Business

วัดชีพจรธุรกิจ หลัง ‘ไทยเบฟ’ กว้านซื้อ รุ่ง หรือ ร่วง!!

ข่าวใหญ่รอบสัปดาห์ในแวดวงธุรกิจ ต้องยกให้กับข่าวยักษ์ใหญ่ เครือไทยเบฟเวอเรจ ที่เข้าซื้อกิจการเชนร้านกาแฟสตาร์บัคส์ เพื่อดูแลสิทธิ์และบริหารธุรกิจสตาร์บัคส์ในไทย ด้วยดีลระดับกว่าหมื่นล้านบาท

ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับไทยเบฟ ที่มีเงินถุงเงินถัง ในการจะเข้าซื้อกิจการที่มองว่า มีอนาคตและสามารถเข้ามาช่วยต่อยอดความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับเครือได้ เห็นได้จากที่การที่กลุ่มไทยเบฟกว้านซื้อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นว่าเล่น ทั้งในไทยเองและต่างประเทศ ที่ไม่เฉพาะในเอเชีย แต่เอื้อมมือไปถึงฝั่งยุโรป ไทยเบฟก็ทำมาแล้ว

ฐาปน
ฐาปน สิริวัฒนภักดี

ภายใต้เป้าหมายสูงสุดคือ ถางทางให้ไทยเบฟปักธงสู่บริษัทระดับโลก หรือ โกลบอลแบรนด์ ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยจะใช้เครื่องดื่มนำร่องแล้วตามด้วยธุรกิจอาหาร นั่นเพราะวัฒนธรรมที่แตกต่างในแต่ละประเทศ ทำให้ธุรกิจอาหารไปได้ช้ากว่าเครื่องดื่ม แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาของไทยเบฟ เมื่อใช้วิธีเรียนลัดด้วยการซื้อธุรกิจแทนการเริ่มต้นนับหนึ่ง เห็นได้จากการไล่ซื้อกิจการร้านอาหารในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะดีลใหญ่อย่างเคเอฟซี กว่า 252 สาขาในไทย ซึ่งเป็นมูลค่าระดับหมื่นล้านบาทเช่นกัน

ต่อด้วยดีลใหญ่ล่าสุดอย่าง สตาร์บัคส์ ที่พิสูจน์ได้เป็นอย่างดี ถึงการขยับสู่การเป็นโกลบอลคอมพานี ด้วยการเลือกซื้อแบรนด์ระดับโกลบอลแบรนด์ ที่คนทั่วโลกรู้จักอยู่แล้ว และแน่นอนว่า ย่อมทำให้คนทั่วโลกรู้จักไทยเบฟด้วยเช่นกันในฐานะผู้ครอบครอง

48386947 10156896222212766 4707068587712446464 o e1558614276641
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ Starbucks Thailand

การซื้อกิจการจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยาก กลับอยู่ที่การซื้อมาแล้ว รักษาไว้ให้คงอยู่ และเติบใหญ่กว่าเดิมในประเด็นนี้ ไทยเบฟ ต้องใช้ขุมกำลังที่มีอยู่ในทุกด้าน ผนวกกับการเชื่อมถ่าย ส่งต่อจากทีมงานเดิมอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งยังต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

แต่หากดูจากการซื้อกิจการที่ผ่านมา ไทยเบฟยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ประจักษ์ชัดว่า สามารถทำให้ธุรกิจที่เข้ามาอยู่ใต้ปีกเติบใหญ่ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในทางกลับกัน ธุรกิจในมือไทยเบฟ ที่ซื้อกิจการมากลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะเคสของโออิชิ และเสริมสุข

สะท้อนได้จากผลประกอบการของทั้งสองบริษัท พบว่าไม่มีการเติบโตที่เด่นชัดหลังจากเข้ามาอยู่ในเครือไทยเบฟ โดยบริษัทโออิชิ นับแต่ปี 2558-2561 พบว่ามีรายได้ 12,963 ล้านบาท, 13,775 ล้านบาท ,13,677 ล้านบาท และ 13,580 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่ผลกำไร ตั้งแต่ปี 2558-2561 อยู่ที่ 712 ล้านบาท, 1,066 ล้านบาท, 1,451 ล้านบาท และ 1,051 ล้านบาท ตามลำดับ

แต่หากแยกเฉพาะเครื่องดื่ม โออิชิมี รายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวในปี 2561 อยู่ที่ 5,986 ล้านบาท ลดลง 15.1% จากปีก่อนหน้า ที่มีรายได้ 7,054 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิของกลุ่มเครื่องดื่มอยู่ที่ 772 ล้านบาท ลดลง 37.4% จากปีก่อนที่มีกำไร 1,233 ล้านบาท

ขณะที่เสริมสุข ผลประกอบการตั้งแต่ปี 2558-2561 ยังอยู่ในภาวะขาดทุน โดยปี 2558 ขาดทุน 304 ล้านบาท ปี 2559 ขาดทุน 165 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุนเพิ่มเป็น 230 ล้านบาทและปี 2561 ขาดทุนเพิ่มเป็น 277 ล้านบาท ส่วนรายได้นับจากปี 2558-2561 อยู่ที่ 11,322 ล้านบาท, 11,267 ล้านบาท, 11,022 ล้านบาท และ 11,286 ล้านบาทในปี 2561

ผลประกอบการดังกล่าว สะท้อนชัดเจนว่า การเข้ามาอยู่ใต้ร่มเงาไทยเบฟ ไม่ได้ช่วยให้ผลการดำเนินงานของทั้งสองบริษัท เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่า การเข้ามาอยู่กับไทยเบฟ ทำให้แย่ลง เพราะในการทำธุรกิจย่อมมีปัจจัยและสภาพแวดล้อมหลายอย่างเป็นส่วนประกอบ ซึ่งแต่ละธุรกิจก็มีสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่แตกต่างกันไป ทั้งในแง่ของผู้บริโภค สภาพการแข่งขัน คู่แข่งฯลฯ

ทั้งนี้หากพิจารณาจากโออิชิ ในแง่รายได้ที่เรียกได้ว่าประคองตัว เพราะมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง การเติบโตของยอดขายรวมในปี 2561 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามาจากกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่ยังเติบโต เพราะในแง่รายได้ของกลุ่มเครื่องดื่มลดลง เหตุผลหลักมาจากความนิยมบริโภคชาเขียวบรรจุขวดเริ่มเสื่อมคลายลง และต้องบอกว่าการเติบโตหวือหวาในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการปั่นตลาดด้วยโปรโมชั่นของคู่แข่งอย่าง อิชิตัน ที่แจกทั้ง เบนซ์ ทองคำ คอนโดมิเนียม ทริปเที่ยวญี่ปุ่น ทำให้ โออิชิต้องเล่นเกมตาม

ปัจจุบันโปรโมชั่นเริ่มไม่ได้ผลอีกต่อไป ทำให้ตลาดชาเขียวเริ่มกลับเข้าสู่สภาพตลาดที่เป็นจริง ไม่ใช่เติบโตเพราะโปรโมชั่นอีกต่อไปเป็นผลให้ตลาดรวมชาเชียวพร้อมดื่มมูลค่า 13,000 ล้านอยู่ในสถานะทรงตัว

เมื่อหันมามองทางเสริมสุข ยิ่งเห็นชัดเจนว่า ผลประกอบการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2560 จนมาถึงปี 2561 ที่รายได้เริ่มฟื้นเพิ่มจาก 11,022 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 11,286 ล้านบาทในปี 2561 แต่ผลกำไรยังขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้ต้องยอมรับว่า การปั้นแบรนด์เอส เข้ามาชิงตลาดน้ำดำที่มีแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างโค้กและเป๊ปซี่ เป็นเรื่อง“หิน” สำหรับเสริมสุข แม้จะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเป๊ปซี่มาก่อนก็ตาม เหตุผลหลักคือ “รสชาติ” ที่เทียบเคียงได้ยากกับแบรนด์เดิม เพราะความลับสุดยอดของน้ำดำคือ สูตรของหัวเชื้อที่ยากจะลอกเลียนแบบได้ และทำให้เป๊ปซี่ยังขายดิบขายดีเป็นอันดับ 2 ในตลาดตอนนี้แม้จะไม่มีเสริมสุขและขวดแก้วก็ตาม

เสริมสุข

อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าคิด และเป็นอีกเหตุผลหลักที่ทำให้ธุรกิจที่ไทยเบฟซื้อมาไม่หวือหวาเท่าที่ควรคือ สไตล์การบริหารงานที่แตกต่างกันระหว่างองค์กรเดิมกับกลุ่มไทยเบฟ โดยเฉพาะความมุ่งมั่นของ  ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการปลุกปั้นธุรกิจที่ซื้อมา

ดังนั้น แม้ว่าในทุกธุรกิจจะมีมือบริหารดูแลอยู่แล้ว แต่ ฐาปน ยังต้องเป็นผู้ตัดสินใจในเกือบทุกเรื่อง จุดนี้เองที่ทำให้การตัดสินใจรวบยอดอยู่ที่คนเดียว มีผลให้การทำงานค่อนข้างล่าช้า จากการที่ไทยเบฟมีธุรกิจในมือจำนวนมากและหลากหลาย รวมไปถึงการทำงานร่วมกันระหว่างทีมเก่าและทีมใหม่ ที่ต้องใช้เวลาในการสอดประสานเข้าหากัน

ในขณะเดียวกัน แม้ว่าการเข้าซื้อกิจการของไทยเบฟมีเป้าหมายเพื่อเรียนรู้โนวฮาว เพื่อต่อยอดธุรกิจในเครือ แต่แน่นอนว่า การเรียนรู้โนวฮาวที่จะทำให้เหมือนต้นแบบหรือเจ้าของโนวฮาวไม่ใช่เรื่องง่าย เห็นได้จากกรณีที่ไทยเบฟร่วมทุนกับคาร์ลสเบอร์ก เปิดโรงงานผลิตเบียร์เพื่อเข้าสู่ธุรกิจเบียร์ช้าง หรือกรณีซื้อกิจการเสริมสุขเพื่อหวังใช้สูตรที่เสริมสุขได้จากการผลิตเป๊ปซี่ ก็ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่าเจ้าของโนวฮาว และยิ่งหากต้องการลดต้นทุนด้วยแล้ว อาจส่งผลต่อมาตรฐานเดิมที่สินค้าเคยมีและกระทบกับแบรนด์ในที่สุด นี่เป็นสิ่งที่ไทยเบฟควรพึงระวังอย่างมาก

มาถึงการคว้าสิทธิ์บริหารสตาร์บัคส์ในไทย แน่นอนว่าในแง่ดีสำหรับไทยเบฟ เป็นการต่อยอดธุรกิจของกลุ่มเครื่องดื่ม ที่นอกจากจะได้ภาพของการเป็นผู้บริหารแบรนด์ระดับโลกแล้ว ยังเป็นการเพิ่มช่องทางธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ ที่มีเอฟแอนด์เอ็น เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบเครื่องดื่มที่สามารถนำมาจำหน่ายในร้านสตาร์บัคส์ได้ โดยเฉพาะการวางตำแหน่งของสินค้าที่เป็นพรีเมียมเหมือนกัน ที่เหลือคือ การดูผลตอบรับจากผู้บริโภค ในแง่ของรสชาติที่อาจเปลี่ยนไปจากเดิม

เคเอฟซี

ขณะเดียวกัน ในแง่ของการบริหารร้านยังเป็นสิ่งที่ไทยเบฟต้องเรียนรู้จากสตาร์บัคส์อีกมาก สิ่งที่ต้องระวังคือ หากพยายามยัดเยียดสินค้าในเครือเข้าไปจำหน่าย เช่น เบียร์ช้าง อาจส่งผลลบต่อแบรนด์สตาร์บัคส์ก็เป็นได้ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายต่างกันชัดเจน ยกเว้นบางสาขาของสตาร์บัคส์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเบียร์ช้าง เช่น แหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นต้น

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ เสริมสุขและโออิชิ  ถือว่าเป็นโลคอล คอมพานี หรือบริษัทคนไทยด้วยกัน ทำให้น่าคิดว่า แล้วการทำงานร่วมกับบริษัทระดับภูมิภาคและระดับโลก ไทยเบฟจะเดินเกมอย่างไรเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อและประสบความสำเร็จสู่เป้าหมายที่วางไว้ ทางเลือกที่น่าจะเหมาะสมเมื่อพิจารณากับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการซื้อกิจการที่ผ่านมา น่าจะเป็นการให้ทีมเดิมบริหารงานเป็นหลัก แล้วใช้ทรัพยากรที่มีเหลือเฟือของไทยเบฟเป็นกำลังสนับสนุน ซึ่งแน่นอนว่ากรณีของเคเอฟซีและสตาร์บัคส์จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี

Avatar photo