Business

‘ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น’พัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค

หอการค้าไทย จัดการประชุมใหญ่หอการค้าภาค 5 ภาค ประจำปี 2561 เพื่อขับเคลื่อนแนวทาง “ไทยเท่ ไทยเท่าเทียม ไทยยั่งยืน” เพื่อระดมความคิดเห็นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาค และการขับเคลื่อน Trade & Services 4.0 ในแต่ละพื้นที่

พร้อมกันนี้ได้จัดเสวนา “Digital Transformation กับการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค” จากมุมมองของหน่วยงานต่างๆ ในการปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

ค้าปลีกรุกอีคอมเมิร์ซ

ชนิตร  ชาญชัยณรงค์  รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เห็นได้ชัด คือการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลที่เข้ามามีผลต่อการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น โดยยกตัวอย่างของประเทศในกลุ่ม CLMV โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่ในปัจจุบันดิจิทัลได้เข้าไปมีผลต่อการดำเนินชีวิต ทั้งการใช้โทรศัพท์ที่มีเพิ่มมากขึ้น การซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ พฤติกรรมการเสพข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป

“คนเวียดนามมีการดูยูทูบมากที่สุดเป็นอันดับต้นของภูมิภาคนี้ นอกจากจะเป็นการดูเพื่อรับเนื้อหาความรู้แล้วยังใช้ยูทูบเพื่อเป็นสื่อในการโฆษณา สร้างรายได้ด้วย”

สำหรับประเทศไทย พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเซ็นทรัลได้ร่วมทุนกับ JD.com ของจีน  เพื่อทำตลาด “อีคอมเมิร์ซ” ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้

สิ่งที่หอการค้าจังหวัดสามารถช่วยเศรษฐกิจของประเทศให้เพิ่มมากขึ้นได้ คือการนำดิจิทัลมาปรับใช้กับโครงการ “ไทยเท่” ที่หอการค้าไทยกำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน โดยนำมาปรับใช้เพื่อสร้างจุดขายให้กับการท่องเที่ยวของไทยส่งเสริมด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้เป็นระบบที่มีมาตรฐานและตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น

 ใช้ประโยชน์ “ดิจิทัล เทคโนโลยี”

ทางด้าน นิพนธ์  พัวพงศกร  นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า Digital Technology ประกอบไปด้วย 4 ด้าน ได้แก่ Sensors, Big Data, AI และ Cloud Computing ซึ่งแต่ละด้านล้วนมีผลกระทบในเชิงลบต่อหลากหลายอาชีพในปัจจุบัน อาทิ แอพ ป่วนโลก เช่น อูเบอร์ ที่เข้ามาป่วนระบบการขนส่ง , รถป่วนโลกที่ขับได้ด้วยตัวเอง เทคโนโลยีที่เข้ามาป่วนเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะด้านการสื่อสารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น
นิพนธ์ พัวพงศกร

แต่ทั้งนี้ Digital Technology ยังมีผลกระทบเชิงบวกที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์(creative destruction) ขึ้นได้หากผู้บริโภคมีการปรับตัวได้ทัน ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น เช่น การลดต้นทุนในการสต็อกสินค้าเนื่องจากสามารถวิเคราะห์ระยะเวลารอบของการจัดส่งได้แม่นยำยิ่งขึ้น ในด้านเกษตรก็สามารถลดต้นทุนการใส่ปุ๋ยหรือการควบคุมวัชพืชให้น้อยลงได้  ในด้านแรงงาน บางกิจกรรมสามารถลดต้นทุนค่าแรงลงได้ โดยการนำ Digital Technology เข้ามาปรับใช้แทน

แนะสร้างคนรุ่นใหม่

สำหรับประเทศไทยความท้าทายในการปรับเปลี่ยนสู่ยุค Digital Technology มีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็น ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านระบบการศึกษาไทยที่หลักสูตรส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ไม่มีการปรับตัว อีกทั้งหน่วยราชการไทยยังไม่เข้าใจเรื่อง Digital Technology เท่าที่ควร

ดังนั้นประเด็นสำคัญ คือการสร้างคน และจะต้องเชื่อมคนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจในเทคโนโลยี เข้ากับคนรุ่นก่อนให้เดินไปด้วยกันให้ได้ ฉะนั้น การปรับตัวจึงมีความจำเป็นกับทุกฝ่าย

ในระยะสั้น นักธุรกิจต้องเริ่มเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลจากการอ่านและศึกษาจากคนรุ่นใหม่ มีการฝึกอบรมผู้ประกอบการให้เข้าใจวิธีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล บทบาทของมหาวิทยาลัยอาจจะเพิ่มการพัฒนาหลักสูตร รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นต้น

 เรียนรู้-เพิ่มทักษะดิจิทัล

ทั้งนี้ “ทีดีอาร์ไอ” มีข้อเสนอต่อประเทศไทยที่ต้องมีการปรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ 1.ปรับโมเดลการพัฒนาประเทศเพื่อให้เติบโตได้ในความปั่นป่วน  2.ปรับการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะใหม่ 3.ปรับระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรับโลกใหม่ที่ผันผวน 4.ปรับทัศนคติของภาครัฐเพื่อความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต

สำหรับ “เอสเอ็มอี” ไทย สิ่งสำคัญของการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมกับยุคดิจิทัล คือ 1. จะต้องมีวัฒนธรรมของการเรียนรู้อยู่เสมอ เปิดโอกาสเพื่อนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันมากยิ่งขึ้น และ 2. คือการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ แต่เป็นการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาขนาดเล็กที่จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาในอนาคตต่อไป

เก็บดาต้า-มุ่งการตลาดดิจิทัล

ชาคริต  จันทร์รุ่งสกุล  ผู้ก่อตั้ง FireOneOne กล่าวว่าการนำดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับการทำธุรกิจสามารถทำได้ในหลายลักษณะด้วยกัน เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อใช้ในการขายสินค้าและบริการ โดยที่ทุกข้อมูลของการให้บริการจะมีการจัดเก็บข้อมูลเข้าระบบเพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนสำหรับการพัฒนาต่อไป หรือการจัดเก็บข้อมูลการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้า เพื่อให้การบริการในครั้งต่อไปตรงตามความต้องการของลูกค้ารวมถึงลดต้นทุนในการสต็อกสินค้า

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น
ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล

รวมถึงการปรับตัวในการทำธุรกิจด้านการขายด้วยการทำตลาดดิจิทัล เช่น การขายสินค้าผ่านการสั่งซื้อทางออนไลน์  การใช้เครื่องมือสื่อโซเชียล Live Facebook เพื่อเพิ่มยอดขายสินค้า โดยการทำตลาดด้วยวิธีนี้ ไม่ได้สำคัญที่มีคนเห็นมากแค่ไหน แต่อาจจะตรงกลุ่มเป้าหมายที่มีคนสั่งออเดอร์เป็นจำนวนมากต่อครั้ง ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพ เป็นต้น

การปรับองค์กรด้วย Digital  Transformation จะต้องคำนึงถึง 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่

  1. Vision :สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ขององค์กร โดยการวางแผนไป 3-5 ปี ในอนาคต ถึงแนวทางการดำเนินงานอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ
  2. People : หลังจากที่องค์กรมีการปรับวิสัยทัศน์แล้ว สิ่งที่ยากที่สุดคือการนำวิสัยทัศน์มาปรับกับบุคลากรภายในองค์กร โดยจะทำอย่างไรให้บุคลากรพร้อมใจที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดผลที่ดีกว่า
  3. Tools :สิ่งสุดท้ายที่จะต้องคำนึงคือเครื่องมือ การสร้างเครื่องมือและเลือกใช้เครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และแปรผลข้อมูล เพื่อนำผลที่ได้มาพัฒนา และวางวิสัยทัศน์ใหม่ต่อไป

ดังนั้นการจะ Transformation จะต้องมีความเข้าใจก่อนว่าจะนำมาปรับใช้เพื่ออะไร แล้วจึงเริ่มต้นการพัฒนาและการลงทุนด้วยการสร้างเครื่องมือ หากเริ่มจากการสร้างเครื่องมือก่อน แต่หากองค์กรและบุคลากรไม่พร้อม จะทำให้เป็นการลงทุนที่เสียประโยชน์

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight