Business

ส่องอนาคต ‘AOT’ ยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า กระทบรายได้แค่ไหน?

ส่องอนาคต AOT ยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า กระทบรายได้แค่ไหน?

ถือเป็นหนึ่งแรงกระเพื่อมที่น่าสนใจเกี่ยวกับหุ้น AOT หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อล่าสุดมีมติจากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาอนุมัติหยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ AOT เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

สรุปคร่าวๆ ก็คือ AOT จะยกเลิกสัญญาประกอบกิจการ Duty Free ขาเข้า ซึ่งปัจจุบันดำเนินการโดย บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป ประกอบด้วยสนามบิน 5 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่

สาเหตุเนื่องมาจากรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงวงเงินใช้จ่ายในร้านค้า Duty Free ขาเข้าดังกล่าว มากระจายหมุนเวียนในประเทศให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมากรมศุลกากรได้มีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือจาก บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และ AOT ให้การดำเนินการตามมติ ครม.

ดิวตี้ฟรี

รายงานข่าวระบุว่า AOT ได้รับส่วนแบ่ง Duty Free อยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท แต่เป็นสัดส่วนของพื้นที่ขาเข้าประมาณ 10% ของสัญญาสัมปทานทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้อย่างมีนัยยะสำคัญ  ทำให้บริษัทมีพื้นที่รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น  เป็นบวกต่อการเติบโตของประมาณผู้โดยสาร เพื่อเข้ามาชดเชยรายได้ส่วนนี้ที่หายไป

นักวิเคราะห์มองกระทบรายได้ปีละ 1,700 ล้านบาท

นักวิเคราะห์บล. กรุงศรี เปิดเผยว่า การที่ AOT ประกาศยกเลิก Duty Free ขาเข้าอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 โดยพื้นที่ Duty Free ขาเข้าคิดเป็น 10-13% ของพื้นที่พาณิชย์รวมในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่ และดอนเมือง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 2,251 ตารางเมตร

เพราะฉะนั้น การยกเลิกนี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี หรือ 2-3% ของรายได้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม AOT มีแผนปรับปรุงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร และสามารถพิจารณานำพื้นที่บางส่วนกลับมาใช้หารายได้ในอนาคต จึงมองว่าท้ายที่สุดแล้วประเด็นนี้จะผลกระทบต่อกำไรของ AOT ประมาณ 5-6% ต่อปี

สำหรับโครงการใหม่ของ AOT ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ประกอบไปด้วย โครงการประมูลผู้ประกอบการภาคพื้นรายที่ 3, โครงการประมูลผู้ให้บริการศูนย์ซ่อมเครื่องบินและคลังสินค้า, โครงการ Airport City และโครงการเรียกเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาเข้า/ขาออก

ดิวตี้ฟรี

จึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น AOT แต่ปรับลดราคาเป้าหมายลง 5% เป็น 64.50 บาทต่อหุ้น เชื่อว่าผลกระทบนี้จะเป็นเพียงระยะสั้น มองว่าในระยะยาวปริมาณผู้โดยสารกำลังกลับมาเทียบเท่าช่วง Pre-COVID ได้ในปี 2568 และคาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตขึ้น 22% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น AOT ย้อนหลัง 1 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2567) ราคาหุ้นปรับตัวลดลง  20 ปัจจุบันอยู่ที่ 56 บาทต่อหุ้น มองอีกมุมถือว่าเป็นหุ้นที่มี Dowside Risk ไม่มากแล้ว

อย่างไรก็ดี AOT เตรียมประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปี 2567 ของบริษัท ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้  แนะนำให้จับตามองผลงานและแนวโน้มอนาคตของบริษัทอีกครั้ง เพื่อประเมินกลยุทธ์การลงทุน และพิจารณากรอบราคาที่เหมาะสม

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน