Branding

ศึกค้าปลีกน้ำมัน ‘OR vs PTG’ ใครคือผู้ชนะในปี 2568

ส่องศึกค้าปลีกน้ำมัน “OR vs PTG” ใครคือผู้ชนะใน ปี 2568 ใครมีจุดเด่น จุดด้อย แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

หากพูดถึงธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในประเทศไทย ต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันที่สูงในปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ แต่ก็มีผู้เล่นในตลาดนี้ไม่น้อย ทั้งกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศ รวมถึงผู้เล่น Global Brand จากต่างชาติ

อย่างไรก็ดี หากเจาะลึกไปที่ผู้เล่นในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เราจะพบกับ 2 บริษัท ที่มีโมเดลสร้างการเติบโตคล้าย ๆ กัน และเป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจมากทีเดียว นั่นคือ 1. OR หรือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ 2. PTG หรือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)

สำหรับ OR นั้นเติบโตมาจากการเป็นบริษัทในเครือของ ปตท. แยกตัวออกมาเพื่อดำเนินธุรกิจค้าปลีกน้ำมันภายใต้แบรนด์ PTT Station รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ เช่น ร้านกาแฟ Café Amazon และธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ  ถือเป็นผู้นำตลาดที่มีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุด พร้อมทั้งมีการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศด้วย

ค้าปลีกน้ำมัน

ขณะที่ PTG เป็นผู้ให้บริการสถานีบริการน้ำมันภายใต้แบรนด์ PT  เน้นการรุกขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเน้นในพื้นที่ต่างจังหวัด ก่อนที่รุกคืบเข้ามาในกรุงเพทฯ มากขึ้น นอกจากนี้ PTG ยังมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจ Non-Oil เช่น ร้านกาแฟพันธุ์ไทย และธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อลดการพึ่งพาธุรกิจน้ำมัน

วันนี้เราจึงอยากจะพานักลงทุนมาเปรียบเทียบกับอีกสักยกว่าระหว่างหุ้น OR กับ PTG ใครน่าสนใจกว่ากัน มีจุดเด่น จุดด้อย แตกต่างกันอย่างไรบ้าง สรุปมาจากมุมมองการลงทุนของบทวิเคราะห์ บล. กสิกรไทย ณ วันที่ 20 มีนาคม 2568

OR พายุได้ผ่านพ้นไปแล้ว พร้อมเดินหน้าขยายตลาด

OR รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2567 ที่ระดับ 3,000 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1,456% YoY และเพิ่มขึ้น 286% QoQ สอดคล้องกับประมาณการของนักวิเคราะห์ แต่สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดอยู่ 9%

กลยุทธ์ในปี 2568 บริษัทจะมุ่งฟื้นส่วนแบ่งการตลาด ขยายสาขาต่อเนื่อง และควบคุมค่าใช้จ่าย โดยแนวโน้มปีนี้คาดว่าจะมีกำไรดีขึ้นจากอัตรากำไรน้ำมันที่สูงขึ้น และต้นทุนที่ลดลง จึงถือว่า OR เริ่มฟื้นตัวหลังจากช่วงที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนน้ำมันที่ผันผวน โดยการขยายสถานีบริการและการพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ อย่างไรก็ตาม OR ยังต้องเผชิญการแข่งขันสูง และต้องจับตาดูว่าการบริหารต้นทุนจะมีประสิทธิภาพหรือไม่

ค้าปลีกน้ำมัน

แนะนำ “ซื้อ” หุ้น OR ราคาเป้าหมาย 14.30 บาทต่อหุ้น เนื่องจากมีความพยายามที่จะฟื้นส่วนแบ่งตลาดในปี 2568

PTG มุ่งเน้นธุรกิจ Non-Oil ลดการพึ่งพาน้ำมัน

PTG รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2567 ที่ระดับ 228 ล้านบาท ลดลง 57.4% YoY แต่เพิ่มขึ้น 226% QoQ ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ แต่น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ประมาณ 8%

กลยุทธ์ปี 2568 บริษัทจะร่งขยายธุรกิจ Non-Oil เช่น ร้านกาแฟพันธุ์ไทย และธุรกิจโลจิสติกส์ คาดกำไรเพิ่มขึ้น 21% จากต้นทุนที่ลดลง และการเติบโตของธุรกิจ Non-Oil ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยเพิ่มมูลค่าในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอาจเป็นความท้าทาย และต้องติดตามว่า PTG จะสามารถสร้างการเติบโตที่มั่นคงได้หรือไม่

แนะนำ “ซื้อ” หุ้น PTG ราคาเป้าหมาย 8.50 บาทต่อหุ้น จากอัตรากำไรที่คาดว่าจะสูงขึ้นจะช่วยหนุนกำไรปี 2568 ปรับขึ้น 21% และราคาหุ้นขณะนี้เท่ากับ PEG ที่ 0.5 เท่า

สรุปแล้วหากพิจารณาจากผลประกอบการ OR ดูมีเสถียรภาพมากกว่า และกำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่า ในขณะที่ PTG มีศักยภาพในการเติบโตจากธุรกิจ Non-Oil ซึ่งอาจให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แต่ยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ผลลัพธ์

ค้าปลีกน้ำมัน

ดังนั้น หากมองหาหุ้นที่ฟื้นตัวเร็ว และมีการขยายตัวต่อเนื่อง OR เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่หากมองหาหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตจากธุรกิจใหม่ PTG อาจมีโอกาสสร้างมูลค่าในระยะยาว ซึ่งการเลือกลงทุนขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของนักลงทุนเองว่าให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของกำไรในระยะสั้น หรือการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว

โดย PTG ทำธุรกิจประกอบด้วย 8 กลุ่มธุรกิจ 

1. กลุ่มธุรกิจจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง (ซึ่งเป็นธุรกิจหลักและธุรกิจเริ่มแรกของบริษัท) และธุรกิจค้าปลีก

2. กลุ่มธุรกิจจำหน่ายก๊าซ LPG

3. กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนและการลงทุน

4.กลุ่มธุรกิจขนส่ง

5. กลุ่มธุรกิจบริหารและจัดการระบบ

6.กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

7.กลุ่มธุรกิจศูนย์บริการและซ่อมบำรุงรถยนต์

8. กลุ่มธุรกิจบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน