Business

‘ทีวีไดเร็ค’เกาะเมกะเทรนด์โหมออนไลน์

ตลาด“ทีวีช้อปปิ้ง”ในประเทศไทย มูลค่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศรุกขยายธุรกิจนี้ ผ่านช่องทางทีวีดาวเทียม,ทีวีดิจิทัล มาถึงแพลตฟอร์มออนไลน์

ปัจจุบันมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด เช่น ทีวีไดเร็ค ,ทรูช้อปปิ้ง,ไฮ ช็อปปิ้ง,1577 โฮมช็อปปิ้ง,โอ ช้อปปิ้ง, ช้อป ชาแนล  ในปี 2558 ตลาดมีมูลค่า 8,000 ล้านบาท ปี 2559 อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ปี 2560 อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท คาดการณ์ว่าปี 2565 มูลค่าจะขยับไปที่ 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดนี้ อย่าง “ทีวีไดเร็ค” มีการรุกทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ สะท้อนจากตัวเลขรายงานการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อของ นีลเส็น ประเทศไทย พบว่า “ทีวีไดเร็ค” เป็นผู้ใช้งบโฆษณาอันดับ 1 มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ถึงปัจจุบัน โดยเดือนเมษายน 2561 มูลค่าอยู่ที่ 191 ล้านบาท เป็นการครองอันดับ1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

ทีวีไดเร็ค
วิเชียร มานะพงศ์พันธ์ -พงษ์ชัย ชัญมาตรกิจ

ชูบริหารหลังการขายดึงกลุ่มซื้อซ้ำ

พงษ์ชัย ชัญมาตรกิจ หัวหน้าสายงานขายผ่านสื่อการตลาดแบบตรง บริษัททีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ากลยุทธ์การทำตลาดไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทีวีไดเร็ค ใช้พื้นที่สปอตโฆษณาในสถานีทีวีดิจิทัลมากขึ้น เพื่อช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ ทีวีไดเร็ค  ในวงกว้าง ส่งผลต่อดีผลประกอบการและถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผล

กลยุทธ์ไตรมาส 2 ที่จะดำเนินการต่อเนื่องจากไตรมาสแรก คือ โฟกัสสินค้าที่มีกำไรสูงและต้นทุนต่ำ โดยใช้สื่อทีวีดิจิทัลและออนไลน์ในการนำเสนอและการรับรู้สินค้าและแบรนด์

พร้อมกันนี้จะใช้ Data Base  มาทำ After Marketing  เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำ หรือทำให้บริการหลังการขายดีขึ้น ด้วยการติดตามและสอบถามการใช้งานลูกค้าเดิม สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า เพิ่มการแนะนำสินค้าควบคู่กับการเพิ่มยอดขาย จากการใช้เครื่องมือการตลาดทั้งแคตตาล็อก,คอลเซ็นเตอร์ ที่มีกว่า 400-500 คน รวมทั้งสื่อออฟไลน์และออนไลน์

ทีวีไดเร็ค

นอกจากนี้จะเน้นการควบคุมต้นทุนสินค้าให้ดีเพื่อสร้างมาร์จิ้นให้สูง เพราะหาก กำไรต่ำ การทำธุรกิจจะเหนื่อยมาก โดยเฉพาะการแข่งขันธุรกิจอีคอมเมิร์ซปัจจุบัน มุ่งแข่งขันด้วยสงครามราคา ทำให้กำไรต่ำ มองว่าการทำธุรกิจแบบนี้อยู่ยาก และทีวีไดเร็คจะไม่ลงแข่งในสนามนี้  แต่จะดำเนินธุรกิจตามที่ถนัด เพราะมีแหล่งนำเข้าและผลิตสินค้ามาจากทั่วโลก รวมทั้งมีช่องทางการทำตลาดที่ครบถ้วน

แจงตัวเลขแชมป์ใช้งบโฆษณาสูงสุด

พงษ์ชัย กล่าวว่อีกกลยุทธ์สำคัญไตรมาส 2 คือ การควบคุม Media Spending  จากการรายงานการใช้งบโฆษณาของ “นีลเส็น” ที่ระบุว่า ทีวีไดเร็ค เป็นผู้ใช้งบโฆษณาสูงสุด ด้วยเม็ดเงินที่ค่อนข้างสูงมากนั้น  ยืนยันว่ามีการใช้ประสิทธิภาพของมีเดีย ให้เป็นไปตามโครงสร้างที่บริษัทกำหนดไว้

การรายงานงบโฆษณาของนีลเส็น เก็บตัวเลขค่าใช้จ่ายโฆษณาจาก Rate Card (ราคาโฆษณาเสนอขาย) แต่รูปแบบการซื้อสื่อโฆษณาหากมีปริมาณจำนวนมาก จะได้ส่วนลดมากกว่ารายย่อย  ทำให้ ทีวีไดเร็คติดอันดับผู้ใช้งบโฆษณาสูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2560 ถึงปัจจุบัน

“เมื่อทีวีไดเร็ค มีการใช้สื่อทีวีจำนวนมาก ผลตอบแทนทางตรงที่กลับมา คือ ยอดขาย  แต่ผลพลอยได้ คือการสร้างการรับรู้แบรนด์ไปพร้อมกัน”

อย่างไรก็ตามการดำเนินธุรกิจในไตรมาส2  จะใช้เครื่องมือสื่อสารและสร้างยอดขาย ด้วยรูปแบบ “ออมนิ แชนแนล” การผสานการใช้สื่อทุกช่องทาง ทั้งสื่อทีวี สร้างการรับรู้  ผ่านสปอตโฆษณาต่างๆ  เครื่องมือ แคตตาล็อก ออนไลน์ เว็บไซต์  โมบาย แอพ รวมทั้ง รีเทล หน้าร้าน  โดยจะใช้สื่อทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น เพราะบริการ “ออมนิ แชนแนล” สามารถเข้าถึงลูกค้าด้วยบริการหลากหลาย จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในปีนี้

มุ่งเมกะเทรนด์“ออนไลน์”

หลังจากสร้างการรับรู้ผ่านสื่อทีวีแล้ว  พงษ์ชัย กล่าวว่าคงหนีไม่พ้น “เมกะ เทรนด์” เรื่องออนไลน์   ไตรมาส2 วางเป้าหมายกระตุ้นแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น   วันนี้ การทำตลาดเป็นรูปแบบผสมผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ต้องไปคู่กัน

ปัจจุบันเว็บไซต์ ทีวีไดเร็ค จะถูกโปรโมทไปทุกช่องทางออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องการซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ คิวอาร์โค้ด ที่สร้างความสะดวกตามไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคนี้  เพราะการช้อปผ่านร้านค้า มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ เพราะบางสาขามีพื้นที่ 150 ตร.ม. ขณะที่สินค้าทีวีไดเร็ค มีจำนวนกว่า 4,000 รายการ  ,สินค้าที่นำเสนอผ่านทีวี อยู่ที่ 60-100 รายการ  ,ส่วนในร้านค้ามีสินค้าประมาณ 400 รายการ  และบางครั้งไม่มีสต็อกสินค้า

ทีวีไดเร็ค

ดังนั้นจึงใช้ช่องทางออนไลน์มาเป็นทางเลือกซื้อสินค้า ที่สามารถสั่งซื้อที่ใดก็ได้ รวมทั้งการสั่งซื้อที่หน้าจอออนไลน์ที่ร้านค้า โดยในช่องทางออนไลน์จะมี อินเซนทีฟให้กับลูกค้าด้วย

“พฤติกรรมลูกค้ามีความหลากหลาย  บางคนยังชอบดูทีวี จากนั้นโทรสั่งสินค้า ที่ยังเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ ขณะที่ลูกค้าในห้างสรรพสินค้ายังเป็นกลุ่มกำลังซื้อที่มีนัยสำคัญ”

ขณะที่ช่องทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์และแอพ สามารถให้ข้อเสนอพิศษและช้อปปิ้งได้ 24 ชั่วโมง  สำหรับแผนการสร้างการเติบโตผ่านเว็บไซต์  จะมีการจับมือกับสื่อโซเชียลต่างๆ  เพื่อนำเสนอสปอตโฆษณา ดาวห์โหลดแอพ “ทีวีไดเร็ค”  ที่เป็นช่องทางขายออนไลน์  ผ่านสื่อต่างๆ  พร้อมให้อินเซนทีฟส่วนลดผ่านช่องทางนี้ รวมทั้งร่วมมือกับมาร์เก็ตเพลส ทุกรายในตลาด

“ทีวีดิจิทัล”เข้าถึงทั่วประเทศ

พงษ์ชัย กล่าวว่าสำหรับความร่วมมือกับช่องสปริงนิวส์ ในรูปแบบร่วมผลิตรายการ มองว่าเป็นอีกกลยุทธ์ที่เข้าถึงผู้บริโภค เพราะ “ทีวีดิจิทัล” เป็นสื่อที่ครอบคลุมผู้ชมทั่วประเทศ  ขณะที่ช่องทีวีดาวเทียม จะต้องดูผ่านกล่อง และตำแหน่งของช่องขึ้นอยู่กับกล่องต่างๆ ทำให้ทำการตลาดยาก

ขณะที่ทีวีดิจิทัล กำหนดเลขช่องเดียวเหมือนกันทุกกล่องและทุกแพลตฟอร์ม  จึงมองโอกาสช่องทีวีดิจิทัล ที่สามารถเสนอสินค้าเข้าถึงทุกกลุ่ม  โดยผู้ชมทีวี เป็นกลุ่มใหญ่และมีความหลากหลาย  ทำให้นำเสนอสินค้าได้หลากหลาย  ดังนั้นการร่วมผลิตของช่องทีวีดิจิทัลจึงถือเป็นโอกาสที่ดี  และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของทีวีไดเร็คในปีนี้

ทีวีดีโมโม่มุ่งช่องทางแอพ

ยุวบูรณ์ ขำวังยาง หัวหน้าสายงานสนับสนุนธุรกิจ บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าช่วงครึ่งปีหลังธุรกิจในเครือทีวีไดเร็ค คือ ทีวีดี โมโม่ เตรียมเปิดตัวแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งพัฒนาโดยทีมออนไลน์ไต้หวัน ที่มีประสบการณ์พัฒนาธุรกิจจาก ทีวีช้อปปิ้ง  ก้าวไปสู่ออนไลน์ ด้วยรูปแบบ “ออนไลน์ แอพพลิเคชั่น” อันดับหนึ่งของไต้หวัน เพื่อขยายช่องทางการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น  ซึ่งเป็นนโยบายที่ต่อเนื่องจากบริษัทแม่ และตลาดทีวีช้อปปิ้งในไทยมีโอกาสเติบโตสูงผ่านช่องทางแอพ

อย่างไรก็ตามทีวีดีโมโม่ ทำธุรกิจ 2 ปี ปัจจุบันมีฐานข้อมูลที่แข็งแรง  ดังนั้นจะนำฐานข้อมูลมาวิเคราะห์ลูกค้าในกลุ่มทีวีช้อปปิ้ง เพื่อกระตุ้นการซื้อ ด้วยการทำ “เทเลเซล เอาท์บาวน์” มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ทีวีช้อปปิ้ง

ปัจจุบันช่องทีวีช้อปปิ้ง มีจำนวนมาก ดังนั้นการแข่งขันต้องสร้างวาไรตี้สินค้า และสินค้าต้องได้กำไรที่เหมาะสม  โดยจะพัฒนาเมอร์เชนไดซ์ ให้มากขึ้น”

รายได้ไตรมาสแรกโต 6%

วิเชียร มานะพงศ์พันธ์ หัวหน้าสายงานการเงินและบัญชี บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัจจุบัน ทีวีไดเร็ค มีบริษัทในเครือ 7 บริษัท  โดยอีกบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง คือ บริษัท ทีวีดี โฮมช้อปปิ้ง จำกัด ซึ่งทีวีไดเร็ค ถือหุ้น 65% ร่วมกับ โมโม่ อิงค์ ไต้หวัน  35%  ซึ่งเป็นอันดับ1 ธุรกิจโฮม ช้อปปิ้ง ในไต้หวัน

การดำเนินธุรกิจของ ทีวีไดเร็ค บริหารรูปแบบ “ออมนิ แชนแนล” การเชื่อมโยงการจำหน่ายสินค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์  ประกอบด้วย

  •  ทีวีไดเร็ค มาร์เก็ตติ้ง แชนแนล  การขายสินค้าแบบตรง  คอลเซ็นเตอร์
  • ทีวีช้อปปิ้ง แชนแนล  การขายสินค้าทางทีวี
  • รีเทล เอาท์เล็ต และ ดิสทริบิวชั่น  โชว์เคสต่างๆ ในศูนย์การค้าพื้นที่ค้าปลีก  เป็นธุรกิจที่เติมเต็มการขายสินค้าขององค์กร 
  • ออนไลน์ แพลตฟอร์ม การจำหน่ายผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

ทีวีไดเร็ค

“จุดแข็งของทีวีไดเร็ค คือ เป็นการจำหน่ายสินค้าที่พัฒนาขึ้นมาเอง มีการพัฒนาเป็นแบรนด์เอง ทำให้ได้มาร์จิ้นสูง และให้ความสำคัญกับสินค้าผ่านแพลตฟอร์มทีวี สัดส่วน 70%”

สำหรับผลประกอบการไตรมาสแรก 2561 ทีวีไดเร็คมีรายได้  819 ล้านบาท  เติบโตเทียบไตมาส 4 ปีก่อน 1.18%  และหากเทียบไตรมาส 1 ปีก่อน เติบโต 6.37%  ที่มีรายได้ 842 ล้านบาท  พบว่ารายได้เฉลี่ยช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเติบโต 9.46%

โฮมช้อปปิ้งยึดจอ! ทีวีไดเร็คแชมป์โฆษณา

Avatar photo