Business

รู้จัก ‘MR. D.I.Y.’ ค้าปลีกจากมาเลเซีย เตรียมเข้าตลาดหุ้นไทย

รู้จัก “MR. D.I.Y.” ค้าปลีกจากมาเลเซีย เตรียมเข้าตลาดหุ้นไทย ย้อนกลับไปดูจัดเริ่มต้น กว่าจะมาเป็นวันนี้ พร้อมสาขาในประเทศไทย

ในช่วงที่ผ่านมามีโมเดลร้านค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์ราคาประหยัดเกิดขึ้นมากมาย ทั้งแบรนด์จากต่างประเทศ รวมถึงแบรนด์ไทย ที่ประสบความสำเร็จจนเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

ล่าสุดก็มีเองหนึ่งธุรกิจค้าปลีกสินค้าจิปาถะที่กำลังเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นคือ บริษัท มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย. โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MR. D.I.Y. ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี

MR. D.I.Y. ได้ยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงานก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 981,482,654 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 16.31% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท พร้อมแต่งตั้ง บล.บัวหลวง และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อเดินหน้าเข้าจดทะเบียนใน SET

โดยบทความนี้จะพามารู้จัก MR. D.I.Y. กันให้มากขึ้น ไล่เรียงตั้งแต่ที่มาที่ไปของบริษัท โครงสร้างธุรกิจ การเติบโตของรายได้และกำไร ตลอดจนแผนการเติบโตในอนาคตหลังการระดมทุนครั้งนี้

MR. D.I.Y.

จุดเริ่มต้นของ MR. D.I.Y.

MR. DIY เป็นร้านค้าปลีกอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน และสินค้าจิปาถะจากประเทศมาเลเซีย และปัจจุบันเป็นเชนค้าปลีกรายใหญ่ในอาเซียน โดยเปิดสาขาใน 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา รวมไปถึงอินเดีย ตุรกี และสเปน

ทำให้ MR. D.I.Y. Group  เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดถึง 19.38 หมื่นล้านริงกิตมาเลเซีย หรือประมาณ 1.50 แสนล้านบาท ถือเป็นหุ้นที่ใหญ่ติด 50 อันดับแรกของมาเลเซีย

สาขาแรกเกิดขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์ ในปี 2548  เกิดจากการที่ผู้ก่อตั้งเห็นปัญหาว่าชาวมาเลเซีย ไม่มีร้านค้าที่รวมอุปกรณ์ซ่อมแซมแบบครบครันไว้ในที่เดียว ดังนั้น จึงเปิด MR. DIY ขึ้นมาสำหรับเป็นร้านขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวกับการซ่อมบ้าน และอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อตอบโจทย์กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน

เมื่อผลตอบรับดี จึงค่อยๆ ขยายไปสู่สินค้าหมวดอื่นๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน อุปกรณ์ประดับยนต์,เครื่องเขียนและอุปกรณ์กีฬา ของเล่น ของขวัญ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เครื่องประดับและเครื่องสำอาง เป็นต้น

MR. DIY การขยายสาขาในประเทศไทย

MR. DIY เเข้ามาตีตลาดไทยตั้งแต่ปี 2559 โดยเปิดสาขาแรกที่ซีคอนบางแค และเป็นสาขาแรกในต่างประเทศของกลุ่มบริษัท ภายใน 1 ปี สามารถขยายสาขาไปได้ถึง 50 สาขา และปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 802 สาขา ครอบคลุม 74 จังหวัดทั่วประเทศไทย

ปัจจัยที่ทำให้บริษัทขยายสาขาในไทยได้รวดเร็ว เนื่องจากเงินทุนที่มั่นคง ผนวกกับจุดแข็งของการมี Economy of Scal จึงสามารถสั่งสินค้าจากผู้ผลิตที่ Volume ใหญ่ ทำให้สินค้ามีราคาที่แข่งขันได้ และมีผลกำไรมากพอ นอกจากนี้ ไทยถือเป็นตลาดสำคัญของกลุ่มบริษัท จากกำลังซื้อ และจำนวนประชากรที่มากกว่ามาเลเซีย

ทั้งนี้ MR. D.I.Y. ขยายสาขาใหม่ในปี 2564 จำนวน 121 สาขา ในปี 2565 จำนวน 158 สาขา และในปี 2566 จำนวน 184 สาขา โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ 36.3% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2566 โดยรายงานวิจัยตลาดของ Frost & Sullivan พบว่า MR. D.I.Y. มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 7.4% ในธุรกิจสินค้าอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและสินค้าไลฟ์สไตล์

MR. D.I.Y.

รายได้และกำไรของ MR. DIY

ผลการดำเนินงานของ MR. D.I.Y. ประเทศไทย ระหว่างปี 2564-2567

– ปี 2564 รายได้ 7,182.46 ล้านบาท กำไร 836.25 ล้านบาท
– ปี 2565 รายได้ 9,941.19 ล้านบาท กำไร 1,051.22 ล้านบาท
– ปี 2566 รายได้ 12,832.23 ล้านบาท กำไร 1,381.07 ล้านบาท

ส่วนงวดครึ่งปีแรก 2567 บริษัทมีรายได้ 7,566.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไร 793.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขยายสาขา

เมื่อลองแกะดูโครงสร้างรายได้จากสาขา จะเห็นว่าส่วนใหญ่ 60% มาจากสาขานอกศูนย์การค้า (Stand Alone) และอีก 40% เป็นสาขาภายในศูนย์การค้า (Retail Mall Based) ในขณะที่รายได้จากข่องทางออนไลน์ถือว่ายังน้อยมาก

สำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทมีวัตถุประสงค์นำเงินไปใช้ในการลงทุนเพื่อพัฒนาและขยายธุรกิจ ชำระเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไปสำหรับการดำเนินงานของบริษัท โดยมองว่าธุรกิจค้าปลีกอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและสินค้าไลฟ์สไตล์ทั่วไป ยังมีระดับการแข่งขันที่ต่ำและเติบโตอย่างรวดเร็ว จากทิศทางของอุตสาหกรรมค้าปลีกสินค้าอุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 5.1% ตั้งแต่ปี 2566-2571

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน