Business

จับตา ‘แฟลช’ รุกหนักวงการขนส่งประกาศทุ่ม 4 หมื่นล้านขยายทั่วอาเซียน

การขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ได้ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์เติบโตตามไปด้วย ล่าสุด “การขนส่งและโลจิสติกส์ในประเทศไทย” มีมูลค่าสูงกว่า 200,000 ล้านบาทและมีอัตราเติบโตปีละ 15-20% ธุรกิจนี้จึงหอมหวาน ดึงดูดให้ผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่กระโดดลงมาประฝีมือ ช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาด

สำหรับ “แฟลช เอ็กช์เพรส” แม้จะเป็นน้องใหม่ในวงการขนส่งไทย ที่เพิ่งมีอายุครบ 1 ขวบปี แต่การลงทุนและขยายตัวของ แฟลช เอ็กช์เพรส อยู่ในระดับที่ไม่ธรรมดาและน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

โดย แฟลช เอ็กซ์เพลส อ้างว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้ทุ่มเม็ดเงินไปแล้วมากกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาธุรกิจและระบบขนส่งให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมชูนโยบายเด่น “ราคาถูกที่สุด เริ่มต้นเพียง 19 บาท บริการรับฟรีถึงหน้าบ้านตั้งแต่ชิ้นแรก มีพนักงานของตัวเอง ไม่จ้างเอาท์ซอร์สหรือแฟรนไชส์ และทำงาน 365 วันไม่มีวันหยุด”

S 4825094

ตั้งเป้าขยายตัวสูงปรี๊ด 1,000%

“คมสันต์ ลี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ แฟลช (FLASH GROUP) เล่าว่า ในช่วงเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 แฟลช เอ็กซ์เพรส มีทั้งหมด 9 สาขา และปัจจุบันได้พัฒนาเป็น 1,000 สาขา นอกจากนี้ได้จ้างพนักงานจำนวน 10,000 คน ให้บริการสินค้าจำนวน 20 ล้านชิ้น รายได้รวมต่อเดือนอยู่ที่ 500 ล้านบาท แต่ยังขาดทุนมากกว่าเดือนละ 300 ล้านบาท นับว่าในปี 2561 บริษัทมีการเติบโตทางธุรกิจถึง 4,000%!

สำหรับในปี 2562 แฟลช เอ็กช์เพรส ยังคงนโยบายขยายตัวอย่างร้อนแรง โดย “คมสันต์ ” ตั้งเป้าว่าในช่วงสิ้นปีนี้ แฟลช เอ็กช์เพรส จะขยายเป็น 1,700 สาขา เพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 20,000 คน เพิ่มจำนวนสินค้าเป็น 40 ล้านชิ้น รายได้รวมเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทต่อเดือน การเติบโตทางธุรกิจอยู่ที่ 1,000% นอกจากนี้เริ่มจะให้บริการ 4 ประเทศในกลุ่มอาเซียน และขยายครบ 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียนภายในปี 2562

S 4816914
คมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ แฟลช

ทุ่ม 4 หมื่นล้านบาท ใช้ไทยเป็นฐานรุกอาเซียน

“ช่วงแรกเรายังไม่หวังว่าจะมีกำไร โดยปัจจุบันขาดทุนมากกว่าเดือนละ 300 ล้านบาท เพราะเป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี คาดว่าภายใน 4 ปี บริษัทจึงจะเข้าสู่จุดคุ้มทุน โดยจะต้องรอให้บริษัทขยายการลงทุนไปยังตลาดอาเซียนให้ครบทุกประเทศก่อน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านบาทภายใน 4 ปีนี้” คมสันต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจ แฟลช ไม่ใช่นิยามตัวเองว่าเป็นเพียงบริษัทขนส่งเท่านั้น แต่จะเป็น ธุรกิจ อี-คอมเมิรซ์ แบบครบวงจร ซึ่งในครึ่งปีหลัง ผู้บริโภคและลูกค้าจะได้เห็นรูปแบบธุรกิจ สินค้า และบริการใหม่ๆ ที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ส่วนธุรกิจขนส่งนั้น นับว่าเป็นพื้นฐานของธุรกิจหลายๆ อย่าง เพราะหากบริหารจัดการระบบขนส่งได้ดี ก็ช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการแต่ละรายและผู้บริโภคก็จะได้สินค้าราคาถูกลง

