“มนพร” เผยยอดนักท่องเที่ยวใช้บริการสนามบินหัวหินพุ่ง หนุนเที่ยวบินในประเทศคึกคัก สั่ง ทย คุยสายการบิน จัดแผนเปิดเส้นทางข้ามภูมิภาค อีสาน–ใต้ อีสาน–เหนือ และระหว่างประเทศ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ท่าอากาศยานหัวหินมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แตะระดับกว่า 7.5 หมื่นคน ภายในช่วงปีงบประมาณ 2567 สะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเติบโตอย่างชัดเจน หลังจากที่ซบเซาในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งผู้โดยสารกว่า 80% เป็นนักท่องเที่ยวที่บินข้ามภูมิภาคในเส้นทางเชียงใหม่-หัวหิน-เชียงใหม่
ทั้งนี้ จึงได้มอบหมายและสนับสนุนให้ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) หารือกับสายการบินถึงความเป็นไปได้ในการเปิดเส้นทางบินข้ามภูมิภาคอื่น ๆ เช่น เส้นทางอีสาน-ใต้ หรืออีสาน-เหนือ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการกลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศอีกครั้ง หลังจากที่เคยรองรับเที่ยวบินตรงจากประเทศในเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-หัวหิน-กัวลาลัมเปอร์ มาแล้วในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ได้เร่งรัดให้ ทย. สานต่อโครงการงานก่อสร้างขยายความกว้างทางวิ่งและเสริมผิวทางวิ่งพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน ให้มีความกว้าง 45 เมตร ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ พร้อมทั้งเดินหน้าพิจารณาโครงการใหม่ โดยให้พิจารณาปรับปรุงหรือขยายอาคารที่พักผู้โดยสารให้สามารถรองรับผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น ตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ขณะเดียวกัน ยังได้กำชับให้ ทย. เร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาสนามบินหัวหิน การขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ และการประกาศให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/2568 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการรองรับเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
พร้อมกันนี้ ให้ประชาสัมพันธ์จุดเด่นของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือกิจกรรมทางทะเล และจัดกิจกรรมภายในท่าอากาศยานตามแนวคิด สนามบินมีชีวิต เพื่อขับเคลื่อนให้หัวหินเป็น Land Mark ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล
ด้านนายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า แผนพัฒนาท่าอากาศยานหัวหิน ประกอบด้วยการดำเนินงาน 2 โครงการ คือ
1. งานก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่งและเสริมผิวทางวิ่ง พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน โดยขยายความกว้างทางวิ่งผิวแอสฟัลท์ติกคอนกรีตให้มีขนาด 45 เมตร เพื่อรองรับอากาศยานแบบ B737 และ A320 วงเงินลงทุนกว่า 239 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินงานแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการตรวจสอบมาตรฐานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
2. งานก่อสร้างอุโมงค์ถนนและขยายพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง บริเวณหัวทางวิ่ง 16 เนื่องจาก กพท. ได้ตรวจพบข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย บริเวณพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่ง (Runway Strip) และพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง (RESA) ทย. จึงได้ขอรับจัดสรรงบประมาณเมื่อปี 2566 วงเงิน 300 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ถนนและขยายพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่ง บริเวณหัวทางวิ่ง 16 ตรงอุโมงค์รถยนต์และรถไฟ จากเดิมด้านละ 40 เมตร เป็น 60 เมตร
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาขอความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ เริ่มดำเนินงานตามสัญญาได้ในเดือนมกราคม 2568 และสิ้นสุดสัญญาในเดือนเมษายน 2569
นายดนัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานหัวหินมีขีดความสามารถในการรองรับอากาศยานแบบ B737 ได้ 2 ลำในเวลาเดียวกัน อาคารที่พักผู้โดยสารรองรับผู้โดยสารได้ 300 คน/ชั่วโมง หรือ 0.86 ล้านคน/ปี ลานจอดรถยนต์รองรับได้ 90 คัน โดยเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศโดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย เส้นทางเชียงใหม่-หัวหิน -เชียงใหม่ ในวันอาทิตย์ จันทร์ พุธ และศุกร์ วันละ 1 เที่ยวบิน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘สนามบินสุราษฎร์ธานี’ ผงาด! ได้รับการรับรอง สนามบินสาธารณะ ‘มนพร’ เชื่อมั่นสายการบินเปิดเส้นทางบินเพิ่มขึ้น
- สุดปัง! ยูเนสโก ยกย่อง ‘สุวรรณภูมิ’ 1 ใน 6 สนามบินสวยที่สุดในโลก ปี 2567
- คมนาคม ลุยไอเดีย ‘สนามบินมีชีวิต’ นำร่องพิษณุโลก ดึงนักท่องเที่ยว-กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsigh
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx