ลุ้นระทึก! ศาลล้มละลายกลาง นัดฟังคำสั่งแก้ไขแผนฟื้นฟู บริษัทการบินไทย 3 ประเด็น พรุ่งนี้ จับตาคลังอยู่ในฐานะ “เจ้าหนี้” หรือไม่
วันที่ 21 มกราคม 2568 ศาลล้มละลายกลาง นัดฟังคำสั่งการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือTHAI หลังจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นรายงานเกี่ยวกับผลการประชุมเจ้าหนี้การบินไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 มีมติเห็นชอบการแก้ไขแผน ทั้ง 3 ข้อ
ข้อเสนอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการประกอบด้วย
1. คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อกำหนดให้ผู้บริหารแผน มีอำนาจลดทุนจดดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อชำระผลขาดทุนสะสม
2. คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า หากในอนาคต บริษัทจะมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น บริษัทสามารถนำกระแสเงินสดส่วนเกินมาจ่ายเงินปันผลได้ โดยเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะได้รับชำระหนี้ก่อนกำหนดข้อ 5.4 (ข) ของแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ
3. คำร้องขอแก้ไขแผนพื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 ท่าน
เรื่องดังกล่าวยังเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการบินไทย เพราะยังมีเรื่องที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ยังถกเถียงกันมากคือ กระทรวงการคลังมีสิทธิลงมติออกเสียงขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 ราย หรือไม่ ในการประชุมเจ้าหนี้การบินไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เนื่องจากกระทรวงการคลังได้แปลงหนี้เป็นทุนไปแล้ว และไม่ได้อยู่ในฐานะ “เจ้าหนี้”
ก่อนหน้านี้ ได้มีเจ้าหนี้ 8 ราย ยื่นคัดค้านผลการประชุมเจ้าหนี้การบินไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567
ขณะเดียวกัน ยังพบว่าสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน.ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เบรกจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทรวงการคลังเสียสิทธิในการลงมติออกเสียง สำหรับการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว ให้แปลงหนี้เป็นทุน ภายหลังการประชุมเจ้าหนี้การบินไทยวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับกระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัทการบินไทย
ขณะที่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฯ ระบุก่อนหน้านี้ว่า หากวันที่ 21 มกราคม 2568 ศาลชี้ว่าการประชุมเจ้าหนี้เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2567 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะส่งผลให้มติเป็น “โมฆะ” แต่หากชี้ว่าเห็นชอบการประชุมเจ้าหนี้ก็เดินตามขั้นตอนต่อไป หรือศาลฯ อาจจะชี้ไม่เห็นชอบในแต่ละวาระ จากทั้งหมด 3 วาระ โดยคำคัดค้านของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ต้องชี้แจง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- การบินไทย แจ้งจดทะเบียนเพิ่มทุนชำระแล้ว 2.3 แสนล้าน
- ‘คลัง’ ฉลุย! เพิ่ม 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ‘การบินไทย’
- เรื่องร้อนๆ ในการบินไทย
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg