานวันที่ 28 มิถุนายน 2562

​สำหรับงานปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด  Making Money is Happiness, Making Other People Happy is Super Happiness  (การสร้างรายได้คือความสุข แต่การสร้างความสุขให้คนอื่นคือความสุขที่แท้จริง) สะท้อนและตอกย้ำให้ตระหนักถึงความสุขที่แท้จริง พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะร่วมกันแก้ปัญหาสำคัญของโลกใน 4 ด้าน

1. ธนาคารและไมโครไฟแนนซ์

2.มลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.ขยะพลาสติกและเศรษฐกิจหมุนเวียน

4.ธุรกิจเพื่อสังคมและการกีฬา

เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็น 1 ในองค์กรธุรกิจจากประเทศไทย ที่ร่วมสนับสนุนการจัดประชุมครั้งนี้ เพราะเชื่อมั่นในแนวคิด Social Business ที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้และทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือฯ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (29 มิ.ย.) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเกียรติขึ้นกล่าว Closing Ceremony ในการประชุมที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกในครั้งนี้ด้วย

GAP 9634

การเปิดงานวันนี้ (28 มิ.ย.) ศาสตร์จารย์มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ กล่าวต้อนรับและกล่าวปาฐกถากับผู้เข้าร่วมงานจำนวน 1,450 คน จาก 58 ประเทศทั่วโลกว่า การทำงานและการมีเงินเป็นเรื่องที่มีความสุข แต่การทำให้คนอื่นมีความสุข กลับเป็น “ความสุขที่แท้จริง” (Super Happiness) โดยแนวคิดเรื่องเงินเท่ากับความสุข หรือการวัดความสุขด้วยจำนวนเงิน เป็นเรื่องที่เกิดจากความเข้าใจผิด เพราะความสุขมีความหมายลึกซึ้งกว่าจำนวนเงินในกระเป๋า

ทั้งนี้ การทำงานและมีเงินไม่ใช่ความสุขหรือเป้าหมายสูงสุดของทุกอย่าง เพราะขณะที่เรากำลังฉลองผลกำไร แต่โลกนี้คงยังมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไข ซึ่งจริงๆ แล้วทุกคนสามารถช่วยกันสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงโลกในทิศทางที่ตัวเองต้องการได้

เราต้องออกจากนิยาม “ความเจริญ” แบบเก่า แล้วไปสร้างนิยามความเจริญแบบใหม่ด้วยการคำนึงถึงสังคมและโลก โดยหลังจากจบงานนี้แล้ว ก็อยากให้ทุกคนเริ่มทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำได้ และทำก่อนที่เราจะจากโลกนี้ไป เพื่อให้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกใบนี้และเด็กรุ่นหลัง

GAP 9612

​ศาสตร์จารย์ยูนุส กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง Social Business ว่า จากนี้จะได้เห็น Social Business เข้าไปสู่แวดวงกีฬาด้วย เพราะกีฬาเป็นพลังสำคัญในสังคม แต่ที่ผ่านมากีฬากลับถูกใช้ไปในการโฆษณาสินค้าหรืออื่นๆ แต่ยังไม่เคยทำในเชิงธุรกิจเพื่อสังคม แต่ต่อจากนี้เราจะเห็นพลังกีฬาในการสร้างสรรค์สังคม โดยเราจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้กีฬากลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคมเป็นครั้งแรกในในงานโอลิมปิกปี 2024 ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ด้านดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ  ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ และผู้ร่วมก่อตั้งยูนุสประเทศไทย (Yunus Thailand) กล่าวว่า การประชุม Social Business Day ครั้งที่ 9 เลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานเป็นครั้งแรก เพราะไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัย เข้าถึงง่าย และประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานมากที่สุดตั้งแต่เคยจัดการประชุมมา

​เหตุการณ์สำคัญในการประชุม Social Business Day ในครั้งนี้คือ การประกาศจัดตั้ง “ยูนุสประเทศไทย” ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนแนวคิด Social Business ในประเทศไทยอย่างจริงจัง จากเดิมที่เป็นความร่วมมือแบบหลวมๆ เท่านั้น นอกจากนี้ยังได้ประกาศจัดตั้ง “Corporate Action Tank” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จะใช้ในการขับเคลื่อน Social Business ร่วมกับภาคเอกชนในประเทศไทยด้วย

S 85245956
บรรยากาศภายในงานวันที่ 28 มิถุนายน 2562

“จากนี้เป็นต้นไป เราจะเห็นตัวอย่างของ Social Business ที่มาจากทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา และก็มีมาจากภาคประชาสังคมด้วย โดยมีตัว Corporate Action Tank เป็นแพลตฟอร์มในการทำงานร่วมกัน และหลังจากงานในวันนี้ ก็เริ่มต้นเฟ้นหาความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในรูปแบบที่แข็งแรงมากขึ้น จากเดิมที่จับมือแบบหลวมๆ” ดร.พิพัฒน์กล่าว

​สำหรับแนวคิด Social Business เป็นการใช้แกนหลักธุรกิจ (Core Business) ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละองค์กรมาแก้ไขปัญหาสังคม แต่ธุรกิจก็ต้องสร้างรายได้มาค้ำจุนองค์กรด้วย เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว เช่น ในประเทศบังกลาเทศ ยูนุสใช้กลไกในรูปแบบการร่วมลงทุน (Venture) ในชื่อ “กรามีน” เข้าไปร่วมมือกับบริษัท ดานอน เพื่อขายสินค้าที่มีสารอาหารเพียงพอ ช่วยแก้ปัญหาทุพโภชนาการของเด็กและจำหน่ายในราคาที่ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้ ซึ่งประเทศบังกลาเทศมีโมเดลธุรกิจแบบ Social Business ในลักษณะนี้ 30-40 ธุรกิจ และยูนุสประเทศไทยจะต่อยอดโมเดลเหล่านี้เพื่อมาพัฒนาในประเทศไทย

245086
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

​อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่อง Social Business แตกต่างจากแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ซึ่งได้รับความนิยมในภาคธุรกิจของประเทศไทยในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา โดย CSR เป็นแนวคิดในการช่วยเหลือสังคมของภาคธุรกิจผ่านการบริจาคหรืออาสาสมัคร แต่ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับแกนหลักของธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งการบริจาคหรือการให้เปล่าก็ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้ในระยะสั้น แต่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว เพราะแต่ละองค์กรก็มีทรัพยากรจำกัด

​เพราะฉะนั้นอุปสรรคในการผลักดัน Social Business ก็คือการทำความเข้าใจกับองค์กรต่างๆ เพราะหลายธุรกิจอาจมองว่าหลักการ Social Business ไม่เข้ากับสิ่งที่ตัวเองขับเคลื่อนอยู่ ในแง่การแสวงหากำไร ซึ่งก็ต้องสร้างความเข้าใจว่าแนวคิด Social Business จะตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนมากกว่า เพราะ Social Business เป็นการกำลังเชื่อมโจทย์ทางสังคม ให้สามารถแก้ไขด้วยวิธีการทางธุรกิจ

“Mindset และความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าผ่านตรงนี้ไปได้ ผมเข้าใจว่า issue ต่อไปก็คือจะทำยังไงให้มันเกิด partnership ระหว่างภาคสังคมและภาคธุรกิจ ซึ่งอันนี้ก็ต้องเรียนว่าด้วยวัฒนธรรมของบ้านเรา มันก็ยังมีช่องว่างอยู่ เป็นหน้าที่ของยูนุสประเทศไทยที่ต้องเข้าไปเติมช่องว่างตรงนี้ ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจให้ได้” ดร.พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

Avatar photo