ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย โพสต์ฺข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

เตรียมเปิดใจรับดอกเบี้ยขาลงสู่ระดับช่วงวิกฤติ
เมื่อเศรษฐกิจมีความผันผวนมากทั้งจากปัจจัยภายนอกด้านสงครามการค้ากระทบการส่งออกและปัจจัยภายในด้านเสถียรภาพรัฐบาลและกำลังซื้อระดับฐานรากที่อ่อนแอกระทบการลงทุนและการบริโภค นักเศรษฐศาสตร์ต่างลงความเห็นลดเป้าตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจลงอย่างต่อเนื่อง แม้ตัวเลข GDP ไตรมาสแรกยังไม่ออกมาเลย แต่หลายสำนักคาดว่าจะอยู่ที่ราวต่ำ 3% ซึ่งต่ำมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา
หากเป็นเช่นนี้ประกอบกับแนวโน้มปัจจัยเสี่ยงมีต่อเนื่อง ทั้งเงินบาทที่แข็งแทบที่สุดในภูมิภาค เราอาจเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไม่ช้า เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจโตได้สูงขึ้นเหนือ 3.5% ซึ่งพอจะเป็นค่าเฉลี่ยหรือตัวเลขศักยภาพการเติบโตที่นักเศรษฐศาสตร์และภาครัฐอาจหวัง
ทีนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีอะไรบ้าง พูดง่ายๆ คือมีสองด้าน คือด้านการคลัง และด้านการเงิน
1. ด้านการคลังคือการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นเงินโอนด้านสวัสดิการมีต่อเนื่อง แต่การลงทุนภาครัฐอาจล่าช้าบ้าง
อีกส่วนของนโยบายการคลังคือการลดภาษี ซึ่งอาจมีทั้งภาษีนิติบุคคลเพื่อให้บริษัทมีกำไรมาลงทุนมากขึ้น (วันนี้นับมาต่ำพอตัวแล้วในภูมิภาค) หรือภาษีบุคคลธรรมดา (ซึ่งมีคนเพียง 3-4 ล้านคนที่จ่าย และภาษีขั้นแบบบันไดค่อนข้างสูง) รวมทั้งภาษีทางอ้อมหรือ VAT (เก็บที่ 7%)
ผมมองว่านโยบายการคลังค่อนข้างรัดกุมและเน้นเสถียรภาพระยะยาว คือ รัฐพยายามรักษาระดับหนี้ภาครัฐไม่ให้สูง ไม่ให้ขาดดุลงบประมาณมากนัก ซึ่งต้องรอดูครับว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีมุมมองเช่นไร
แต่เราอาจไม่เห็นมาตรการกระตุ้นแบบที่จีนทำหรือใส่เงินมากๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คงเป็นการประคองตัวและดูแลคนระดับล่าง เน้นการกระจายรายได้อย่างเหมาะสมมากกว่า ที่จริงผมก็ยังหวังการลดภาษีมากระตุ้นนะครับ แต่อยากให้ทำจริงจังมากกว่าการเพิ่มการลดหย่อนอย่างที่เห็น
2.นโยบายการเงินก็เน้นการลดดอกเบี้ย เสริมสภาพคล่อง หรือกำกับสถาบันการเงิน เมื่อผมมองว่าเราควรต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นโยบายการคลังคงจำกัด ไม่นำมาใช้มากนัก สุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นการใช้นโยบายการเงินกระตุ้น
กรณีการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้อาจฟังดูสวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ รวมทั้งผม มองไว้เมื่อปลายปีก่อน เพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้า เราต่างมองว่าแบงก์ชาติอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อเนื่องหลังขึ้นไปเดือนธันวาคม
ผ่านมาไม่กี่เดือน หลายสำนักเริ่มมองว่าน่าจะคงดอกเบี้ยทั้งปี หลังเฟดส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย มาถึงวันนี้ยังไม่เห็นใครมองดอกเบี้ยขาลงนะครับ แม้ผมยังมองว่าคงดอกเบี้ยทั้งปี แต่หากตัวเลขเศรษฐกิจแย่ต่อเนื่อง มาตรการการคลังยังไม่นำมาใช้ เราก็ควรเปิดใจเตรียมรับดอกเบี้ยขาลงไว้ด้วยนะครับ และหากลง ก็คงไม่ลงแค่ 0.25% แต่อาจเป็น 0.5% ไปสูระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดที่ทางธปท. เคยใช้ในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2008-2009
ที่บอกว่าให้เปิดใจไว้บ้าง เพราะธนาคารกลางในภูมิภาคนี้เริ่มขยับดอกเบี้ยลงแล้วหลังเศรษฐกิจไตรมาสแรกโตต่ำกว่าคาด หรือบางแห่งส่งสัญญาณเตรียมลงได้หากตัวเลขแย่ต่อเนื่องเช่นในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ส่วนไทยนั้น ทางธปท. มักบอกว่าเรามีอิสระในการดำเนินนโยบายคือไม่ต้องตามใคร แต่ก็รอลุ้นได้นะครับเผื่อประตูดอกเบี้ยขาลงถูกเปิดขึ้นมาจริงๆ
ผมถึงขอเตือนเรื่องนี้ไว้ครับ และไม่อยากให้กนง. ลดดอกเบี้ยแบบไม่ตั้งตัว เพราะจะกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจผ่านกลไกพฤติกรรมเก็งกำไรทั้งหลาย หวังว่าเราจะหาทางออกจากปัญหาสงครามการค้าได้โดยเร็วเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้นครับ
โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดต่อไปคงหนีไม่พ้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ…อดใจรอชมกันครับว่าผลกระทบจากตัวเลข GDP วันอังคารนี้จะมีต่อนโยบายการเงินแค่ไหนครับ