Business

‘นฤมล’ นำทีมพบชาวสวนยาง บึงกาฬ ประกาศ Kick off ‘โครงการโฉนดต้นยาง’ 1 เม.ย.นี้

“รมว.นฤมล” นำกระทรวงเกษตรฯ พบชาวสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ เร่งแก้ปัญหาโรคใบร่วง พร้อมประกาศ Kick off  “โครงการโฉนดต้นยาง” 1 เม.ย.นี้ ตั้งเป้าแจกครบ 11.17 ล้านไร่ภายใน 1 ปี

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ เพื่อร่วมเปิดโครงการอบรมหลักสูตร การส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ เพื่อฟื้นฟูสวนยางพาราที่เป็นโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum saimense(ใบร่วงชนิดใหม่)

โดย ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬ มีรายได้กว่า 60% มาจากยางพารา ราคายางพาราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กองการยางก็จะทำงานอย่างเข้มแข็งต่อไป รวมถึงทีมพญานาคราช ก็จะออกปราบปรามยางเถื่อนต่อเนื่อง เราจะไม่ยอมให้ยางพาราจากประเทศอื่นมาเป็นปัจจัยทำให้ราคายางพาราในประเทศไทยตกต่ำลง ทั้งนี้ หากประชาชาพบการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อน ขอให้แจ้งทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ และเราจะกวาดล้างทันที

โฉนดต้นยาง

“กระทรวงเกษตรฯ ต้องการให้ราคาพืชผลทางเกษตรชนิดอื่น ๆ มีการปรับขึ้นราคาขึ้นเช่นเดียวกับ ยางพารา ไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม แต่ที่เราทำให้ราคายางพาราขึ้นสำเร็จก่อน เนื่องจากยางพาราอยู่ในการดูแลกำกับของกระทรวงเกษตรฯ เพราะเรามีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) อยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ จึงทำให้หน่วยงานอื่น ๆ ของเราสามารถบูรณาการการทำงานเข้าด้วยกันได้อย่างรวดเร็ว และเบ็ดเสร็จ แต่สำหรับราคาข้าว ถึงเราจะมีกรมการข้าว แต่การกำหนดนโยบายตลาด และราคา เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นผู้กำกับดูแล เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ก็มีคณะกรรมการนโยบายมัน อยู่กับกระทรวงพาณิชย์ ส่วนปาล์มน้ำมัน ก็เป็นของกระทรวงพลังงาน อ้อยก็ไปอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม  ใจจริงเราอยากจะดึงทุกอย่างมาดูแลแบบเบ็ดเสร็จ แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้” ศ.ดร.นฤมล กล่าว

โฉนดต้นยาง

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่าในส่วนของยางพารา กระทรวงเกษตรฯ โดย กยท. ได้เดินหน้าขับเคลื่อนปฎิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อให้เขารู้ว่า เราไม่ได้ไปบุกรุกป่า ตอนนี้มีเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 11.17 ล้านไร่ เหลืออีก 4 ล้านไร่ ที่ยังไปเป็นที่ดินทับซ้อน โดยเราได้พูดคุยกันและจะมีการจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับชาวสวนยางพารา เพื่อให้เขามีเอกสารสิทธิที่ถูกต้อง สามารถครอบครองพื้นที่ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ส่วนเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ 11.17 ล้านไร่อยู่แล้ว เราจะออกโฉนดต้นยาง เพื่อสร้างมูลค่าให้กับต้นยางพาราที่ปลูกอยู่บนที่ดินของตนเองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.และนำไปลงทุนต่อยอดทางธุรกิจได้ โดยจะ Kick off เปิดโครงการในวันที่ 1 เมษายน 2568

“กระทรวงเกษตรฯ ต้องการให้เกษตรกรชาวสวนยาง เข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินได้มากขึ้น  โครงการนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สวนยางพาราประมาณ 27,000 บาทต่อไร่ ชาวสวนยางก็จะมีเงินไปพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมของตัวเองได้ เราจึงตั้งเป้าตั้งเป้าที่จะออกโฉนดต้นยางให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ในอนาคตชาวสวนยางยังสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพิ่มเป็นรายได้เสริมด้วย” ศ.ดร.นฤมล กล่าว

โฉนดต้นยาง

ในส่วนของโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum saimense ในต้นยางพารา ศ.ดร.นฤมล ได้กำชับ กยท.  ให้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletatrichum siamense หรือโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา และศึกษาหาแนวทางการแก้ไขทั้งการเฝ้าระวัง การยับยั้งปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องเกษตรกร อันก่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนในอาชีพการทำสวนยางและพืชอื่น ๆ ต่อไป

จากนั้น ศ.ดร.นฤมล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้รณรงค์การใช้น้ำหมักปลาหมอคางดำ เพื่อแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ที่กำลังระบาดในภาคอีสาน แต่ในจังหวัดบึงกาฬ ยังระบาดมากนัก เราต้องรีบมาป้องกัน และวันนี้ได้มอบน้ำหมักเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางไปใช้ป้องกัน ส่วนเรื่องที่ดิน สปก. ตนได้สานต่อนโยบายที่ทำไว้ตั้งแต่สมัย ร.อ.ธรรมนัส ที่ได้เร่งรัดให้มีการแจกโฉนดเพื่อการเกษตร ทำให้วันนี้มีชาวบ้านมารับเอกสารสิทธิ์ 500 คน โดยปี 2568 ตั้งเป้าจะทำให้ครบ 22 ล้านไร่

S 5808136

เมื่อถามถึงปัญหาข้าวนาปรังที่ยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือชัดเจน กระทรวงเกษตรฯ จะมีมาตรการอย่างไรในเบื้องต้น ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า เราได้ดูแลปัจจัยการผลิต เรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ส่วนนโยบายข้าวนาปรังและนาปี จะเป็นอย่างไร ก็ต้องรอกระทรวงพาณิชย์ นำเสนอก่อน แต่เบื้องต้นยังไม่มีการพูดคุยอะไรมาที่กระทรวงเกษตรฯ

โฉนดต้นยาง

ทั้งนี้ ศ.ดร.นฤมล และนายอิทธิ ได้ร่วมกันมอบโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 500 ราย พร้อมปัจจัยการผลิต อาทิ น้ำหมักปลาหมอคางดำ 1,000 ลิตร จำนวน 33 ราย, ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรคใบด่าง, หน่อพันธุ์กล้วยหอมทอง, กล้วยน้ำว้า และพันธุ์มะละกอ รวมถึงพันธุ์ปลาจำนวน 200 ถุง และสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวจำนวน 130 ตัน แก่ตัวแทนเกษตรกรผู้มาร่วมงานด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight