Business

‘คาร์แชร์ริ่ง’ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ผนึก มจธ. ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า

บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เดินหน้าโครงการ “Charge & Share” ผลักดันประเทศไทยสู่อนาคตคาร์ แชร์ริ่ง สังคมปลอดมลพิษ

The Future of Mobility 10 Dr. Yossapong Laoonual
ยศพงษ์ ลออนวล

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และประธานคลัสเตอร์วิจัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (มจธ.) เปิดเผยว่า โครงการ ชาร์จ แอนด์ แชร์ (Charge & Share) เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยกลุ่มคลัสเตอร์วิจัยยานยนต์ของ มจธ. ด้วยเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในรั้ว มจธ. ให้เป็นรูปธรรม และเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางมาเป็น คาร์ แชร์ริ่ง (Car Sharing) เพื่อศึกษาพฤติกรรมของคนไทยในการใช้งานระบบดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  ได้ร่วมมือกับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย นำรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู i3 ซึ่งขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าโดยสมบูรณ์และปราศจากการปล่อยไอเสีย พร้อมด้วยรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด บีเอ็มดับเบิลยู 330e และบีเอ็มดับเบิลยู X5 xDrive40e ให้ทางมหาวิทยาลัยทดลองใช้ในโครงการดังกล่าว

สำหรับโครงการ ชาร์จ แอนด์ แชร์ นั้น มจธ. ได้เปิดสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น โดยมีรถยนต์ให้บริการในรูปแบบ คาร์ แชร์ริ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือรถยนต์ไฟฟ้า บีเอ็มดับเบิลยู i3 ซึ่งบุคลากรของมหาวิทยาลัยนำไปใช้ในงานราชการ พร้อมเก็บข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ เพื่อศึกษาลักษณะการใช้งาน รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ควบคู่กับการศึกษาพฤติกรรมของคนไทยในการใช้บริการระบบ คาร์ แชร์ริ่ง และ สถานีชาร์จรถอีวี

The Future of Mobility

โครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และระบบ คาร์ แชร์ริ่ง ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด ผู้ให้บริการ คาร์ แชร์ริ่ง แห่งแรกในประเทศไทย ในการช่วยบริหารจัดการระบบการจองและคืนรถ รวมไปถึงให้บริการผู้ใช้อีกด้วย

การบริการของฮ้อปคาร์ เน้นให้เช่ารถยนต์คันเล็ก อีโคคาร์ เหมาะสำหรับขับขี่ในเมือง โดยขณะนี้ มีรถยนต์ให้บริการทั้งหมดประมาณ 200 คัน และมีฐานลูกค้ากว่า 60,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้บริการอยู่ในกรุงเทพฯ ก้าวต่อไปของฮ้อปคาร์ คือยกระดับบริการสู่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ electric car sharing โดยปัจจุบันได้นำรถยนต์ไฟฟ้าอย่างบีเอ็มดับเบิลยู i3 มาทดลองใช้ และในอนาคตจะทยอยเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าต่อไป

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับแผนระยะยาวของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ที่ได้ตั้งเป้ายอดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดในประเทศไทยไว้ 1.2 ล้านคัน ซึ่ง บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตรในโครงการ ชาร์จนาว ปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะพร้อมให้บริการทั้งหมดมากกว่า 121 หัวจ่ายกระจายอยู่ 57 แห่งทั่วประเทศไทย รวมถึงภายในศูนย์บริการของผู้จำหน่ายบีเอ็มดับเบิลยูอย่างเป็นทางการ และมีเป้าหมายที่จะติดตั้งให้ครบทั้งหมด 150 หัวจ่าย ภายในสิ้นปี 2563

Avatar photo