Business

ยุคดิจิทัล!! ‘ศาลยุติธรรม’จับมือเคาน์เตอร์เซอร์วิสจ่ายเงินค่าปรับผ่านเซเว่นฯ

สำนักงานศาลยุติธรรมทำข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ในการให้บริการชำระเงินค่าปรับผู้ประกัน โดยมีนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายวีรเดช อัครผลพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ลงนามในข้อตกลงดังกล่าว พร้อมชมการสาธิตการรับชำระเงินค่าปรับผู้ประกันผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการชำระเงินค่าปรับนายประกันให้มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาติดต่อราชการศาล

ศาล

 

นายสราวุธ กล่าวว่าสำนักงานศาลยุติธรรมได้มุ่งมั่นพัฒนา และเพิ่มรูปแบบการให้บริการให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการให้ครอบคลุมต่อไป การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว ผู้ประกัน มีหน้าที่ต้องนำตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยมาศาลตามเวลากำหนดนัด หากผู้ประกันไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยมาศาลตามกำหนดได้ โดยไม่มีเหตุผลสมควร จะถือว่าผู้ประกันนั้นผิดสัญญาประกัน ศาลจะสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกัน

ทั้งนี้ผู้ประกันสามารถโอนเงินชำระ เงินค่าปรับผู้ประกัน ผ่านธนาคารในระบบ KTB Corporate Online และเพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว  สำนักงานศาลยุติธรรม ได้เพิ่มช่องทางให้ผู้ประกัน โดยพัฒนาระบบการชำระเงินค่าปรับผู้ประกันผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านค้าที่มีสัญลักษณ์เคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขา ในอนาคตสำนักงานศาลยุติธรรมจะขยายระบบการชำระเงิน มาใช้กับการชำระค่าธรรมเนียมศาล และเงินกลางต่อไป

ศาล2

นอกจากนี้ สำนักงานศาลยุติธรรม ยังมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านศาลยุติธรรมสู่ยุคดิจิทัล เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็น D- Court (ศาลดิจิทัล) ในปี 2020 ด้วยการพัฒนาระบบให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ และสร้างความหลากหลายรูปแบบการให้บริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการประชาชน ให้เข้าถึงความยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว  เสมอภาค

ศาล3

ด้านนายวีรเดช กล่าวว่า เคาน์เตอร์เซอร์วิสมีช่องทางชำระเงินกว่า 12,000 แห่ง ปัจจุบันสามารถชำระผ่านระบบออนไลน์ ด้วยแอพพลิเคชั่นได้ 24 ชั่วโมง  จะเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้ติดต่อกระบวนการยุติธรรม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight