Business

เปิดกลยุทธ์ Pop Mart ดัน ‘ลาบูบู้’ ฮิตทั่วโลก ยอดขายทะลุ 1,000 ล้านหยวน

เมื่อต้นเดือนเมษายน 2567 ลิซ่า นักร้องชื่อดังจากสมาชิกวง Blackpink โพสต์ภาพเซลฟี่ถือกล่องลาบูบู้ (Labubu) บน Instagram ทำให้สินค้าจากร้าน Pop Mart ได้รับความสนใจจากทั่วโลก

จากนั้น Labubu ได้กลายเป็นของเล่นยอดนิยมที่มาแรงขึ้นทันที ผู้บริโภคต่อคิวรอซื้อเป็นแถวยาวในหน้าร้านออฟไลน์ ในขณะเดียวกันการจำหน่ายในร้านออนไลน์ก็ถูกกวาดซื้อหมดเพียงไม่กีวินาที โดยเฉพาะกล่อง Labubu มาการอง

ลาบูบู้

ด้วยการพัฒนาที่รวดเร็วจากอุตสาหกรรมธุรกิจบันเทิง และกระแสความนิยมวัฒนธรรมจีนร่วมสมัย อุตสาหกรรมของเล่นจีนจากการแข่งขันด้วยการผลิต OEM ที่เป็น Hard Power ก้าวสู่ชั้นการแข่งขันด้วยการสร้างเนื้อหา (Content) การดำเนินงานของแบรนด์ และการบ่มเพาะทรัพย์สินทางปัญญา IP (Intellectual Property) ที่สามารถสร้างกระแสและเป็น Soft Power ในปัจจุบัน

รายได้ “POP Mart” ในต่างประเทศทะลุ 1,000 ล้านหยวน

ปี 2561 บริษัท Pop Mart ได้เริ่มขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ มีการจัดตั้งทีมธุรกิจระหว่างประเทศเมื่อปี 2562 และตั้งทีมอีคอมเมิร์ซช้ามพรมแดนในปี 2563 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการเปลี่ยนกลยุทธ์มุ่งเน้นไปที่ลูกค้าโดยตรงหรือ DTC (Direct To Customer) โดยมีการเปิดร้านค้าออฟไลน์ในเมืองหลักหลายแห่งทั่วโลก เพื่อสร้างระบบช่องการจำหน่ายของบริษัท

เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา รายได้ Pop Mart จากธุรกิจในฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และต่างประเทศสูงถึง 1,066 ล้านหยวน ซึ่งเป็นการทะลุ 1,000 ล้านหยวนเป็นครั้งแรก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 134.9% เมื่อเที่ยบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 16.9% ของตลาดโดยรวม ในขณะเดียวกัน จำนวนร้านค้าออฟไลน์ในต่างประเทศมีการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวที่เทียบกับปี 2564

ลาบูบู้ ป็อปมาร์ท

นายเหวินเต๋อ ประธานธุรกิจต่างประเทศของบริษัท Pop Mart ให้ข้อมูลในการประชุมสิ้นปี 2566 ของบริษัทฯ ว่าปีที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้ความพยายามและการลงทุนมากมายในการส่งเสริมแบรนด์และการประชาสัมพันธ์ IP ไปทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อรับฟังเสียงจากผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด และสร้างประสบการณ์การบริโภคที่ไม่เหมือนกันตามแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีการทำวิจัยอย่างละเอียดกับพฤติกรรมการบริโภค และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาด ตามกระแสความต้องการ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศ และในอีก 3 ปีข้างหน้า Pop Mart จะขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐ ยุโรป ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง อย่างต่อเนื่อง

บริษัท Pop Mart หวังว่าจะสร้างระบบ IP ที่เป็นสากลมากขึ้น โดยอาศัยรูปแบบการทำตลาดหลายมิติ และกลุยทธ์การบริหารเน้นการนำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ IP ที่ Made in China ที่ผสมผสานกับปัจจัยหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค

สร้างช่องทางจำหน่ายออนไลน์และออฟไลน์  

ความสำเร็จของ Pop Mart ในต่างประเทศ หนีไม่พ้นการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะ และแปลกใหม่ โดยอาศัยการสร้าง IP และการแสวงหาศิลปินที่มีศักยภาพสูงทั้งในและนอกประเทศ มุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาที่ การเปิดร้านค้าที่ดี การจัดนิทรรศการที่ดี และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ดี

หลังจากบริษัทการออกสินค้าสู่ตลาด อาทิ ตุ๊กตา Labubu THE MONSTERS, MOLLY, DIMOO และ SKULLPANDA ก็ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

shutterstock 2447613571

นอกจากนี้ เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ Pop Mart ยังได้เซ็นสัญญากับนักออกแบบและศิลปินที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกเพื่อบ่มเพาะ IP ของแต่ละตลาด

ตัวอย่างเช่น บริษัทได้เปิดตัวตุ๊กตา CRYBABY สู่ตลาดในประเทศไทย ซึ่งผู้ออกแบบตุ๊กตาเป็นศิลปินท้องถิ่นชาวไทย และขณะนี้ Pop Mart ได้เปิด Official Store ในไทย จำนวน 6 สาขา โดยในวันเปิดร้านค้าแห่งที่สามในไทย สามารถทำยอดขายรายวันสูงสุดของร้านค้าทั่วโลก

ในช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันบริษัทได้มีการเปิดบัญชีอย่างเป็นทางการในแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียในต่างประเทศ เช่น TikTok อินสตาแกรม เป็นต้น ซึ่งทั้งมีผู้ติดตามมากกว่าหนึ่งล้านคน โดยอาศัยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์จำนวนจำกัดตามภูมิภาค การร่วมถ่ายทอดสดกับ KOL ในพื้นที่และเชิญ KOL ไป Live Streaming ที่หน้าร้าน การจำหน่ายผ่านรูปแบบกล่องสุ่ม เป็นต้น ทำให้แบรนด์ Pop Mart มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากการเปิดหน้าร้านออฟไลน์ และร้านค้าจำหน่ายกล่องสุ่มเป็นตู้อัตโนมัติ (Robo Shop) แล้ว บริษัทยังมีการเปิดร้านออนไลน์ใน Shopee ด้วย กล่าวได้ว่า บริษัทได้สร้างช่องทางการจำหน่ายที่ครบวงจรทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์

นอกจาก Pop Mart จะเป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Art Toys แถวหน้าที่สามารถรักษาฐานลูกค้าได้เป็นอย่างดี บริษัทยังมีการเริ่มทดลองธุรกิจในรูปแบบอื่น ๆ ปี 2566 บริษัทได้ดำเนินธุรกิจสวนสนุก Popland และได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้เข้าชมร่วมหนึ่งแสนคนในเดือนแรก

popland

ในขณะเดียวกัน บริษัทมีการเปิดตัวเกมแรก Dream Home เพื่อสร้างแพลตฟอร์มโซเซียลกับผู้ติดตาม Pop Mart ซึ่งกำลังเติบโตกลายเป็นกลุ่มธุรกิจวัฒนธรรมแฟชั่นและความบันเทิงที่มีอิทธิพลระดับโลกโดยมี IP เป็นแกนหลัก

อุตสาหกรรม Art Toys จีนพร้อมก้าวสู่สากลระดับโลก

จากรายงานการพัฒนาอุตสาหกรรมปี 2566 พบว่า อุตสาหกรรม Art Toys ในปี 2566 มีมูลค่า 57,000 ล้านหยวน และคาดการณ์ว่าปี 2569 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 110,100 ล้านหยวน ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวระหว่างปี 2565-2569 จะถึง 24% ต่อปีโดยเฉลี่ย

จากเดิมอุตสาหกรรมของเล่นจีนที่ได้ส่วนแบ่งตลาดโดยอาศัยกำลังการผลิตสูง ต้นทุนต่ำและมีความสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่รวดเร็ว ในขณะเดียวกันปัญหาของอุตสาหกรรมที่มีอยู่ เช่น ขาดการรับรู้แบรนด์ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ไม่คงที่ ขาดการรับรองมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นอุปสรรคที่จำกัดการพัฒนาของอุตสาหกรรมของเล่นจีนที่จะก้าวสู่ระดับคุณภาพสูงของโลก

ความเติบโตอันแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมของเล่นจีนในครั้งนี้ ได้ประโยชน์จากการบูรณาการความนิยมด้านวัฒนธรรม และกระแสต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

นายหงหย่ง ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมของเล่นจีนกล่าวว่า อุตสาหกรรมของเล่นจีนควรพัฒนาการออกแบบ และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นที่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เสริมสร้างเรื่องราวของแบรนด์ และความหมายแฝงทางวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

ขณะเดียวกันควรส่งเสริมความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนกับแบรนด์ต่างประเทศ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์จีน ตลอดจนเพิ่มส่วนแบ่งของตลาดในตลาดโลก

จากกระแส Art Toys ที่ได้รับความนิยมจากทั้งในและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง กลายเป็นของสะสมที่มีคุณค่าและสร้างมูลค่าอย่างมหาศาล ทำให้ธุรกิจดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งธุรกิจมาแรงที่น่าสนใจในปัจจุบัน ด้วยแนวทางการพัฒนาของเล่นผสมผสานกับศิลปะ

อุตสาหกรรมของเล่นจีน ได้ปรับกลยุทธ์การแข่งขันที่เน้นการร่วมการพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่าง การนำเสนอผ่าน Content ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้านทรัพย์สินทางปัญญากับศิลปินนักออกแบบที่มีชื่อเสียง และการ Co-branding ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถนำแนวคิดการพัฒนาสินค้ามาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของไทย

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีความแข่งแกร่งด้านการออกแบบดีไซน์ และมีศิลปวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ ความร่วมมือด้านศิลปินหรือทรัพย์สินทางปัญญาสาขาอื่น ๆ อาจเป็นความร่วมมืออีกรูปแบบระหว่างไทยกับต่างประเทศที่น่าสนใจ ที่นอกเหนือจากความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนแบบทั่วไปที่จะสามารถต่อยอด และดำเนินธุรกิจร่วมกับคู่ค้าในต่างประเทศได้ต่อไปอย่างยั่งยืน

ขอบคุณข้อมูล: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ, http://www.xfrb.com.cn/article/culture/14071385684462.html

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo