Business

การรถไฟฯ กุมขมับ! บริหารสถานีกลางบางซื่อขาดทุนเกือบ 300 ล้านบาท

“การรถไฟฯ” กุมขมับ! บริหาร “สถานีกลางบางซื่อ” ขาดทุนปีละ 300 ล้านบาท ผุดไอเดียรีดค่าธรรมเนียมจากผู้เดินรถเพิ่ม พร้อมเตรียมเปิดประมูลสัญญา “บริหารจัดการ-พื้นที่เชิงพาณิชย์” 2 ฉบับปลายปีนี้

S 81920012
ฐากูร อินทรชม

นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ จะเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อในช่วงต้นปี 2564 โดยเมื่อเปิดให้บริการแล้ว สถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางหลักของประเทศและชุมทางรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอาเซียน สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระบบต่างๆ (Multi-Modal Transportation) ได้แก่ รถไฟทางไกล (Inter-City Train) รถไฟฟ้าชานเมือง (Commuter Train Red Line) รถไฟฟ้าความเร็วสูง (High-Speed Railway) และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน (Airport Rail Link)

เบื้องต้นที่ปรึกษาของการรถไฟฯ ประเมินว่า สถานีกลางบางซื่อจะมีค่าใช้จ่ายในการเปิดให้บริการมากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ค่าจ้างเอกชนบริหารพื้นที่ และ 2.ค่าไฟฟ้าและพลังงาน เช่น การเปิดเครื่องปรับอากาศ ลิฟท์ บันไดเลื่อน ฯลฯ โดยต้นทุนค่าไฟฟ้าและพลังงานขั้นต่ำจะอยู่ที่ 5 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 30% ของต้นทุนทั้งหมด

fig 09 05 2019 10 22 11
รีดรายได้ ชดเชยค่าใช้จ่าย

การรถไฟฯ จึงอยู่ระหว่างหารือกับบริษัทที่ปรึกษา เพื่อปรับประมาณการค่าใช้จ่ายให้ลดลง หรือใกล้เคียงกับความจริงมากขึ้น นอกจากนี้การรถไฟฯ เพิ่งได้รับงบประมาณ 15 ล้านบาทจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการศึกษาโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าและพลังงาน โดยการศึกษาจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี

ขณะเดียวกันในช่วงปีแรกๆ สถานีกลางบางซื่อจะสร้างรายได้จากการให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่โฆษณาราว 20-30 ล้านบาทต่อปี เมื่อนำรายได้หักลบกับค่าใช้จ่ายแล้ว จะส่งผลให้การรถไฟฯ ขาดทุนจากสถานีกลางบางซื่อเกือบ 300 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น การรถไฟฯ จึงอยู่ระหว่างพิจารณาหารายได้จากส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

“ตอนนี้กำลังดูอยู่ว่าค่าใช้จ่ายจริงๆ เป็นเท่าไหร่ แล้วเรา absorb ไหวไหม ถ้าจะกระจายค่าใช้จ่ายไปหา Operator ต่างๆ จะเป็นเงินเท่าไหร่และมันจะเหมาะสมไหม ซึ่ง Operator หลักๆ ก็คือ การรถไฟฯ เองที่วิ่งรถไฟทางไกล, รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงของ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นบริษัทลูก, รถไฟความเร็วสูงสามสนามบิน และรถไฟความเร็วสูงสายอื่นๆ ซึ่งในประเทศอื่นก็มีการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สถานี เหมือนที่ ทอท. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมกับสายการบิน แต่เรื่องนี้ยังเป็นเพียงแนวคิด ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้” นายฐากูรกล่าว

fig 14 05 2019 08 55 51

เปิดประมูล “บริหารพื้นที่-กิจกรรมเชิงพาณิชย์”

นายฐากูร เปิดเผยถึงการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อต่อว่า การรถไฟฯ จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่ กิจกรรมเชิงพาณิชย์จำนวน 1 สัญญา และงานบริหารจัดการภายในสถานีจำนวน 1 สัญญา โดยการรถไฟฯ ได้จัดงานสัมมนารับฟังความเห็นและความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) ขึ้นภายในวันนี้ (14 พ.ค.)

สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีกลางบางซื่อจะมีขนาดประมาณ 13,000 ตารางเมตร โดยกำหนดให้มีลงทุนกิจกรรมต่างๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ, ร้านขายสินค้าให้กับผู้เดินทาง, ศูนย์การค้าขนาดเล็ก (Community Mall)

ระยะเวลาการให้เช่าพื้นที่จะอยู่ที่ 5 ปี ซึ่งเหมาะสมกับการลงทุนและปริมาณผู้โดยสารในช่วงแรก โดยมีการประเมินว่า เมื่อสถานีกลางบางซื่อเริ่มเปิดให้บริการในปี 2564 จะมีปริมาณผู้โดยสาร 8 หมื่นคนต่อวันและเพิ่มเป็น 1.4 แสนคนต่อวันภายใน 3 ปี

ด้านเอกชนจะต้องจ่ายค่าเช่าให้การรถไฟฯ ประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี โดยปรับขึ้นค่าตอบแทนปีละ 5% หรือรวมแล้วเกือบ 100 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา 5 ปี แต่ถ้าหากความต้องการของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เอกชนก็มีสิทธิ์ขอพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่เหลืออีกประมาณ 3,000-4,000 ตารางเมตร แต่ต้องอยู่ภายในอายุสัญญา 5 ปี โดยส่วนนี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพต่ำกว่าบริเวณที่นำออกประมูล

fig 12 04 2019 12 50 50

เบื้องต้นการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์จะมีจำนวน 1 สัญญา แต่ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนก่อนว่า ต้องการให้เปิดประมูลสัญญาเดียว หรือต้องการให้แบ่งสัญญาย่อยลงไปอีก เช่น แบ่งเป็นสัญญาพื้นที่เชิงพาณิชย์และสัญญาป้ายโฆษณา เป็นต้น โดยการประมูลสัญญาเชิงพาณิชย์จะดำเนินการภายใต้ระเบียบและอำนาจของคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ

ด้านเอกชนที่สนใจสอบถามการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีกลางบางซื่อ ได้แก่ เครือเซ็นทรัล, เครือเดอะ มอลล์ และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

“5 ปีเป็นสัญญาที่เหมาะสมแล้ว เพราะมันไม่มีการลงทุนอะไรมาก ไม่ได้มีการลงทุนก่อสร้างอาคารใหญ่โตแบบแปลง A โดยค่าเช่าถือว่าไม่แพงมาก เพราะเป็นการเริ่มต้นธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่าย ปีแรกเป็นการเก็บค่าเช่าขั้นต่ำ จำนวนไม่เยอะ เพราะถ้าเก็บเยอะในปีแรกก็จะเจ๊งกันทุกคน” นายฐากูรกล่าว

สำหรับการบริหารจัดการภายในสถานีนั้น เบื้องต้นจะมีจำนวน 1 สัญญา แต่จะประกอบด้วยงานย่อยๆ หลายงาน เช่น งานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ทำความสะอาด เป็นต้น โดยการรถไฟฯ จะใช้งบประมาณว่าจ้างเอกชนบริหารจัดการประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี อายุสัญญา 5 ปี ซึ่งการประมูลสัญญานี้จะเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง

2C9EF3D7 D103 424C A6D8 078AA8205DDC
การก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ

เปิดประมูลปลายปีนี้   

นายฐากูร กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ การรถไฟฯ จะนำความเห็นของภาคเอกชนไปปรับปรุงรูปแบบและเงื่อนไขการประมูล (TOR) พื้นที่เชิงพาณิชย์และงานบริหารจัดการภายในสถานีกลางบางซื่อ โดยเบื้องต้นคาดว่าประกาศทีโออาร์และเริ่มเปิดประมูลได้ในปลายปี 2562 จากนั้นจะได้รายชื่อผู้ชนะการประมูลในกลางปี 2563 และเริ่มเปิดให้บริการทั้ง 2 สัญญาพร้อมสถานีกลางบางซื่อในต้นปี 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกชนที่เข้าร่วมงาน Market Sounding เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และบริหารจัดการภายในสถานีกลางบางซื่อในวันนี้ เช่น บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท สเตรกา จำกัด (มหาชน) , บริษัท สยามรีเทลดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บริษัท บิ๊กซี ซุเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สหลอว์สิน จำกัด, บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ BMK, บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB, บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ AQUA, บริษัท มาสเตอร์แอด จํากัด (มหาชน) หรือ MACO เป็นต้น

Avatar photo