นอกจากในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแล้ว มีจังหวัดใดที่มีศักยภาพในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสูงมากบ้าง มาดูผลการสำรวจ 15 จังหวัดหลักที่เป็นความหวังสำคัญของประเทศ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) สำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2537 จนถึง 2567 รวม 31 ปี จังหวัดหลัก ๆ สำคัญที่ควรลงทุนมีอะไรบ้าง โดย ดร.โสภณ สำรวจไว้ทั้งหมด 40 จังหวัดทั่วประเทศ และได้คัด 15 จังหวัดหลักที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยมาเพื่อประโยชน์ในการลงทุน
อันดับหนึ่ง เมื่อไม่นับ 6 จังหวัดในเขต กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และบางส่วนของนครปฐม) ตามด้วย จังหวัดชลบุรี ที่ ณ ปี 2567 ยังมีหน่วยขายรอผู้มาซื้ออยู่ 45,470 หน่วย หรือเหลืออยู่ 15% มีมูลค่ารวม 159,738 ล้านบาท หรือ 4,698 ล้านดอลลาร์ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.513 บาท หรือ 103,325 ดอลลาร์
การที่ชลบุรีเติบโตเป็นอันดับที่สองรองจากกรุงเทพมหานคร ก็เพราะเป็นจังหวัดหลักในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จังหวัดนี้มีการลงทุนมากเป็นพิเศษ
อันดับที่สอง ก็ยังอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกคือ จังหวัดระยอง ซึ่งยังมีหน่วยที่อยู่อาศัยรอขายอยู่ 23,092 หน่วย หรือ 25% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมด รวมมูลค่า 58,563 ล้านบาท หรือ 1,722 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.536 ล้านบาท หรือ 74,590 ดอลลาร์
ในจังหวัดนี้ มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเป็นอันมากเช่นเดียวกับชลบุรี ยิ่งกว่านั้นยังมีแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไล่มาจากชลบุรี เช่น บางแสน พัทยา สัตหีบ บ้านฉาง บ้านเพ แกลง กล่ำ เป็นต้น รวมทั้งยังมีรีสอร์ตตามพื้นที่เนินเขาต่างๆ อีกด้วย
อันดับที่สาม ก็คือ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ขณะนี้ยังมีหน่วยขายรอขายอยู่ 11,900 หน่วย ถือเป็นเพียง 14% ของหน่วยขายทั้งหมด (แสดงว่าขายได้เร็วพอสมควร) โดยมีมูลค่ารวมกัน 54,218 ล้านบาท หรือ 1,595 ล้านดอลลาร์ ราคาเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยในเชียงใหม่อยู่ที่ 4.556 ล้านบาท หรือ 134,004 ดอลลาร์ ต่อหน่วย ที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดอันดับสาม เพราะจังหวัดนี้เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว และเป็นเมืองหลวงของภาคเหนืออีกด้วย
อันดับที่สี่ คือ ภูเก็ต ซึ่งก็เป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก จังหวัดนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก มีนักท่องเที่ยวมากกว่าบาหลีของอินโดนีเซีย มีหน่วยที่อยู่อาศัยรอขายอยู่ 11,607 หน่วย คิดเป็น 15% ของอุปทานทั้งหมด รวมมูลค่าสูงถึง 142,796 ล้านบาท หรือ 4,200 ล้านดอลลาร์ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 12.303 ล้านบาท หรือ 361,840 ดอลลาร์
ที่อยู่อาศัยในภูเก็ตขายในราคาที่สูงกว่าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ขายในราคา 5.293 ล้านบาท หรือ 155,676 ดอลลาร์ มูลค่าสินค้ารอขายอยู่นี้ถือเป็นอันดับที่สองรองจากจังหวัดชลบุรีเท่านั้น
โดยรวมแล้วใน 15 อันดับแรกของจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดนั้น อยู่ในภาคเหนือเพียง 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงรายและพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด คือนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี ภาคกลาง 2 จังหวัดคือ อยุธยา และพื้นที่ชะอำ-หัวหิน ภาคใต้ 3 จังหวัดคือ ภูเก็ต หาดใหญ่และสุราษฎร์ธานี และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกมี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
จับตาการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
1. ที่อยู่อาศัยสำหรับคนทำงานหรือผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะลดลง เนื่องจากโรงงานญี่ปุ่นและเกาหลีคงทะยอยย้ายออก ส่วนโรงงานจีน อาจไม่ได้ใช้แรงงานมากนัก (อาจใช้หุ่นยนต์เป็นหลัก) ส่วนในภาคการท่องเที่ยวก็คงยังเติบโตเหมือนเดิม
2. ในทำนองเดียวกัน ที่อยู่อาศัยในเขตตัวเมืองจังหวัดภูเก็ตก็อาจไม่เติบโตมากนัก ที่เติบโตจริง ๆ คือที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติที่อยู่ตามริมหาดหรือตามไหล่เขามากกว่า โดยอาจเป็นพูลวิลลาและรีสอร์ตสำหรับการพักผ่อน ส่วนที่หาดใหญ่ก็น่าจะเติบโตอีกมากหากปัญหาความไม่สงบเบาบางลง และที่สุราษฎร์ธานี (สมุย) ก็มีโอกาสเติบโตสูงมากเช่นกัน
3. ภาคเหนือยังเติบโตต่อเนื่อง แต่เนื่องจากปัญหาเรื่องฝุ่นควัน ก็อาจทำให้การเติบโตช้ากว่าปกติ
4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือการเติบโตค่อนข้างช้า ยกเว้นจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็น เมืองหลวง ของภาคนี้ที่ยังเติบโตมากกว่าจังหวัดอื่นมาก
5. เมืองชายแดน เช่น แม่สาย แม่สอด หนองคาย มุกดาหาร สระแก้ว ก็ยังเติบโตไม่มาก โครงการพัฒนาเมืองชายแดนยังไม่มีผลมากนัก การลงทุนก็น้อย
โอกาสที่เมืองท่องเที่ยวโดยเฉพาะภูเก็ต สมุย พัทยา ชะอำ-หัวหิน จะมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเติบโตมากกว่าจังหวัดภูมิภาคอื่น ๆ เพราะอานิสงส์จากการท่องเที่ยวนั่นเอง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ปลดล็อคเกณฑ์ LTV ตัวช่วยพยุงตลาดอสังหาฯ ไทย ระบายสต็อก 2.34 แสนยูนิต
- หวั่นปีนี้ ตลาดอสังหาฯ ทรุดกว่าที่คิด เปิดโครงการใหม่ ม.ค.แค่ 11 โครงการ
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จับตามาตรการ LTV กระตุ้นตลาดอสังหาฯ ฟื้นสินเชื่อบ้าน
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg