Business

‘เศรษฐา’ โชว์ผลหารือยักษ์ญี่ปุ่น 5 บริษัท เชื่อมั่นไทยเล็งขยายลงทุนในไทยเพิ่ม

นายกฯ เผยผลสำเร็จการหารือภาคเอกชนญี่ปุ่น 5 บริษัท เชื่อมั่นศักยภาพประเทศไทย ขอบคุณการสนับสนุนของรัฐบาล และมีแผนขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม 

วันนี้ (23 พ.ค. 2567) เวลา 16.22 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงภารกิจในวันนี้ โดยได้หารือกับภาคเอกชนของญี่ปุ่น 5 ราย ดังนี้

ลงทุนในไทย

1. บริษัท Mitsui & Co., Ltd. ซึ่งเคยพบกันเมื่อตอนนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN – Japan Commemorative Summit) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 โดยบริษัทมีความคืบหน้าจากที่ได้คุยกันคราวก่อน เรื่องเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดแบบยั่งยืน (sustainable aviation fuel: SAF) ซึ่งมีความคืบหน้า โดยมีการลงนาม MOU แล้ว และคาดว่าจะมีการตั้งฐานการผลิตที่ประเทศไทย โดยจะมีการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ที่จะให้รัฐบาลทำกับเอกชน ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นก่อน

นอกจากนี้ SAF ทำมาจากซากพืชที่เหลือจากไทย โดยเฉพาะอ้อย เป็นประโยชน์มากเพราะจะช่วยลด PM 2.5 ได้อย่างดี รวมถึงมีการสอบถามเรื่องการเจาะหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับ OCA ว่า สัปดาห์หน้าจะมีการตั้งคณะกรรมการฯ

มิตซุย

ขณะเดียวกัน บริษัทมีโรงงานทำบรรจุภัณฑ์ที่มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้มาสร้างโรงงานและทำการตลาดที่ไทย ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ ทั้งนี้ บริษัท Mitsui มีหลายบริษัทและมีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า Mitsui เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่น เรามีความสัมพันธ์กันมานานมาก ขอให้มั่นใจว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว และไม่มีเวลาไหนที่จะดีกว่าเวลานี้ที่จะมาลงทุนในไทย

2. บริษัท Ajinomoto Co., Inc. ซึ่งอยู่ในไทยมานานมากแล้ว มีโรงงานใหญ่ที่ผลิตผงชูรส 3 โรงงาน และจะมีการขยายโครงการในอนาคตอีก 16 โครงการภายในปีหน้า มูลค่าประมาณ 4,400 ล้านบาท ซึ่งจะขยายไปทำสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เกี่ยวข้องกับ Amino acid ซึ่งจะส่งไปขายในต่างประเทศได้

Ajinomoto

นอกจากนี้ ยังรวมถึงเรื่อง Health Care เรื่อง Green Economy และทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ ยำ ยำ ตลอดจนสนับสนุนเกษตรกรที่ทำมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำสินค้าของบริษัท โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้บริษัทสนับสนุนพืชผลอื่น ๆ ในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย

3. บริษัท Sony Group Corporation เป็นบริษัทชั้นนำด้านเกม ดนตรี ภาพยนตร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเลนส์กล้อง ซึ่งปัจจุบันทำเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ในไทย และอยากให้ไทยเป็นศูนย์กลาง high-tech product ซึ่งปัจจุบันมีหลายโรงงานอยู่แล้ว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญให้บริษัทเข้ามาตั้ง Regional Office ในไทย เพราะธุรกิจมีจำนวนมาก โดยโรงงานที่ตั้งไม่ใช่ขายแค่ในประเทศอย่างเดียว แต่มีการส่งออกไปขายทั่วโลก ทำให้เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของ FTA ซึ่งไทยจะมีการลงนามเร็ว ๆ นี้ กับอีกหลายประเทศ

Sony

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการทำ FTA กับ EU รัฐบาลพยายามเร่งให้มีการลงนามภายในสิ้นปีหน้า (2568) นอกจากนี้ เกี่ยวกับ E-sport นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้บริษัทมาจัด Tournament ที่ไทย สอดคล้องกับที่ไทยพยายามส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว Festival โดยบริษัทรับไปพิจารณา

4. บริษัท MUFG & Softbank ซึ่งมีเครือข่ายที่ดีในไทย โดยหุ้นกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา และเข้าไปลงทุนในหลายบริษัทที่จีน และอยากตั้ง Supply chain ย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เพราะไทยมี BOI ที่แข็งแกร่ง และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ

อีกปัจจัยสำคัญคือความเป็นกลางทางด้านการเมืองของไทย ทำให้ Sony อยากย้ายฐานการผลิตมา โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่าพร้อมให้การสนับสนุน นอกจากนี้ Softbank ยังเป็นเจ้าของ LINE Application และมีประเด็นน่าสนใจที่เข้าไปลงทุนในบริษัทเล็ก ๆ ทั่วโลก จึงอยากให้พิจารณาใช้ไทยเป็นฐานในการพัฒนา start-up ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุน

MUFG Softbank

5. บริษัท Nidec Corporation เป็นบริษัทที่ใช้ไทยในการเป็นฐานการผลิต ส่งออกอุตสาหกรรม high-tech โดยเฉพาะมอเตอร์ที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า EV โดรน โรงงานอยู่เยอะมากในไทย และจะมีการลงทุนในปีนี้อีกประมาน 1,700 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีบริษัทประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูง และต้องการเพิ่มระยะเวลาการฝึกงานที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย ให้มีความรู้ในเชิงลึกมากขึ้น นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีขอให้บริษัทให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาปริญญาโทไปศึกษาที่ญี่ปุ่นซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในอนาคต

ทั้งนี้ ในวันที่ 19-20 มิถุนายน 2567 ประธานผู้แทนการค้าไทย และเลขาธิการ BOI จะนำทีมมาที่เมืองโอซาก้าและกรุงโตเกียว เพื่อมาสานต่อภารกิจที่ได้พูดคุยไป

Nidec Corporation

ในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีจะมีการหารือกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยจะมีการพูดคุยเรื่องการลงทุนที่ค้างกันไว้ การช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยวของมาเลเซีย อาหารฮาลาล และปัญหาชายแดนภาคใต้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า อาจจะลงพื้นที่ไปยังภาคใต้ และจะสอบถามความสะดวกทางนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพราะการที่ผู้นำทั้งสองประเทศลงไป จะทำให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น และปัญหาต่าง ๆ อาจคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จากนั้น จะมีงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งนายคิชิดะ ฟูโอมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่ 

Avatar photo