S 4825096

สร้างแพลตฟอร์ม UBER ในวงการโลจิสติกส์

“คมสันต์” กล่าวต่อว่า ล่าสุดกลุ่มธุรกิจ แฟลช ได้ร่วมกับผู้บริหาร นิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์ ก่อตั้ง “บริษัท แฟลช โลจิสติกส์ จำกัด” เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจโลจิสติกส์ในรูปแบบใหม่ รวมถึงรองรับรับการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

ในระยะสั้น แฟลช โลจิสติกส์ จะลงทุน 200 ล้านบาท สร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเข้าด้วยกัน ซึ่งเปรียบเหมือนการลงทุนสร้างแพลตฟอร์ม UBER ในด้านโลจิสติกส์ และในระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน จะใช้วงเงินลงทุนเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างศูนย์รับและคัดแยกสินค้าครบวงจร 10 แห่งทั่วประเทศ พร้อมมีแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ด้วย

S 4816918

ผู้ประกอบการขนส่งสามารถใช้บริการแพลตฟอร์มของ แฟลช โลจิสติกส์ ติดตามการขนส่งสินค้า การชำระเงิน รวมถึงเชื่อมต่อการขนส่งสินค้ากับพันธมิตรรายอื่น แพลตฟอร์มนี้ยังยึดหลักการการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Shared Resource) ด้วยการมีศูนย์รับและคัดแยกสินค้า อุปกรณ์ และพนักงานส่วนกลางให้ผู้ประกอบการใช้ร่วมกัน ถ้าหากผู้ประกอบการไม่ได้ส่งสินค้า ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

โดยเบื้องต้นแพลตฟอร์มดังกล่าวจะคิดค่าบริการอยู่ที่ 2.5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งก็หวังว่าในระยะแรก ถ้ามีผู้ประกอบการใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวในระดับ 100 ราย แต่ละรายมีสินค้า 60 ตันต่อวัน ก็ถือเป็นปริมาณที่มากแล้ว และตั้งเป้าหมายว่า แพลตฟอร์มนี้จะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดภายใน 1 ปี มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากกว่า 1,500 ตันต่อวัน แซงคู่แข่งอันดับ 1

 

ดึงเถ้าแก่รายย่อยใช้แพลตฟอร์ม

“ปิยะนุช สัมฤทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์ และในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า แฟลช โลจิสติกส์ ตั้งเป้าจะนำร่องเปิดให้ใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวในเดือนสิงหาคม 2562 และจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในต้นปี 2563

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มของ แฟลช โลจิสติกส์ จะช่วยเชื่อมโยงผู้ประกอบการเข้าด้วยกัน เช่น เดิมผู้ประกอบการจะขนส่งภายในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น แต่ถ้าหากใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวก็สามารถรับสินค้าจากพันธมิตรเพิ่มเติมได้ หรือสามารถส่งสินค้าผ่านพันธมิตรที่มีอยู่ ซึ่งโมเดลนี้เป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสหารายได้ และลดต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนการวิ่งรถเที่ยวเปล่า ซึ่งเป็นภาระของผู้ประกอบการและลูกค้า

S 4825097
ปิยะนุช สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช โลจิสติกส์ จำกัด

“ปิยะนุช” เชื่อว่าแพลตฟอร์มนี้จะช่วยพัฒนาธุรกิจและคุณภาพชีวิตของบุคลากรในวงการโลจิสติกส์ไทย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการโลจิสติกส์อยู่กว่า 30,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยและเป็นธุรกิจครอบครัวที่ใช้โมเดล “ผัวขับ เมียเช็ค ลูกขน” ส่งผลให้มีกำไรน้อยลง เติบโตช้า และทายาทไม่ค่อยสนใจสานต่อ ขณะเดียวกันเถ้าแก่ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี กว่า 75% เป็นผู้ประกอบการรุ่นเก่าที่ยังจดบันทึกด้วยมือและใช้วิธีโทรศัพท์ติดต่อลูกค้า

แต่โจทย์ที่ท้ายทาย แฟลช โลจิสติกส์ ที่สุดและต้องเร่งทำในระยะแรก คือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับบรรดาผู้ประกอบการว่า แพลตฟอร์มจะไม่เข้าไปดึงข้อมูลเพื่อแย่งลูกค้าโดยเด็ดขาด

 

 

Avatar photo